Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: อ้อยแดง

ชื่อท้องถิ่น: อ้อย อ้อยขม อ้อยดำ อ้อยแดง อ้อยตาแดง (ภาคกลาง)/ กะที เก่อที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ อำโป (เขมร)/ โก้นจั่ว (ม้ง)/ มี (ลั้วะ)/ กำเซี่ย (เมี่ยน)/ กำเจี่ย ชุ่งเจี่ย (จีน)

ชื่อสามัญ: Sugar cane, Sugarcane, Black sugar cane

ชื่อวิทยาศาสตร์: Saccharum officinarum Linn.

ชื่อวงศ์: POACEAE-GRAMINEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย PANICOIDEAE

สกุล: Saccharum 

สปีชีส์: officinarum

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นอ้อยแดง เป็นไม้ล้มลุก มักขึ้นเป็นกอ ๆ มีความสูงของลำต้นประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะแข็งแรงและเป็นมัน มีลำต้นคล้ายกับต้นอ้อยทั่วไป แต่จะมีสีม่วงแดงถึงสีดำ และมีไขสีขาวเคลือบลำต้นอยู่ ลำต้นมีลักษณะกลมยาว เห็นข้อปล้องอย่างชัดเจน โดยแต่ละปล้องอาจจะยาวหรือสั้นก็ได้ ผิวเปลือกเรียบสีแดงอมม่วง มีตาออกตามข้อ ไม่แตกกิ่งก้าน เนื้ออ่อน ฉ่ำน้ำ เปลือกมีรสขม ส่วนน้ำไม่ค่อยหวานแหลมเหมือนอ้อยธรรมดา และมักมีรากอากาศขึ้นอยู่ประปราย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกที่ข้อแบบเรียงสลับ หลุดร่วงได้ง่าย จึงพบได้เฉพาะที่ปลายยอด โดยจะมีกาบใบโอบหุ้มตามข้ออยู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน แคบยาวเรียว มีขนสากคายอยู่ทั้งสองด้านของแผ่นใบ โดยแผ่นใบจะเป็นสีม่วงเข้ม และมีไขสีขาวปกคลุมอยู่ มีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบหุ้มลำต้น ส่วนกลางใบเป็นร่อง และขอบใบเป็นจักแบบละเอียดและคม โดยเส้นกลางใบใหญ่จะเป็นสีขาวและมีขน

ดอก ออกดอกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายยอด โดยลำต้นจะออกดอกเมื่อแก่เต็มที่ ช่อดอกตั้งยาวประมาณ 40-80 เซนติเมตร ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกย่อยสีขาวครีมอยู่เป็นจำนวนมากและมีขนยาว เมื่อแก่จะมีพู่ปลาย

ผล ลักษณะเป็นผลแห้ง มีขนาดเล็ก จะออกเมื่อต้นแก่จัด ส่วนเมล็ดจะปลิวตามลมได้ง่าย

สภาพนิเวศวิทยา: เขตกึ่งร้อน เขตร้อน

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการปักชำลำต้น

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้นอ้อยแดง เผาคั้นเอาน้ำ รสหวานขม สรรพคุณ แก้เสมหะ แก้หืด แก้ไข้สัมประชวร ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว

*ตาอ้อยแดง รสขม สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษตานซาง บำรุงธาตุน้ำ บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ กรมวิจัยทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าอ้อยดำมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในหนูขาวและไม่มีพิษเฉียบพลันแต่อย่างใด

-ฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็ง โดยขนาดที่ได้ผลในการฆ่าเซลล์มะเร็ง 50% คือขนาดความเข้มข้นที่ 1/16 ส่วน ส่วนสารสกัดจากชานอ้อยและน้ำอ้อยมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก โดยมีผลต่อ Ehrlich carcinoma และ Sarcoma 180 ในหนูถีบจักร เมื่อทำการฉีดสารนี้เข้าทางช่องท้องในขนาด 100 มก./กก.นน.ตัว

-ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน เมื่อฉีดสารสกัดจากต้นแห้งด้วยน้ำเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร ในขนาด 25 มก./กก. พบว่ามีผลทำให้น้ำหนักของม้ามเพิ่มขึ้น และต่อต้านฤทธิ์กดการสร้างภูมิต้านทานของ Prednisolone และ Cyclophosphamide ได้

-ฤทธิ์ช่วยยืดอายุของสัตว์ ช่วยยืดอายุสัตว์ทดลองที่ถูกรังสี ช่วยลดพิษต่อตับของคาร์บอนเตตระคลอไรด์ แต่ไม่ได้ผลในการทำ Skin graft และเมื่อให้ในขนาด 200 มก./กก. ผ่านทางสายยางเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีผลยืดอายุของสัตว์ทดลองที่ถูกรังสีเช่นเดียวกัน

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ ได้มีผู้ทดลองใช้น้ำอ้อยกับเซลล์ Macrophage แล้วพบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ที่ลดลง

การใช้ประโยชน์:

-ไข้ ไข้ตัวร้อน ใช้ปล้องที่ลำต้นนำมาผ่าแล้วเอาเกลือทา นำไปเผาไฟแล้วเคี้ยวกินเป็นยาแก้ไข้ 

-อาการไอเรื้อรัง หอบ มีเสมหะในผู้ป่วยหลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากอ้อยประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับเหล้า ใช้กินครั้งเดียวหมดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น 

-อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้อาเจียน (เนื่องจากมีโรคอยู่ในกระเพาะ) ใช้น้ำอ้อยสดครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำคั้นจากขิงสด 1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน แล้วตั้งบนไฟพออุ่น ใช้ดื่มครั้งเดียวให้หมดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

-โรคปากเป็นแผลอันเนื่องมาจากขาดธาตุอาหาร ใช้เปลือกนำมาเผาเป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียด ใช้โรยหรือผสมทารักษาโรคปากเป็นแผลอันเนื่องมาจากขาดธาตุอาหาร

-อาการเมาค้าง มึนงง อ่อนเพลีย รวมถึงมีอาการวิงเวียนศีรษะเพราะนอนน้อย อยากจะอาเจียน ให้ดื่มน้ำอ้อยคั้นสด 1 แก้ว (ห้ามใส่น้ำแข็ง) แล้วอีกครึ่งชั่วโมงก็ให้ดื่มต่อ 1 แก้ว จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

-อาการท้องผูก ให้ดื่มน้ำอ้อยสด 1 แก้ว (สำหรับผู้ใหญ่) ก่อนรับประทานอาหารเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง จะช่วยเป็นยาระบายได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นเด็กทารกก็ให้ผสมน้ำตาลทรายแดงลงในนมผงที่ชงให้เด็กกินพอหวาน เนื่องจากน้ำตาลทรายแดงมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ

-ยาขับปัสสาวะ ใช้ลำต้นทั้งสดหรือแห้งวันละ 1 กำ ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 70-90 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 30-40 กรัม นำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ ต้มกับน้ำรับประทานก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 75 มิลลิเมตร) วันละ 3 ครั้ง บ้างก็ระบุว่าให้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

-อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้น้ำตาลทรายแดงประมาณ 1 ช้อนโต๊ะพูน ๆ ผสมกับเหล้าขาว 1-3 ช้อนแกง แล้วใช้ดื่ม อาการปวดจะดีขึ้น 

-โรคไตพิการ ดใช้ต้นสดวันละ 1 กำมือ (ประมาณ 70-90 กรัม) นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วต้มกับน้ำจะได้ยารสขมหวาน นำมาแบ่งดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2 ครั้ง

-อาการแผลเน่าเปื่อย แผลบวมเป็นตุ่ม แผลกดทับ ใช้เปลือกต้นนำมาเผาเป็นเถ้าบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้โรยหรือผสมทาที่แผล หรือจะใช้เถ้าที่ได้ผสมกับน้ำมันหอมทาบริเวณที่เป็นแผลก็ได้ 

-แผลเรื้อรัง แผลใต้ผิวหนังเรื้อรัง ใช้ชานอ้อยมาเผาให้เป็นเถ้าหรือบดเป็นผง นำมาใช้โรยหรือผสมทาที่แผลแล้วเอาครีมทาปิดแผลไว้

-ฝีอักเสบบวม ใช้ชานอ้อยมาเผาให้เป็นเถ้าหรือบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้โรยหรือผสมทา หรือใช้ผงเถ้าผสมกับน้ำหอมทาเล็กน้อย และใช้เข็มฆ่าเชื้อเจาะหนองออก แล้วเอาเถ้ามาโรยแผล และใช้เถ้าชานอ้อยผสมกับน้ำมันพืชหรือไขมันทาอีกครั้งจะได้ผลดีขึ้น

-ช่อดอกอ่อน ที่ยังไม่บานสามารถนำมาใช้รับประทานดิบ นำมานึ่งหรือย่างรับประทานเป็นผักจิ้มได้

-ปล้องลำต้น ใช้กินสดเป็นผลไม้ ทำเป็นอ้อยควั่น หรือบีบเอาน้ำอ้อยใช้ดื่มโดยตรงหรือทำเป็นไอศกรีม ช่วยแก้กระหายน้ำ ด้วยการใช้ลำต้นมาปอกเปลือกออก นำมาเคี้ยวเนื้อที่ลำต้นเพื่อกินน้ำหวาน แล้วคายกากทิ้ง หรือคั้นทำเป็นน้ำอ้อยก็ได้

-ปล้องลำต้น เมื่อบีบคั้นมาได้จะมีรสหวาน สามารถนำมาเคี่ยวทำเป็นน้ำตาลอ้อยได้โดยน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนตกผลึกจะได้น้ำตาลทรายที่ใช้สำหรับทำขนมหวานหรือปรุงรสอาหาร ทำน้ำเชื่อมกลบรสยา และช่วยเก็บถนอมอาหารได้

-ปล้องลำต้น นำเอาไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย ลำต้นมีปริมาณซูโครสอยู่ประมาณ 17-35% จึงสามารถนำมาใช้ผลิตทำเป็นน้ำตาลได้ ซึ่งได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลปี๊บ

-ชานอ้อย (ส่วนของลำต้นอ้อยที่หีบเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลออกแล้ว) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ได้แก่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า สามารถใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดี ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตทำ Particle Board เพื่อนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้ผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างโดยอาศัยกาว เช่น ไม้อัดแผ่น ไม้อัดผิวเส้นใย แผ่นกันความร้อน เป็นต้น หรือใช้ผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ใช้ทำกระดาษชนิดต่าง ๆ ทำพลาสติก หรือใช้ทำเป็นปุ๋ยหมัก ใช้เป็นวัตถุดิบคลุมดิน ใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือใช้ทำ-กากน้ำตาลที่แยกออกจากน้ำตาลในระหว่างการผลิต สามารถนำไปหมักทำเป็นเหล้ารัม (Rum) ได้

-กากตะกอนหรือขี้ตะกอน (สิ่งเจือปนที่เป็นของแข็งที่ไม่ละลายน้ำอยู่ในน้ำอ้อย) สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้เป็นอย่างดี และยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตไข ซึ่งไขที่ได้จากอ้อยสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสารขัดเงา การผลิตหมึกสำหรับกระดาษคาร์บอน และการผลิตลิปสติก เป็นต้น

-กากน้ำตาล (ของเหลวที่มีลักษณะเป็นน้ำเชื่อมสีน้ำตาลที่ถูกแยกออกจากเกล็ดน้ำตาลโดยวิธีการปั่น) มีประโยชน์หลายอย่าง สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ย ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ใช้ทำกรดน้ำส้ม ทำผงชูรส ซีอิ๊ว เหล้า เบียร์

-ใบ ยอด และส่วนของลำต้นที่ยังอ่อนอยู่ ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัวและควายได้โดยตรง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นให้นำมาหมักก่อนให้สัตว์กิน (ใช้ยอดสดประมาณ 100 กิโลกรัม, กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม, แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม, น้ำ 1 กิโลกรัม)

-ใบอ้อยแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ โดยถือเป็นแหล่งของพลังงานและเชื้อเพลิงที่สำคัญ เนื่องจากใบอ้อยแห้งจะให้พลังงานค่อนข้างสูงมาก โดยพลังงานที่ได้จากใบอ้อยแห้งที่ให้ผลผลิตไร่ละ 16 ตัน สามารถทำให้รถแทรกเตอร์ขนาดกลางทำงานได้ถึง 80 ชั่วโมง

-ใบอ้อยแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุสำหรับคลุมดินหรือบำรุงดินได้ โดยจะช่วยรักษาความชื้นและช่วยป้องกันวัชพืชได้ด้วย และในขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งบางพวกจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้ไนโตรเจนในดินเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีแก่อ้อย

-ผิวของต้นอ้อย มี Wax ซึ่งสามารถเอามาใช้ทำยาและทำเครื่องสำอางได้

-อ้อยดําหรืออ้อยแดง สามารถนำมาใช้สกัดทำเป็นสีย้อมได้ โดยจะให้สีน้ำตาล

-ในด้านความเชื่อ ต้นอ้อยถูกนำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ หลายงานมาตั้งแต่โบราณกาล เช่น งานหมั้นหรืองานแต่งงาน โกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ การเทศน์มหาชาติ ฯลฯ ส่วนชาวจีนก็จะใช้ต้นอ้อยในพิธีแต่งงาน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่มีความยั่งยืน หรือใช้ในพิธีการไหว้พระจันทร์ โดยจะใช้อ้อยมาประดับทำเป็นซุ้ม เป็นต้น

-ชาวเกาะนิวกินีที่รับประทานอ้อยและมันสำปะหลังเป็นประจำจะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำกว่าในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารแบบยุโรปร่วมด้วย



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง