Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: คว่ำตายหงายเป็น (ฆ้องสามย่านตัวผู้)

ชื่อท้องถิ่น: กะลำเพาะ เพลาะแพละ นิรพัตร ต้านตายใบเป็น ฆ้องสามย่านตัวเมีย (ไทย)/ กระลำเพาะ ต้นตายใบเป็น นิรพัตร เบญจฉัตร (ภาคกลาง)/ มะตบ ล็อบแล็บ ลบลับ ลุบลับ ลุมลัง (ภาคเหนือ)/ สะแกหล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)/ บล้งตัวเก่า (ม้ง)/ กาลำ (ตราด)/ แข็งโพะ แข็งเพาะ โพะเพะ โพ้ะเพะ (นครราชสีมา)/ ต้นตายปลายเป็น (จันทบุรี)/ ทองสามย่าน (กาญจนบุรี)/ เพรอะแพระ (ประจวบคีรีขันธ์)/ ส้มเช้า (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, ตรัง)/ ยาเท้า ยาเถ้า มะตบ ล็อบแลบ ลุบลับ ฮ้อมแฮ้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)/ กะเร คว่ำตายหงายเป็น (ชลบุรี, ภาคใต้)/ ปะเตียลเพลิง (เขมร-จันทบุรี)/ ตะละ ตาละ (มาเลย์-ยะลา)/ โกดเกาหลี (คนเมือง)/ลั่วตี้เซิงเกิน (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken

ชื่อวงศ์: CRASSULACEAE

สกุล:  Bryophyllum 

สปีชีส์: pinnatum

ชื่อพ้อง: 

-Bryophyllum calycinum Salisb.

-Bryophyllum germinans Blanco

-Bryophyllum pinnatum (Lam.) Asch. & Schweinf.

-Bryophyllum pinnatum (Lam.) Kurz

-Bryophyllum pinnatum var. calcicolum H. Perrier

-Calanchoe pinnata Pers.

-Cotyledon calycina Roth

-Cotyledon calyculata Sol. ex Sims

-Cotyledon calyculata Solander

-Cotyledon pinnata Lam.

-Cotyledon rhizophylla Roxb.

-Crassula pinnata (Lam.) L.f. S

-Crassuvia floripendia Comm. ex Lam.

-Crassuvia floripenula Comm. S

-Kalanchoe brevicalyx (Raym.-Hamet & H. Perrier) Boiteau

-Kalanchoe calcicola (H. Perrier) Boiteau

-Kalanchoe calycinum Salisb.

-Kalanchoe floripendula Steud.

-Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.

-Kalanchoe pinnata var. brevicalyx Raym.-Hamet & H. Perrier

-Kalanchoe pinnata var. calcicola H. Perrier

-Kalanchoe pinnata var. floripendula Pers.

-Kalanchoe pinnata var. genuina Raym.-Hamet

-Sedum madagascariense Clus.

-Vereia pinnata (Lam.) Spreng.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

คว่ำตายหงายเป็น thai-herbs.thdata.co | คว่ำตายหงายเป็น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นคว่ำตายหงายเป็น เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีความแข็งแรงมากและมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงประมาณ 0.4-1.5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านหรือแตกเพียงเล็กน้อย ลำต้นกลม มีเนื้อนิ่มอวบน้ำ ผิวเกลี้ยง ภายในลำต้นและกิ่งก้านกลวง โคนกิ่งเป็นสีเทา ยอดต้นเป็นสีม่วงแดง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่ของลำต้นจะมีข้อโป่งพองเป็นสีเขียวและแถบหรือจุดสีม่วงเข้มแต้มอยู่ ส่วนที่แก่แล้วจะมีใบเฉพาะครึ่งบน หรือในช่วงที่ดอกบานนั้นใบเกือบจะไม่มีเลย      

ใบ เป็นใบเดี่ยวหรือเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ บางครั้งเป็นใบประกอบแบบขนนกจะมีใบย่อยได้ถึง 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปรีกว้าง ส่วนปลายและโคนใบจะมน ส่วนขอบใบหยักโค้งเป็นซี่มนตื้น ๆ ใบหนา ฉ่ำน้ำ และเป็นสีม่วง แต่ละรอยจักจะมีตาที่สามารถงอกรากและลำต้นใหม่ได้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร มีลักษณะค่อนข้างจะโอบลำต้น ก้านใบจะย่อยและสั้น


คว่ำตายหงายเป็น thai-herbs.thdata.co | คว่ำตายหงายเป็น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและห้อยลง มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนด้านบนเป็นสีแดง ส่วนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกัน ที่ปลายจักเป็นแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ แบ่งออกเป็น 4 แฉก ตรงปลายแหลม เช่นเดียวกับกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน มีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนท่อเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร รังไข่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีสีเขียว ผิวเกลี้ยง และมีความยาวได้ประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร

      ผล มีลักษณะออกเป็นพวงและมีอยู่ 4 หน่วย เป็นผลแห้ง แตกตะเข็บเดียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก

เมล็ด มีขนาดเล็กจำนวนมาก มีลักษณะเป็นรูปกระสวยแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นได้ในดินที่เป็นหิน ในที่โล่งแจ้ง หรือในที่ค่อนข้างร่ม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร เถิ่นกำเนิด: ทวีปแอฟริกา

การกระจายพันธุ์: พบทั่วไปในเขตร้อนของโลก ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และใบ 

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเย็นเฝื่อน สรรพคุณ ตำพอกแก้ปวด แก้อักเสบ ฟกบวม และถอนพิษ น้ำที่คั้นจากใบผสมการบูรใช้ทาถูนวดแก้เคล็ด แก้ขัดแพลง

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบนำมารับประทานสดร่วมกับลาบ

-นิยมนำมาปลูกกันไว้ตามบ้าน เด็ก ๆ มักนำมาเล่นโดยเอาใบมาวางทับในหนังสือ เมื่อทิ้งไว้ไม่นานตรงขอบของใบก็จะมีรากงอกออกมา

-เด็ก ๆ มักแข่งกันด้วยการเอามือบีบดอกตูมที่ห้อยระย้าเหมือนโคมไฟเพื่อให้แตกออกมามีเสียงดัง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง