Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หมาก

ชื่อท้องถิ่น: หมากเมีย (ทั่วไป)/ หมากสง (ภาคใต้)/  มะ (ชอง-ตราด)/ เซียด (ชาวบน-นครราชสีมา)/ ปีแน (มลายู-ภาคใต้)/ สีซะ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ)/ แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ปิงน๊อ (จีนแต้จิ๋ว)/ ปิงหลาง (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Areca nut, Areca nut palm, Areca palm, Betel nut palm, Betel Nuts

ชื่อวิทยาศาสตร์: Areca catechu L.

ชื่อวงศ์: ARECACEAE-PALMAE-PALMACEAE

สกุล: Areca 

สปีชีส์: catechu

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

หมาก thai-herbs.thdata.co | หมาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นหมาก เป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบ ๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนา กาบใบหุ้มลำต้น

ดอก (จั่นหมาก) ออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา มีใบประดับหุ้มอยู่ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีเหลืองมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น สีเขียว ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีเกสรเพศเมียเป็นเส้น 3 เส้นบาง ๆ แผ่ออก ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงส่วนปลายของก้านช่อดอก ส่วนดอกเพศเมียจะค่อนข้างใหญ่และอยู่ที่โคนก้านช่อดอก ดอกเพศผู้จะใช้เวลาประมาณ 21 วัน หลังจากนั้น 5 วัน ดอกเพศเมียจะเริ่มบาน


หมาก thai-herbs.thdata.co | หมาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย หมาก thai-herbs.thdata.co | หมาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลออกเป็นทะลาย ผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นกลาง เปลือกชั้นใน  และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง ภายในผลมีเมล็ดเดียว 

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 700 เมตร

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: ตอนใต้ของจีน (กวางสีไห่หนานยูนนาน) ไต้หวัน อินเดีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ ศรีลังกา กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเย็นเฝื่อน สรรพคุณ ต้มเอาน้ำอาบ แก้คัน แก้เด็กออกไข้หัว รับประทานรสความร้อนในร่างกาย แก้ไข้

*ลูก รสฝาดจัด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน ขับเหงื่อ ฝนทาปาก แก้ปากเปื่อย สัตว์กินขับพยาธิ  

*ราก รสฝาดเย็น สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ 

*ทะลายหมาก รสเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อน

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เมล็ดแก่ พบอัลคาลอยด์ arecoline, arecolidine, arecaine (arecaidine), guvacine, guavacoline, isoguavacine สารกลุ่ม tannin, catechin, epicatechin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล จากรายงานการวิจัยที่ระบุว่า พฤติกรรมการเคี้ยวหมากทำให้เกิดโรคภายในช่องปากได้มากขึ้น และสารสกัดของเมล็ดหมาก (Areca catechu L.) มีฤทธิ์ยับยั้งกลไกการป้องกันตัวของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ได้แก่ กระบวนการฟาโกไซโทซีส (phagocytosis) ของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) จึงมีการนำสารสกัดน้ำจากเมล็ดหมากแก่แห้ง (Areca Nut Extract; ANE) มาศึกษาถึงกลไกการออกฤทธิ์และผลต่อตัวรับคอมพลีเมนต์ (complement receptors) และตัวรับเอฟซี (Fc receptors) ที่อยู่บนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ซึ่งตัวรับทั้งสองชนิดมีหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นระบบภูมิคุมกันของร่างกาย รวมทั้งศึกษาผลของสารสกัดต่อ F-actin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของเซลล์เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จากผลการทดลองพบว่า สารสกัด ANE มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างตัวรับคอมพลีเมนต์ (CR1, CR3 และ CR4) และตัวรับเอฟซี (FcγRII และ FcγRIII) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และ ANE ยังทำให้กระบวนการฟาโกไซโทซีสลดลง รวมทั้งยับยั้งการแสดงออกของ F-actin ด้วย ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ANE มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในช่องปาก

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-มีรายงานความเป็นพิษของเมล็ดทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ เนื้องอกและมะเร็ง พบว่าคนที่กินหมากมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปาก

การใช้ประโยชน์:

หมาก thai-herbs.thdata.co | หมาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

-ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เมล็ดหมากผสมกับกาฝากต้นโพ เห็ดกระด้าง และรากมะเขือแจ้ดอกคำ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ

-โรคหูด ใช้ผลแก่ดิบ 1 ผล นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้

-โรคน้ำกัดเท้า ใช้ผลหมากนำมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด

-อาการปวดฟัน ใช้ผลดิบไปผสมปูนแดง และใบพลูเคี้ยวเพื่อชะล้างสิ่งโสโครกและฆ่าเชื้อโรคในปาก

-อาการคัน ใช้ใบ หรือผลนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้เม็ดผดผื่นคันตามตัวได้ 

-ช่วยขับถ่ายพยาธิ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง

-ช่วยขับพยาธิในถุงน้ำดี ด้วยการใช้เนื้อในผลและเล็บมือนาง อย่างละ 35 กรัม, โกฐน้ำเต้า 6 กรัม, พริกหอม 3 กรัม, บ๊วยดำ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง 

-ช่วยสมานแผลทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากนำมาปิดบริเวณบาดแผล 

-ช่วยยาถ่ายพยาธิในสัตว์ ใช้เมล็ดแก่มาบดให้สัตว์กิน เช่น สุนัข ไก่ชน และแกะ 

-ดอกอ่อน ยอดอ่อนของลำต้น สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักได้

-ใบหรือทางหมาก ชาวสวนจะใช้ก้านทางที่มีใบมาผูกห้อยตรงช่องทางเข้าออกของซึ่งเป็นที่จับถ่ายของชาวสวน เพราะช่วยบังตาได้เป็นอย่างดี และชาวสวนยังใช้ทางหมากแห้งนำมาทำเป็นเสวียนขนาดใหญ่สำหรับรองรับกระทะใบบัวขนาดใหญ่ในขณะที่กวนน้ำตาลองุ่นให้เป็นน้ำตาลปี๊บอีกด้วย

-กาบใบ ใช้ทำภาชนะ เครื่องจักสาน หรือวัสดุห่อหุ้มสิ่งของได้ ปลอกมีด ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนำมาทำเป็นของเล่น คือ รถลาก โดยให้เด็กคนหนึ่งนั่งลงบนกาบใบ มือจับไว้ที่โคนทาง แล้วให้เด็กอีกคนหนึ่งจับที่ปลายทางส่วนที่เหลือใบไว้ แล้ววิ่งลากไป นอกจากนี้ยังสามารถนำมาดัดหรือเจียนทำเป็นเนียนสำหรับขูดน้ำพริกที่สากและคดน้ำพริกจากครก ซึ่งคุณสมบัติที่ดีมากของเนียนก็คือ ความนิ่งของกาบหมากนั่นเอง และกาบหมากยังสามารถนำมาทำเป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาล เวลายกขึ้นยกลงจากเตาตาลแทนการใช้ผ้า

-กาบหมาก ใช้ทำพัดสำหรับพัดคลายร้อนในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี โดยนำกาบใบมาเจียนให้เป็นรูปวงกลมหรือรูปวงรี มีที่สำหรับมือจีบยื่นออกมา ซึ่งก่อนใช้จะต้องใช้ก้นของครกตำข้าวทับให้แบนเรียบเสียก่อน

-ลำต้น สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ เช่น ใช้ทำสะพาน เฟอร์นิเจอร์ ทำเสาตอม่อ ฟากสับ แม่บันได ลูกบันได ส่วนโคนแก่ใช้ทำชั้นพะองเพื่อทอดทำสะพานข้ามกระโดง ท้องร่อง และเมื่อนำลำต้นมาทะลวงไส้ออก จะสามารถใช้เป็นท่อระบายน้ำได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำไม้คานแบกของ ทำคร่าวสำหรับยึดฝาฟากสับ และยังใช้ต้นหมากนำมากั้นคันดินและทำเป็นตอม่อเพื่อป้องกันคันดินที่กั้นน้ำเข้าสวนพังได้อีกด้วย

หมาก thai-herbs.thdata.co | หมาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

-เนื้อในเมล็ด สามารถนำมาใช้ในการผลิตสีย้อมผ้าได้

-เปลือกผล สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้

-ผลหมาก เมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสาร Arecoline ซึ่งมีสารแทนนินสูง จึงสามารถนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เช่น การใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แหหรืออวนนิ่มอ่อนตัว เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น และยังใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนัง ทำให้หนังนิ่มมีสีสวย หรือใช้สกัดทำเป็นยารักษาโรค เช่น ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเสีย ท้องเดิน ยาขับปัสสาวะ ยาสมานแผล ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น

-ชาวไทยนิยมกินหมากร่วมกับพลูและปูนแดง โดยมากจะเอาใบพลูที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปมาทาด้วยปูนแดง แล้วใช้กินกับหมากที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เคี้ยวด้วยกัน ก็จะมีน้ำหมากสีแดง ซึ่งจะต้องบ้วนทิ้ง จะช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ช่วยดับกลิ่นปาก แก้แมงกินฟัน ช่วยทำให้เหงือกแข็งแรง และช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย กระตุ้นการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้มีการย่อยอาหารที่ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้อีกด้วย 

-ในยุโรปมีการใช้ผลหมากเป็นส่วนผสมของยาสีฟัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ฟันขาวขึ้นได้

-ในมาเลเซียจะมีประเพณีที่ว่า หากฝ่ายหญิงเคี้ยวหมากไปพร้อม ๆ กับฝ่าย นั่นแสดงว่าเธอยินดีที่จะเป็นคู่ครอง 

-ชาวจีนไหหลำจะเชื่อว่า เจ้าสาวที่จะมาไหว้ว่าที่แม่สามีจะต้องนำหมากพลูมากไหว้ ส่วนคนญวนจะมีประเพณีที่ว่าคู่บ่าวสาวจะต้องกินหมาก 120 คำให้หมด ถึงจะแต่งงานกันได้ 

-ชาวพม่านั้นถือว่า สาวใดยื่นหมากให้ฝ่ายชาย นั่นหมายถึงเธอกำลังทอดสะพานให้แก่ฝ่ายชาย

-ในด้านประเพณี การนำหมากมาใช้ในพิธีทางศาสนา ใช้หมากในพิธีไหว้ครูและพิธีบายศรีสูขวัญ หรือนำมาจัดเป็นหมากพลูไว้เป็นชุดขายเพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ 

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีลำต้นและทรงพุ่มที่ดูสวยงาม




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง