Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระชายขาว (กระชายเหลือง)

ชื่อท้องถิ่น: ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)/ กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม)/ จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ละแอน (ภาคเหนือ)/ ขิงจีน (อื่นๆ)

ชื่อสามัญ: Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale

ชื่อวิทยาศาสตร์: Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Boesenbergia 

สปีชีส์: rotunda

ชื่อพ้อง: 

-Boesenbergia cochinchinensis (Gagnep.) Loes.

-Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr.

-Curcuma rotunda L.

-Gastrochilus panduratus (Roxb.) Ridl.

-Gastrochilus rotundus (L.) Alston

-Kaempferia cochinchinensis Gagnep.

-Kaempferia ovata Roscoe

-Kaempferia pandurata Roxb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กระชาย thai-herbs.thdata.co | กระชาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

กระชาย thai-herbs.thdata.co | กระชาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกระชาย เป็นไม้หัวเหง้าล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบน้ำ ตรงกลางพองกว่าส่วนหัวและท้าย เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว มีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุก ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลือง มีรสเผ็ดร้อน ขม กลิ่นหอมฉุน


กระชาย thai-herbs.thdata.co | กระชาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว อยู่เหนือดิน มีประมาณ 2-7 ใบ ใบเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี ใบยาวประมาณ 12-50 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร โคนใบมนหรือแหลม ส่วนปลายใบเรียวแหลม มีขอบเรียบ เส้นกลางใบ ด้านใบ และกาบใบด้านบนจะเป็นร่อง ส่วนด้านล่างจะนูนเป็นสัน ด้านใบเรียบมีความยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ส่วนกาบใบเป็นสีชมพูยาวประมาณ 7-25 เซนติเมตร ระหว่างก้านใบและกาบใบจะมีลิ้นใบ


กระชาย thai-herbs.thdata.co | กระชาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ละดอกจะมีใบประดับ 2 ใบ มีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ เป็นรูปใบหอกกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ที่กลีบเลี้ยงมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายจะแยกเป็น 3 แฉก ส่วนกลีบดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร และปลายแยกเป็น 3 กลีบ เป็นรูปใบหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่มี 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.8 เซนติเมตร ส่วนอีก 2 กลีบจะมีขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 6 อัน แต่มี 5 อันที่เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนมีสีชมพู รูปไข่กลับขนาดเท่ากัน มีความกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ส่วนอีก 3 กลีบล่างมีสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง มีความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร และที่ปลายจะแผ่กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีสีชมพูหรือสีม่วงแดงเป็นเส้นอยู่เกือบทั้งกลีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ จะมีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์อยู่ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรตัวเมีย

ผล ผลแก่จะแตกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น

ถิ่นกำเนิด: เขตร้อน

การกระจายพันธุ์: เกาะอันดามัน, อัสสัม, กัมพูชา, จีนใต้-กลาง, จาวา, เกาะซุนดา,มาลายา, เมียนมาร์, สุมาตรา, ไทย, เวียดนาม, บังคลาเทศ, อินเดีย, ศรีลังกา

กระชาย thai-herbs.thdata.co | กระชาย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*หัว รสเผ็ดร้อนขมหอม สรรพคุณ แก้ปากเปื่อย ปากแตกเป็นแผล ขับระดูขาว แก้ใจสั่น แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง

*แง่งหรือรากใหญ่ ที่ติดกับหัว รสเผ็ดร้อนขมเล็กน้อย สรรพคุณ แก้กามตายด้าน ทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย มีคุณสมบัติคล้ายโสมจีน

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีกาลพิษ” ได้แก่ รากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้กระชาย ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของกระชายร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เหง้า พบน้ำมันระเหยง่าย 0.08% ประกอบด้วย 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin นอกจากนี้ยังพบสาร flavonoid และ chromene เช่น, 6- dihydroxy – 4 – methoxychalcone, pinostrobin, pinocembin   

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย IFN-γ และ LPS (lipopolysaccharide) พบว่า Boesenbergin A สามารถต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ความเข้มข้น 12.5 ถึง 50 μg/mL และไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ monocytic macrophage RAW 264.7 ของหนู ที่ความเข้มข้น 50 μg/mL เมื่อทดสอบด้วยวิธี วิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assay (Isa, et al., 2012)

-ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย ทดสอบในเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (A549), เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (PC3), เซลล์มะเร็งตับ (HepG2), เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) และเซลล์ตับปกติ (WRL-68) โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assayพบว่ามีค่าการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า ความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 20.22 ± 3.15, 10.69 ± 2.64, 20.31 ± 1.34, 94.10 ± 1.19 และ 9.324 ± 0.24 μg/mL ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน Paclitaxel มีค่า IC50 เท่ากับ 5.81 ± 1.03, 0.08 ± 0.03, 1.18 ± 0.24, 0.06 ± 0.02 และ 0.10 ± 0.05 μg/mL ตามลำดับ แสดงว่าสาร Boesenbergin A จากรากกระชาย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด แต่ก็มีพิษต่อเซลล์ตับปกติสูงด้วย (Isa, et al., 2012)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคน ที่แยกได้จากรากกระชาย โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี ORAC assay (The oxygen radical absorbance capacity  assay)ซึ่งเป็นการวัดความสามารถของสารทดสอบในการยับยั้งอนุมูลเปอร์ออกซี (peroxy radicals) โดยใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน การรายงานผลเป็นความเข้มข้นเทียบเท่ากับ Trolox (สารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินอี) หรือ Trolox equivalents ผลการทดสอบพบว่า Boesenbergin A ขนาด 20 μg/mLและ quercetin ขนาด 5μg/mLออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับ  Trolox 11.91 ± 0.23 และ 160.32 ± 2.75 μM ตามลำดับ  (Isa, et al., 2012)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-ทดสอบความเป็นพิษต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ทดสอบความเป็นพิษต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยใช้น้ำคั้นจากเหง้ากระชายสด นำมาทดสอบด้วยวิธีไมโครนิวเคลียส (ไมโครนิวเคลียส (MN) มีลักษณะเป็นก้อนกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 μm มีขอบเขตชัดเจน และเรียบ เป็นตัวบ่งชี้การเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม) การทดสอบไมโครนิวเคลียสเป็นการศึกษาในเซลล์ polychromatic erythrocytes (PCE) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่เจริญเต็มที่ และ normochromatic erythrocytes (NCE) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์กว่า ทดสอบในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยที่กลุ่มควบคุมจะได้รับน้ำกลั่น 1 ml ต่อวัน และกลุ่มทดลองได้รับน้ำกระชายคั้นขนาด 60, 120 หรือ 600 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน แล้วเก็บตัวอย่างเลือด และเซลล์ไขกระดูกไปทดสอบ ประเมินความเป็นพิษจากค่าอัตราส่วน PCE ต่อจำนวนเม็ดเลือดแดงทั้งหมด (total erythrocytes) ผลการทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นต่อเซลล์ PCE และ NCE ในไขกระดูก พบว่าหนูขาวที่ได้รับน้ำกระชายคั้นทุกกลุ่มมีจำนวน PCE MNPCE และ NCE ไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มควบคุม แต่มีจำนวน MNNCE และ MNNCE/NCEมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) อย่างไรก็ตามค่าอัตราส่วนของ PCE ต่อ total erythrocytes (PCE/ total erythrocytes ratio) ที่ใช้บ่งชี้ความเป็นพิษของสารต่อเซลล์กลับไม่พบความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม อีกทั้งการทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นในเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือด พบว่า PCE, MNPCE, reticulocyte และ MN-reticulocyte ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ามีจานวนไมโครนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดลดลง เมื่อเทียบกับจำนวนไมโครนิวเคลียสในเซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีไมโครนิวเคลียสเหล่านี้ถูกกำจัดโดยการทำหน้าที่ของม้าม การศึกษานี้ยังพบว่ามีไมโครนิวเคลียสอยู่ใน reticulocyte ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไมโครนิวเคลียสที่รูปร่างกลม ที่มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว อาจเนื่องมาจากม้ามไม่สามารถกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีไมโครนิวเคลียสขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ และที่คงพบเซลล์ PCE ในเลือดก็ยังอยู่ในช่วงเกณฑ์ปกติที่สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 2 ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำกระชายคั้นไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก และในเลือดของหนูขาวเมื่อทดสอบด้วยวิธีไมโครนิวเคลียส แม้จะให้หนูในขนาดความเข้มข้นสูงถึง 600 mg/kg ต่อเนื่องกัน 30 วัน จึงใช้เป็นพืชสมุนไพรที่รับประทานสดในสภาวะปกติได้อย่างปลอดภัย (U-pathi and Sudwan, 2013)

-การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ศึกษาความเป็นพิษของสารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ สารพิโนเซมบริน (5, 7-dihydroxyflavanone)  และสารพิโนสโตรบิน (5-hydroxy-7-methoxy flavanone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ทดสอบในหนูขาวโดยให้สารพิโนเซมบริน และสารพิโนสโตรบิน แก่หนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ในขนาดความเข้มข้น 500 mg/kg ผลการศึกษาพบว่าสารทั้งสองชนิดไม่ก่อให้เกิดการตายในหนู และจากการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ไต อัณฑะ ต่อมไทมัส และค่าทางชีวเคมีของเลือด ได้แก่ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), ปริมาณโปรตีนรวม, อัตราส่วนของ albuminกับ globulin, ปริมาณยูเรีย ตลอดจนน้ำหนักตัวของหนู ไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Charoensin, et al., 2010)

-การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ จากการทดสอบฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม หรือการก่อกลายพันธุ์ ด้วยการให้สารพิโนเซมบริน และพิโนสโตรบินซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ในขนาด 1, 10  หรือ 100 mg/kg แก่หนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าสารทั้งสองชนิดดังกล่าว ไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการแตกหักของโครโมโซม  และไม่มีผลต่อดัชนีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ (mitotic index) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารพิโนเซมบริน และพิโนสโตรบินไม่มีความเป็นพิษในหนูขาว และไม่มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมในเซลล์ตับหนูขาวในช่วงความเข้มข้น 1-100 mg/kg (Charoensin, et al., 2010)

การใช้ประโยชน์:

-ช่วยบำรุงหัวใจ ใช้เหง้าและรากของกระชายนำมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งแล้วบดจนเป็นผง และให้ใช้ผงแห้งที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยชา แล้วรับประทานเพียงครั้งเดียว 

-โรคริดสีดวงทวาร ใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม (6-8 เหง้า) นำมาผสมกับเนื้อมะขามเปียกประมาณ 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง และนำมาตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 2 แก้ว นำมารับประทานครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน แล้วรับประทานติดต่อกันประมาณ 1 เดือนจนกว่าจะหาย

-โรคน้ำกัดเท้า ใช้รากกระชายทั้งเปลือกมาล้างแล้วผึ่งให้แห้ง ฝานเป็นแว่น ๆ และนำไปบดให้เป็นผงหยาบ ๆ และใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวมาอุ่นในหม้อใบเล็ก ๆ เติมผงกระชาย ใช้น้ำมัน 3 เท่าของปริมาณกระชาย แล้วนำมาหุงด้วยไฟอ่อน ๆ ราว 15-20 นาที แล้วกรองกระชายออก เก็บน้ำมันไว้ในขวดแก้วสีชา นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ

-อาการฝ้าขาวในปาก ใช้กระชายที่ล้างสะอาดนำมาบดแบบไม่ต้องปอกเปลือก แล้วใส่ในโถปั่นพอหยาบ แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาแช่ไว้ในตู้เย็น แล้วนำมากินก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนชาเล็ก กินวันละ 3 มื้อก่อนอาหารประมาณ 15 นาที ประมาณ 1 อาทิตย์ 

-อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 5-10 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 3-5 กรัม แล้วนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ หรือจะนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน

-อาการท้องร่วง ท้องเดิน ใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ใช้เหง้าที่ปิ้งไฟแล้วนำมาฝนหรือตำผสมกับน้ำปูนใส หรือจะคั้นให้ข้น ๆ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา

-อาการคันหนังศีรษะจากเชื้อรา ช้น้ำมันดังกล่าว (จากสูตรรักษาโรคน้ำกัดเท้า) นำมาเข้าสูตรทำเป็นแชมพูสระผม หรือจะใช้น้ำมันกระชายโกรกผมแล้วนวดให้เข้าหนังศีรษะก็ได้ แล้วค่อยล้างออก 

-ราก สมารถนำมาเป็นเครื่องแกงในการประกอบอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาดุก ปลาไหล ปลากุลา เป็นต้น และยังทำให้อาหารมีกลิ่นและรสที่หอมเป็นเอกลักษณ์

-ราก สามารถช่วยไล่แมลงได้ ด้วยการนำตะไคร้ ข่า หอมแดง ใบสะเดาแก่ นำมาตำผสมกันแล้วใช้ผสมกับน้ำฉีดในบริเวณที่มีแมลงรบกวน



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง