Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: อ้อยช้าง

ชื่อท้องถิ่น: อ้อยช้าง (ภาคกลาง)/ หวีด (เชียงใหม่)/ ช้าเกาะ ช้างโน้ม (ตราด)/ กอกกั่น กอกกั๋น (อุบลราชธานี)/ ตะคร้ำ (ราชบุรี)/ ซาเกะ (สุราษฎร์ธานี), กุ๊ก กุ้ก (ภาคเหนือ)/ เส่งลู่ไค้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)/ ปีเชียง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ แม่หยูว้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ชื่อสามัญ: Wodier tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.

ชื่อวงศ์: ANACARDIACEAE

สกุล: Lannea 

สปีชีส์: coromandelica

ชื่อพ้อง: 

-Calsiama malabarica Raf.

-Haberlia grandis Dennst.

-Lannea grandis (Dennst.) Engl.

-Lannea wodier (Roxb.) Adelb.

-Odina gummifera Blume

-Odina pinnata Rottler

-Odina wodier Roxb.

-Rhus odina Buch.-Ham. ex Wall.

-Spondias oghigee G.Don

-Spondias wirtgenii Hassk.

-Tapirira wodier (Roxb.) Marchand

-Wirtgenia octandra Jungh.

-Dialium coromandelinum Houtt.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นอ้อยช้าง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรงมีความสูงได้ประมาณ 12-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด สีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส อ้อยช้างเป็นไม้ที่ไม่ค่อยจะแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านจะค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ สวนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ ๆ ของใบที่หลุดใบ 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 12-28 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักมีสันปีกแคบ ๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยด้านข้างยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบย่อยของใบปลายยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนใบแก่ผิวจะเกลี้ยง มีเส้นใบข้างละประมาณ 7-11 คู่ ส่วนเส้นใบย่อยค่อนข้างเลือนราง

ดอก ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ช่อดอกยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร ก้านช่อมีขนเล็ก ๆ ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ต้นเพศผู้จะมีช่อดอกแบบแยกแขนงยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนต้นเพศเมียจะแตกแขนงน้อยกว่า ช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4-6 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ เรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขน และพับงอกลีบ กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 อัน (หรือมีเป็นสองเท่าของจำนวนกลีบดอก) อยู่ในดอกเพศผู้ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวน มีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือสั้นกว่า ส่วนรังไข่เกลี้ยงเป็นสีแดงสด

ผล ลักษณะผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมู หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1-2 รอยที่ปลายบน

สภาพนิเวศวิทยา: พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง บางครั้งก็พบได้ตามป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถิ่นกำเนิด: อนุทวีปอินเดียถึงจีน (ยูนานใต้ถึงกวางตุ้นตะวันตกเฉียงใต้) และอินโดจีน

การกระจายพันธุ์: เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนตอนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, หิมาลายาตะวันออก, อินเดีย, ลาว, เมียนมาร์, เนปาล, เกาะนิโคบาร์, ปากีสถาน, ศรีลังกา, ไทย, เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*แก่น รสหวานน้อย สรรพคุณ ทำให้ชุ่มคอ แก้เสมหะเหนียว แก้กระหายน้ำ ทำให้จิตใจชื่นบาน

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: -

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ฝี โรคผิวหนัง โรคเรื้อน  ใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ฝีเมื่อเป็นฝี และรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน 

-แผลโรคผิวหนัง นำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนังก็ได้

-ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวและฝาด นิยมนำมารับประทานเป็นผัก หรือนำมารับประทานร่วมกับพริกเกลือก็ได้

-อาการกระหายน้ำ รากซึ่งเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำ น้ำในรากสามารถนำมาดื่มแก้อาการกระหายน้ำได้

-ยอดอ่อน นำมารับประทานเป็นผัก

-เนื้อไม้ ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต ใช้ในงานแกะสลัก พื้นกระดาน ฝา รอด เครื่องเรือน ฯลฯ

-เปลือกต้น นำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้าง (ที่รองหลังช้าง) ใช้ทำเชือก ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมหนัง ย้อมแห ฟอกหนังสัตว์ ใช้ในงานศิลปะ ฯลฯ

-สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสดและผลสด เป็นพิษต่อปลา

-ในอินเดีย ใช้ใบ เปลือก และยางเป็นยา ใบใช้เป็นยาทาภายนอกโดยนำมาต้มในน้ำมัน ใช้ทาแก้เคล็ด ขัดยอก และปวดบวม ใช้เป็นยาพอก โดยผสมกับพริกไทยดำ แก้โรคปวดตามข้อ น้ำที่ได้จากกิ่งก้านที่มีสีเขียว เป็นยาทำให้อาเจียน เปลือกเป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด ใช้เป็นยาต้มแก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย ใช้กลั้วคอเมื่อเป็นแผลในปากและปวดฟัน ใช้ต้มอาบเมื่อเป็นฝี โรคเรื้อน และเป็นโรคผิวหนัง หรือ เมื่อนำมาเปลือกมาบดเป็นผงใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง น้ำจากเปลือกสด ๆ ใช้หยอดตาแก้ตาเจ็บ ยางจากต้นใช้ผสมเป็นยาน้ำ ชะล้างแผลพุพองที่ผิวหนัง




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง