Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ตะไคร้ (ตะไค้แกง)

ชื่อท้องถิ่น: จักไคร (ภาคเหนือ)/ คาหอม (ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน)/ ไคร (ภาคใต้)/ สิงไคร  หัวสิงไคร (อีสาน)/ ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)/ เชิดเกรย เหลอะเกรย (เขมร)

ชื่อสามัญ: Lemongrass

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cymbopogon citratus (DC.) Stapf

ชื่อวงศ์: POACEAE-GRAMINEAE

สกุล: Cymbopogon 

สปีชีส์: citratus

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ตะไคร้ thai-herbs.thdata.co | ตะไคร้ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นตะไคร้ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง รูปทรงกระบอก มีความสูงได้ถึง 1 เมตร (รวมทั้งใบ) ส่วนของลำต้นที่มองเห็นจะเป็นส่วนของกาบใบที่ออกเรียงช้อนกันแน่น โคนต้นมีลักษณะกาบใบหุ้มหนา ผิวเรียบ และมีขนอ่อนปกคลุม ส่วนโคนมีรูปร่างอ้วน มีสีม่วงอ่อนเล็กน้อย และค่อยๆเรียวเล็กลงกลายเป็นส่วนของใบ แกนกลางเป็นปล้องแข็ง ส่วนนี้สูงประมาณ 20-30 ซม. 


ตะไคร้ thai-herbs.thdata.co | ตะไคร้ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ก้านใบ (ส่วนลำต้นที่กล่าวข้างต้น) หูใบ (ส่วนต่อระหว่างกาบใบ และใบ) และใบ ใบเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียว มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบโค้งลู่ลงดิน โคนใบเชื่อมต่อกับหูใบ ใบมีรูปขอบขนาน ผิวใบสากมือ และมีขนปกคลุม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แต่คม กลางใบมีเส้นกลางใบแข็ง สีขาวอมเทา มองเห็นต่างกับแผ่นใบชัดเจน ใบกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจาย มีก้านช่อดอกยาว และมีก้านช่อดอกย่อยเรียงเป็นคู่ๆ ในแต่ละคู่จะมีใบประดับรองรับ มีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดใหญ่คล้ายดอกอ้อ

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: แถบเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ไทย , พม่า , ลาว , มาเลเซีย , อินโดนีเซีย , อินเดียว , ศรีลังกา เป็นต้น และยังสามารถพบได้ในประเทศเขตร้อนบางประเทศในแถบอเมริกาใต้

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการปักชำ 

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสปร่า สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ ดับกลิ่นคาว ขับผายลม ทำให้เรอ แก้ปัสสาวะพิการ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ต้นตะไคร้ พบสาร citral 80% นอกจากนี้ยังพบ trans – isocitral ,geranial, nerol, geraniol, myrcene, limonene, eugenol, linalool, menthol, nerolidol, camphor, farnesol, citronellol, citronellal, farnesol , caryophyllene oxide 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดไข้ เมื่อให้สารสกัดน้ำร้อนจากใบของตะไคร้ ทางสายยางแก่หนูขาวในขนาด 20 มล./กก. ไม่มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิของหนูขาว แต่เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวในขนาด 40.0 มล./กก. พบว่าลดอุณหภูมิของหนูขาวได้อย่างมีนัยสำคัญ (p< 0.05) (2) เมื่อให้สารสกัดน้ำร้อนจากใบของตะไคร้ ทางสายยางแก่หนูขาวในขนาด 20-40 มล./กก. ทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าไม่มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิกายของหนูขาว

-ฤทธิ์ขับน้ำดี ตะไคร้มีสารช่วยในการขับน้ำดีมาช่วยย่อย คือ borneol, fenchone และ cineole

-ฤทธิ์ขับลม ยาชงตะไคร้เมื่อให้รับประทานไม่มีผลขับลม แต่ถ้าให้โดยฉีดทางช่องท้องจะให้ผลดีเมื่อกรอกน้ำมันหอมระเหยจากใบเข้ากระเพาะอาหาร หรือฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ ขนาด 10, 50, 100 มก./กก. พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดได้ และเมื่อกรอก น้ำมันหอมระเหยจากใบ เข้าภายในกระเพาะอาหารหนูขาว ขนาด 20% พบว่ามีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดที่เหนี่ยวนำด้วย carageenan หรือ PGE2 แต่ไม่ได้ผลในหนูที่ทำให้ปวดด้วย dibutyryl cyclic AMP ซึ่งสารออกฤทธิ์ คือ myrcene (1) นอกจากนี้เมื่อกรอกสารสกัดเอทานอล 95% จากใบสด เข้ากระเพาะอาหารหนูถีบจักร ขนาด 1 ก./กก. พบว่าไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้

-ฤทธิ์แก้ปวด ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้สดที่กลั่นด้วยไอน้ำ ในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ Swiss ใช้การทดสอบฤทธิ์ลดปวด 3 วิธี ได้แก่ Hot plate test, Acetic acid-induced writhings และ Formalin test การทดสอบด้วยวิธี hot-plateโดยจับเวลาที่หนูถีบจักร สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อน  โดยการป้อน หรือฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง และจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ที่เวลา 30, 60 และ 90 นาที หลังได้รับสารทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับการฉีดน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ที่ขนาด 50 และ 100 มก./กก. สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ ที่เวลา 60 นาที เท่ากับ 50 และ 80% ตามลำดับ หนูที่ได้รับสารทดสอบโดยการกินสามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ 40 และ 52% ตามลำดับ (ที่เวลา และความเข้มข้นเดียวกับวิธีฉีด) สารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูที่เวลา 60 และ 90 นาที สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้เท่ากับ 62 และ 48% ตามลำดับ พบว่าฤทธิ์ระงับปวดถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid

การทดสอบด้วยวิธี acetic acid-induced writhing โดยป้อนสารทดสอบทางปาก หรือฉีดเข้าทางช่องท้องแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 1 ชั่วโมง (วิธีกิน) จึงเหนี่ยวนำให้หนูเจ็บปวดโดยการฉีดกรดอะซิติก 0.6 % เข้าทางช่องท้อง ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้สามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อท้องของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อให้โดยวิธีการฉีดในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  สามารถลดการเจ็บปวดได้ 87.7% (สารมาตรฐาน indomethacin โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 2 mg/kg ยับยั้งได้ 96%)

การทดสอบด้วยวิธี formalin test ทำโดยการฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง (50, 100, 200มก./กก. หรือป้อนทางปาก (50, 100 มก./กก.) ในหนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 60 นาที (วิธีกิน) จึงฉีด formalin 1% เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (ซึ่งแสดงถึงความเจ็บปวด) ใน 2 ช่วง คือ first phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่งคือ second phase (20 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงการอักเสบ (inflammation phase) พบว่าเมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยในขนาด 50 มก./กก. และสารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. สามารถลดการเจ็บปวดในระยะ second phase ได้ 70 และ 76% ตามลำดับ โดยฤทธิ์ระงับปวด ถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid โดยสรุปน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้แกงมีฤทธิ์แก้ปวดโดยมีกลไกผ่านระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย (Viana, et al., 2000)

-ฤทธิ์ต้านจุลชีพ ฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านด้วยเอทานอล, น้ำเย็น และน้ำร้อน ทดสอบด้วยวิธี disc-diffusion ต่อเชื้อ 3 ชนิด ได้แก่เชื้อแบคทีเรีย Staphyococcus aureus, Escherıchıa coli และเชื้อรา Candida albicans ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ทั้ง 3 ชนิด โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus และ E. coli ได้ดีที่สุด คือสารสกัดเอทานอล โดยมีค่าเฉลี่ยบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (inhibition zone) เท่ากับ 16±1.75 และ 12± 0.00 มิลลิเมตร ตามลำดับ สารสกัดใบตะไคร้บ้านด้วยน้ำเย็นยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้ดีที่สุด โดยมีค่า inhibition zone  เท่ากับ 10± 0.58 มิลลิเมตร (ยามาตรฐานสำหรับเชื้อ S. aureus, E. coli และ C. albicans ได้แก่ gentamycin, olfloxacin และ clotrimazole ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ย inhibition zone เท่ากับ >30, >30 และ 35 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Okigbo and  Mmeka, 2008)

ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ที่ได้จากน้ำมันหอมระเหย ทดสอบด้วยวิธี disk diffusion โดยใช้เชื้อรา จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ Candida albicans ATCC 10231, Candida albicans ATCC 18804, Candida albicans CI-I (clinical isolate), Candida albicans CI-II, Candida krusei ATCC 6258, Candida glabrata ATCC 2001, Candida tropicalis ATCC 750 และ Candida parapsilosis ATCC 22019 ซึ่งเชื้อราเหล่านี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง ช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด รวมทั้งการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย ในขนาด 4 μL ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อราทุกชนิด โดยมีค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (>20 มิลลิเมตร) ซึ่งมากกว่าสารมาตรฐาน nystatin (0.3 mg/mL, 20.0 μL) ในเชื้อทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ ยกเว้นเชื้อ  C. krusei  ต้องใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ในปริมาณ 8 μL การหาปริมาณสาร citral ในน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ด้วยวิธี gas chromatography พบว่ามีปริมาณเท่ากับ 76% และปริมาณ citral ที่คาดว่าจะมีอยู่ในน้ำมันหอมระเหย 4 μL และ 8 μL เท่ากับ 2.70 และ 5.41 mg ตามลำดับ (Silva, et al., 2008)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-เมื่อให้น้ำมันหอมระเหยเข้าทางกระเพาะอาหารกระต่าย พบว่ามีค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก. ส่วนพิษในหนูขาวไม่ชัดเจน และเมื่อป้อนสารสกัดใบด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ขนาด 460 มก./กก. เข้ากระเพาะอาหารหนูถีบจักร พบว่ามีพิษ แต่สารสกัดใบด้วยน้ำ ขนาด 20-40 ซีซี/กก. เมื่อให้ทางปากไม่พบพิษ และไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน และไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวของหนูขาว มีผู้ศึกษาพิษของน้ำมันหอมระเหย พบว่าอัตราส่วน LD50/TD เท่ากับ 6.9 การป้อนยาชงตะไคร้ให้หนูขาวในขนาด 20 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลา 2 เดือน ไม่พบความเป็นพิษ

-การศึกษาพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ขนาด 1,500 ppm เป็นเวลา 60 วัน พบว่าหนูขาวกลุ่มที่ได้ตะไคร้ โตเร็วกว่ากลุ่มควบคุม แต่ค่าเคมีเลือดไม่เปลี่ยนแปลง

-สารสกัดตะไคร้ด้วยเอทานอล (80%) ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Staphylococcus typhimurium TA98 และ TA100 มีผู้ทดลองฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน mammalian cells ของ b-myrcene ซึ่งเป็นสารสำคัญในตะไคร้ พบว่าไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีผู้ทดลองใช้ตะไคร้แห้ง ขนาด 400 มคก./จานเพาะเชื้อ มาทดสอบกับ S. typhimurium TA98 และเมื่อนำน้ำต้มใบตะไคร้กับเนื้อ (วัว ไก่ หมู) ขนาด 4, 8 และ 16 มก./จานเพาะเชื้อ ทดสอบกับ S. typhimurium TA98 และ TA100 ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และสารสกัดด้วยน้ำขนาด 0.5 ซีซี/จานเพาะเชื้อ ไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ใน Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) ตะไคร้สดในขนาด 1.23 มก./ซีซี ไม่มีพิษต่อยีน (16) และ b-myrcene ซึ่งเป็นสารสำคัญก็ไม่พบพิษเช่นกัน

-สาร citral ซึ่งเป็นสารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยจากใบ เป็นพิษต่อเซลล์ P388 mouse leukemia และน้ำมันหอมระเหย เป็นพิษต่อเซลล์ P388 leukemia โดยมีค่า IC50 5.7 มคก./มล. แต่เมื่อผสมน้ำมันหอมระเหยตะไคร้กับโหระพาช้าง (1:1 vol./vol.) มีค่า IC50 10.2 มคก./มล. ส่วนสกัด (partial purified fraction) ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ PS (murine lymphocytic leukemia P388),FA ( murine ascites mammary carcinoma FM3A ) แต่สารสกัดหยาบแสดงฤทธิ์อย่างอ่อนต่อเซลล์ FA สารสกัดใบด้วยเมทานอล ในขนาด 50 มคก./ มล. ออกฤทธิ์ไม่แน่นอนต่อเซลล์มะเร็ง CA-9KB แต่ในขนาด 20 มคก./ มล. ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ RAJI

-มีผู้ทดสอบพิษของชาที่เตรียมจากตะไคร้พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานชาตะไคร้ 1 ครั้ง หรือรับประทานวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเลือด เม็ดเลือดและปัสสาวะ มีบางรายเท่านั้นที่มีปริมาณบิลลิรูบิน และ amylase สูงขึ้น จึงนับว่าปลอดภัย ส่วนน้ำมันตะไคร้เมื่อผสมในน้ำหอม โดยผสมน้ำมันตะไคร้ร้อยละ 0.8 พบว่ามีอาการแพ้ อย่างไรก็ตามการแพ้นี้อาจเกิดจากสารอื่นได้ และมีรายงานความเป็นพิษต่อถุงลมปอดเมื่อสูดดมน้ำมันตะไคร้

*ระวังการใช้ตะไคร้และผลิตภัณฑ์จากตะไคร้ในคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) เนื่องจาก citral จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น

การใช้ประโยชน์:

ตะไคร้ thai-herbs.thdata.co | ตะไคร้ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

-มักนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารหลายชนิด เช่น ต้มยำ และอาหารไทยอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ

-ต้นตะไคร้ นำมาใช้ทำเป็นน้ำตะไคร้หอม น้ำตะไคร้ใบเตย ช่วยดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี

-น้ำมันหอมระเหย นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของสารระงับกลิ่นต่าง ๆ

-ต้นตะไคร้ ช่วยดับกลิ่นคาวหรือกลิ่นคาวของปลาได้เป็นอย่างดี

-กลิ่นหอมของตะไคร้สามารถช่วยไล่ยุงและกำจัดยุงได้เป็นอย่างดี

-การปลูกตะไคร้ร่วมกับผักชนิดอื่น ๆ จะช่วยป้องกันแมลงได้เป็นอย่างดี

-สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น เครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง