Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะกรูด

ชื่อท้องถิ่น: มะขู (แม่ฮ่องสอน)/ มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ)/ ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ: Kaffir lime, Leech lime, Mauritius papeda

ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus hystrix DC.

ชื่อวงศ์: RUTACEAE

สกุล: Citrus 

สปีชีส์: hystrix 

ชื่อพ้อง: 

-Citrus auraria Michel

-Citrus balincolong (Yu.Tanaka) Yu.Tanaka

-Citrus boholensis (Wester) Yu.Tanaka

-Citrus celebica Koord.

-Citrus combara Raf.

-Citrus hyalopulpa Yu.Tanaka

-Citrus kerrii (Swingle) Yu.Tanaka

-Citrus kerrii (Swingle) Tanaka

-Citrus latipes Hook.f. & Thomson ex Hook.f.

-Citrus macroptera Montrouz.

-Citrus micrantha Wester

-Citrus papeda Miq.

-Citrus papuana F.M.Bailey

-Citrus southwickii Wester

-Citrus torosa Blanco 

-Citrus tuberoides J.W.Benn.

-Citrus ventricosa Michel

-Citrus vitiensis Yu.Tanaka

-Citrus westeri Yu.Tanaka

-Fortunella sagittifolia K.M.Feng & P.Y.Mao

-Papeda rumphii  

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

มะกรูด thai-herbs.thdata.co | มะกรูด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นมะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-8 เมตร เนื้อไม้เป็นเนื้อแข็ง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมยาว


มะกรูด thai-herbs.thdata.co | มะกรูด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบ ออกเป็นใบเดี่ยว มีก้านใบแผ่ออกเป็นครีบคล้ายแผ่นใบ ใบมีลักษณะหนา เรียบ มีผิวมัน สีเขียว และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบมีคอดกิ่วที่กลางใบทำให้ใบแบ่งออกเป็น 2 ตอน หรือ คล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่

ดอก ออกดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อมีสีขาว แทงออกบริเวณส่วนยอดหรือตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 1-5 ดอก หลีบดอกมีสีขาวครีม 5 กลีบ มีขนปกคลุม ภายในดอกมีเกสรมีสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย และเมื่อแก่จะร่วงง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 -2 เซนติเมตร


มะกรูด thai-herbs.thdata.co | มะกรูด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผลคล้ายผลส้มซ่า ผลมีขนาดใหญ่กว่าลูกมะนาวเล็กน้อย ลักษณะของผลมีรูปร่างแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวเปลือกมีสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระเป็นลูกคลื่นหรือเป็นปุ่มนูน ภายในเปลือกมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเป็นจํานวนมาก มีจุกที่หัว และท้ายของผล เมื่อสุก ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ด้านในผลประกอบด้วยเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแทรกบริเวณกลางผล 5-10 เมล็ด เนื้อผลมีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ผล รสเปรี้ยว สรรพคุณ ใช้ทำยาดอง ฟอกโลหิตระดู ถอนพิษผิดสำแดง

*ผิวลูก รสปร่าหอมติดร้อน สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ ขับระดู

*น้ำในลูก รสเปรี้ยว สรรพคุณ แก้เลือดออกตามไรฟัน

*ราก รสปร่า สรรพคุณ กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะเป็นโทษ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผิวมะกรูด มีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 4 มีองค์ประกอบหลักเป็น “เบตาไพนีน” (beta-pinene) ประมาณร้อยละ 30, “ลิโมนีน” (limonene)  ประมาณร้อยละ 29, beta-phellandrene, citronellal นอกจากนี้ยังพบ linalool, borneol, camphor, sabinene, germacrene D, aviprin ใช้น้ำมันแต่งกลิ่นเครื่องหอม ยาสระผม สบู่  

สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ umbelliferone, bergamottin,  oxypeucedanin, psoralen, N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO)       น้ำจากผลพบกรด citric

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร coumarins 2 ชนิดที่ได้จากผลมะกรูด ได้แก่ bergamottin และ N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ (NO) ในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) และ interferon-g (IFN- g)  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 14.0 µM และ 7.9 µM ตามลำดับ (Murakami, et al, 1999)

สารคูมาริน 3 ชนิด ได้แก่ bergamottin, oxypeucedanin และ psoralen สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนู ที่ถูกกระตุ้นด้วยลิโปพอลิแซ็กคาร์ไรด์ (LPS) และอินเตอร์เฟอรอน (interferon) (Tangyuenyongwatanaand Gritsanapan, 2014)

-ฤทธิ์ปกป้องหัวใจ และตับ ทดสอบฤทธิ์ปกป้องหัวใจ และตับ ของสารสกัด 70% เอทานอลจากผิวผลมะกรูด ในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยใช้ doxorubicinขนาด 4.67 mg/kg ในการเหนี่ยวนำให้เกิดพิษต่อหัวใจ และตับ โดยฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู ร่วมกับการป้อนสารสกัดเอทานอลจากผิวผลมะกรูดขนาด 500 หรือ 1,000mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม ต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วัน แล้วจึงเก็บเลือด และนำหัวใจ และตับแยกออกมาวิเคราะห์ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูด ขนาด 500 mg/kg ทำให้โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการฟื้นฟู แต่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจำนวนมากยังคงมีอยู่  ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูดขนาด 1,000 mg/kg โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการฟื้นฟูเช่นกัน แต่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง แต่สารสกัดทั้งสองขนาดไม่สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับได้ และจากการตรวจวัดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) พบว่าสารสกัดทั้งสองขนาดไม่สามารถทำให้ระดับเอนไซม์ตับลดลงได้  โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากผิวผลมะกรูดสามารถปกป้องเนื้อเยื่อหัวใจจากเกิดพิษของ doxorubicin ได้ โดยลดการอักเสบ การบวมของเนื้อเยื่อ แต่ไม่สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับได้ เนื่องจากระดับเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นจากการได้รับยา doxorubicin คือเอนไซม์ AST ไม่ลดลง ส่วนระดับเอนไซม์ ALT ไม่เปลี่ยนแปลง (Putri, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคที่แยกได้จากสุนัข การศึกษาฤทธิ์ของน้ำมะกรูด และน้ำมะนาวต่อเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ โคแอคกุเลสที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคผิวหนังอักเสบในสุนัข จำนวน 15 ไอโซเลต (isolates) โดยมี S. aureus ATCC 25923 สายพันธุ์มาตรฐานเป็นเชื้อควบคุม ทำการทดสอบควบคู่ไปด้วยโดยวิธีเจือจางในอาหารเหลว ใน 96 wellU-shape plate ผลการทดสอบพบว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อในกลุ่มนี้ อยู่ที่1.60 % (v/v) และ 1.34-1.74 % (v/v) ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อนี้ อยู่ที่ 1.87-3.33 % (v/v) และ 3.10 % (v/v) ตามลำดับ จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดมีฤทธิ์ในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลสจากการทดสอบในหลอดทดลอง  (โคแอคกุเลส เป็นน้ำย่อยที่เชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคสร้างขึ้น ทำให้พลาสมาของคนหรือสัตว์ เกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ใช้กำหนดว่าเชื้อสเตรนใดที่เป็นตัวก่อโรค) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพิจารณาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทางการค้า ที่ใช้สำหรับสัตว์ต่อไป เพื่อลดการติดเชื้อทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ควรมีการทดลองในการใช้กับสัตว์โดยตรงก่อน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการยับยั้งเชื้อ และผลต่อตัวสัตว์ (พิทยา และคณะ, 2551)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูด ให้กับหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ที่ตั้งครรภ์ ขนาด 1 และ 2.5 ก./กก. วันละ 2 ครั้ง พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน  42.5 ±14.8 และ 86.1±8.1% ตามลำดับ สารสกัดผิวมะกรูดด้วยคลอโรฟอร์มเมื่อป้อนให้กับหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 1.0 ก./กก. วันละ 2 ครั้ง เช่นกัน พบว่าออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดเอทานอล โดยยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนได้ 62.2±14.5% ส่วนผลในการทำให้แท้งพบว่า สารสกัดเอทานอล และสารสกัดคลอโรฟอร์ม ในขนาด 1.0 ก./กก. มีผลทำให้แท้ง 86.3±9.6 และ 91.9±5.5% ตามลำดับ (Piyachaturawat, et al, 1985)

-พิษเฉียบพลัน สารสกัดผิวมะกรูดด้วยเอทานอล  เมื่อป้อนให้หนูกินเพื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 100  ก./กก. (Piyachaturawat, et al, 1985)

-ฤทธิ์เสริมการเกิดมะเร็งตับ จากการทบทวนงานวิจัยพบว่ามะกรูดมีฤทธิ์ต้านฤทธิ์ของสารเสริมการเกิดมะเร็ง (tumor promoter) ในการทดลองแบบ tumor promoter-induced Epstein-Barr virus activation ได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาฤทธิ์ของมะกรูดต่อการเกิดมะเร็งตับของหนูขาว สายพันธุ์ F344 ที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 2-amino-3,8-dimethylimidazo [4,5-ƒ] quinoxaline (MeIQx) ในการทดลองแบบ medium-term bioassay ผลการวิจัยพบว่ามะกรูดมีฤทธิ์เสริมฤทธิ์ของ MelQx ในการทําให้เกิดมะเร็งตับ (preneoplastic liver foci) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (ดนัย และคณะ, 2543)

การใช้ประโยชน์:

-อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ใช้เปลือกมะกรูดฝานบาง ๆ ชงกับน้ำเดือดใส่การบูรเล็กน้อย แล้วนำมารับประทานแก้อาการ

-อาการไอ ขับเสมหะ ใช้ผลมะกรูดนำมาผ่าซีก เติมเกลือ นำไปลนไฟให้เปลือกนิ่ม แล้วบีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อย ๆ จะช่วยบรรเทาแก้อาการไอ

-อาการเลือดออกตามไรฟัน ใช้น้ำมะกรูดนำมาถูบาง ๆ บริเวณเหงือก

-อาการรังแคและชันนะตุ นำมะกรูดมาเผาไฟ นำมาผ่าเป็นซีกแล้วใช้สระผม จะช่วยรักษาอาการชันนะตุได้

-อาการปวดท้องในเด็ก ใช้ผลมะกรูดนำมาคว้านไส้กลางออก นำมหาหิงคุ์ใส่และปิดจุก แล้วนำไปเผาไฟจนดำเกรียมและบดจนเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งไว้รับประทานแก้อาการปวดได้ หรือจะนำมาป้ายลิ้นเด็กอ่อน ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง

-ขับระดู ขับลม ใช้ผลมะกรูดนำมาดองทำเป็นยาดองเปรี้ยวไว้รับประทานแก้อาการ

-ช่วยฟอกโลหิต ใช้ผลมะกรูดสดนำมาผ่าเป็น 2 ซีกแล้วนำไปดองกับเกลือหรือน้ำผึ้งประมาณ 1 เดือน แล้วรินเอาแต่น้ำดื่ม จะช่วยฟอกโลหิตได้

-ช่วยผมดกเงางาม ป้องกันผมหงอก แก้ปัญหาผมร่วง ความเปรี้ยวของน้ำมะกรูดยังมีฤทธิ์เป็นกรดช่วยขจัดคราบแชมพู หรือชำระล้างสิ่งอุดตันต่าง ๆ ตามรูขุมขนบนหนังศีรษะ แล้วยังทำให้ผมหวีง่ายอีกด้วย ใช้มะกรูดนำมาผ่าเป็น 2 ซีก ใช้สระผม

-ช่วยดูดกลิ่นในรองเท้าหรือตู้รองเท้า ใช้ผิวมะกรูด ตะไคร้หอม ถ่านป่น และสารส้ม อย่างละ 1 ส่วน นำมาใส่ถุงที่ทำจากผ้าขาวบางหรือผ้าที่มีช่องระบายอากาศ แล้วนำไปใส่ไว้ในตู้รองเท้าหรือในรองเท้า จะช่วยดูดกลิ่นได้

-น้ำมะกรูด มีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุนคล้ายใบ แต่ใช้น้อยกว่าน้ำมะนาว ใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนมะนาวได้ เช่นในปลาร้าหลน น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะกรูด 

-ผิวมะกรูด นิยมนำผิวมาประกอบอาหารบางชนิดด้วย ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก ใบมะกรูดนั้นใส่ในต้มยำทุกชนิด น้ำยาขนมจีน ยำหอย ใส่ในแกงเช่น แกงเผ็ด แกงเทโพ แต่ถ้าใส่มากเกินไปจะมีรสขมมีกลิ่นฉุน ทั้งในใบ และผล บางครั้งสามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ผลมะกรูดผ่าซีกที่บีบน้ำออกแล้ว ใช้เป็นยาดับกลิ่นในห้องสุขาได้

-ใบ มักถูกนำไปใช้ในหลายประเทศสำหรับใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหาร (preserve foods) และยังทำให้เกิดความอยากอาหาร

-น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียด คลายความกังวล ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ด้วยการสูดดมผิวมะกรูดหรือน้ำมันมะกรูดจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การใช้ไม่ควรจะใช้ความเข้มข้นมากกว่า 1% เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

-น้ำมันหอมระเหย ในรูปแบบแคปซูลเพื่อใช้ไล่แมลงและหนอนสำหรับเกษตรกร ด้วยการใช้โปรยไว้ใต้ต้นไม้ที่ต้องการไล่แมลง แคปซูลก็จะค่อย ๆ ปล่อยน้ำมันออกมา แถมยังไม่มีอันตรายอีกด้วย

-ประเทศไทยมีการนำผิวมะกรูดแห้งให้แก่หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร และใช้เป็นยาเร่งประจำเดือน ส่วนประเทศอินเดียนิยมใช้ผิวมะกรูดสำหรับใช้เป็นยาฆ่าแมลงด้วย ส่วนในตำรับยาของชาวมาเลเซียมีการใช้ผลสดทั้งผลสำหรับการเตรียมยาสำหรับใช้ภายใน ซึ่งจะเป็นใบสั่งยาเกี่ยวกับโรคความเจ็บปวดในช่องท้อง และใช้เป็นยาขับลมแก้ท้องเฟ้อ

-ชาวพม่า และชาวมาเลเซีย ใช้น้ำมะกรูดเป็นแชมพูธรรมชาติสำหรับสระผม และชำระล้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำมะกรูด และผลมะกรูดไปใช้สำหรับแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม รักษาชันนะตุ รังแค และทำให้ผมสะอาด รวมถึงมีการนำไปใช้เป็นครีมทาผิวด้วย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์นิยมใช้ผลมะกรูดผสมกับเปลือกสะบ้ามอญสระผม



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง