Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หูเสือ

ชื่อท้องถิ่น: หอมด่วนหูเสือ หอมด่วนหลวง (ภาคเหนือ)/ เนียมหูเสือ (ภาคอีสาน)/ ผักฮ่านใหญ่ (ไทใหญ่)/ ผักหูเสือ (ไทย)/ เนียมอีไหลหลึง โฮว้หีเช่า (จีน)

ชื่อสามัญ: Indian borage, Country borage, Oreille, Oregano

ชื่อวิทยาศาสตร์: Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อวงศ์: LAMIACEAE-LABIATAE

สกุล: Plectranthus 

สปีชีส์: amboinicus

ชื่อพ้อง: 

-Coleus aromaticus Benth.

-Coleus carnosus Hassk.

-Coleus crassifolius Benth.

-Coleus subfrutectosus Summerh. 

-Coleus suborbicularis Zoll. & Moritzi 

-Coleus suganda Blanco

-Coleus vaalae (Forssk.) Deflers

-Majana amboinica (Lour.) Kuntze

-Majana  carnosa (Hassk.) Kuntze

-Majana  suganda (Blanco) Kuntze

-Ocimum vaalae Forssk.

-Plectranthus amboinicus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นหูเสือ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี มีความสูงของลำต้นประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ หักได้ง่าย กิ่งและลำต้นค่อนข้างกลม ต้นอ่อนจะมีขนขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อแก่แล้วจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ส่วนขอบใบจักเป็นคลื่นมน ๆ รอบ ๆ ใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร ใบเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือยอด ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยติดกันหนาแน่นเป็นวงรอบแกนผล เป็นระยะ ๆ และมีขน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงขาว ลักษณะเป็นรูปเรือ ยาวได้ประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง และมีขน ส่วนกลีบล่างมีลักษณะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ส่วนแฉกข้างเป็นรูปหอกแคบ โดยแฉกล่างจะยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น

ผล ลักษณะผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสรน้ำตาลอ่อน เปลือกผลแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ คั้นเอาน้ำหยอดหู แก้ฝีในหู แก้ปวดหู แก้หูเป็นน้ำหนวก ช่องหูอักเสบ  

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบสารจำพวก น้ำมันหอมระเหย carvacrol, cyperene, thymol, γ-terpinene เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร ศึกษากระตุ้นความอยากอาหารของหูเสือ (Coleus aromaticus ) ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 32 คน (เพศชาย 24 คน และ เพศหญิง 8 คน) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 คน โดยในแต่ละกลุ่มให้มีอาสาสมัครเพศชาย 6 คน และอาสาสมัครเพศหญิง 2 คน) กลุ่มที่ 1 ให้เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 - 4 ให้ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12, 18 และ 24% ตามลำดับ โดยให้ดื่มขนาด 170 มล. หลังจากนั้น 30 นาทีทำการเก็บตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และประเมินความอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยใช้แบบสอบถาม visual analog scale ผลจากการทดลองพบว่า อาสาสมัครที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% มีค่าระดับฮอร์โมน leptin ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความอิ่มหรือทำให้ไม่อยากอาหารลดลง โดยกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือที่ความเข้มข้น 12% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือเข้มข้น 24% ระดับฮอร์โมน leptin จะมีค่าเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับผลการประเมินความรู้สึกอยากอาหารของอาสาสมัคร โดยพบว่า อาสาสมัครในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 12 และ 18% จะมีความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ในกลุ่มที่ดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือความเข้มข้น 24% จะมีความอยากอาหารลดลง ผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำคั้นสดใบหูเสือมีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหารได้ แต่การดื่มที่ความเข้มข้นสูงเกินไปก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม และขนาดความเข้มข้นที่พอเหมาะสำหรับดื่มเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารคือ 12%  

และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศของต้นหูเสืออีกหลายเรื่อง เช่น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ทั้งประเภท gram-positive และ gram-nagative และน้ำยาที่สกัดจากเนียมหูเสือสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ยั้บยั้งเชื้อราและยีสต์ ยับยั้งเอนไซม์ protease ที่เกิดจากเชื้อ HIV เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าน้ำยาสกัดจากจากต้นหูเสือ ทั้งต้นโดยใช้เอทานอล 50% เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในอัตราสูงกว่า 1 มก. ทำให้หนูตาย 50%(LD50) แสดงว่ามีความเป็นพิษมาก

การใช้ประโยชน์:

-แผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มพุพอง ใช้ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มพุพอง

-โรคหืดหอบ ใช้ใบหูเสือสดมารับประทานร่วมกับน้ำพริก แจ่ว จะช่วยแก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง อีกทั้งยังช่วยแก้ไอ แก้หวัดได้อีกด้วย

-ไข้ตัวร้อน ใช้ต้นและใบใช้ตำแล้วนำมาโปะหน้าผากหรือกระหม่อมเด็กเล็กจะช่วยลดไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัดในเด็กได้

-อาการหวัด คัดจมูก ใช้ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูกได้

-ใบ และต้น มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน นำมาคั้นเอาน้ำหยอดแก้ฝีในหู แก้ปวดหู พิษฝีในหู หูน้ำหนวก ปิดห้ามเลือด ขยี้ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด  ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้หวัดในเด็ก และแก้โรคหืด 

-ใบ บำรุงร่างกาย แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ แก้ลมชักบางประเภท ต้มน้ำกินแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา 

-ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม หรือจะนำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารก็ได้

-ยางจากใบ ผสมกับน้ำตาลกินขับลม แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ แก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด แก้หิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ขยี้ทาห้ามเลือด คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง หรือนำไปทำยานัตถุ์เพราะมีกลิ่นหอม ใส่ยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง และอมดับกลิ่นคาวอาหาร 

-ยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบทุกชนิด ก้อย แจ่วป่น ซุปหน่อไม้ ซุบมะเขือ ใช้ใส่ในแกงต่าง ๆ ใช้รับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่น ๆ ใช้กินกับหมาก รวมทั้งยังนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น เนื่องจากผักหูเสือมีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก

-ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า สระผมได้

-ต้นหูเสือจะคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครที่ชอบกลิ่นของออริกาโน ก็สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดให้ละเอียด เพียงเท่านี้ก็สามารถนำมาใช้แทนออริกาโนได้เลย

-ชาวจีนจะปลูกต้นหูเสือไว้เป็นยาแก้ไอ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง