Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: รางจืด 

ชื่อท้องถิ่น: กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง)/ ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)/ ทิดพุด (นครศรีธรรมราช)/ น้ำนอง (สระบุรี), รางเย็น คาย (ยะลา)/ ดุเหว่า (ปัตตานี)/ จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), 

ชื่อสามัญ: Laurel clockvine, Blue trumphet vine

ชื่อวิทยาศาสตร์: Thunbergia laurifolia Lindl.

ชื่อวงศ์: ACANTHACEAE

สกุล: Thunbergia 

สปีชีส์: laurifolia

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

รางจืด thai-herbs.thdata.co | รางจืด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป


รางจืด thai-herbs.thdata.co | รางจืด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบ


รางจืด thai-herbs.thdata.co | รางจืด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน


รางจืด thai-herbs.thdata.co | รางจืด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก

สภาพนิเวศวิทยา: พบทั่วไปตามป่าดิบชื้น

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, หิมาลัยตะวันออก, มลายู, เมียนมาร์, หมู่เกาะนิโคบาร์, เวียดนาม, เกาะคุก, ฟิจิ, เม็กซิโกตะวันตกเฉียงใต้, หมู่เกาะโอซาวาระ, เปรู, ศรีลังกา, แทนซาเนีย, ยูกันดา, วาลลิส-ฟุตูนา, หมู่เกาะวินด์เวิร์ด, เกาะลีวาร์ด

รางจืด thai-herbs.thdata.co | รางจืด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำเถา

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสเย็น สรรพคุณ ถอนพิษเบื่อเมา แก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน  กระหายน้ำ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ฟลาโวนอยด์, ฟีนอลิก, apigenin, cosmosin, delphinidin-3,5-di-O-beta-D-glucoside, chlorogenic acid, caffeic acid, lutein

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัสเริม ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ปกป้องตับ ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สารฆ่าแมลงในร่างกายลดลง ลดพิษของสารฆ่าแมลงออกาโนฟอสเฟต พาราควอท และพาราไธออนในหนู ป้องกันการเสื่อมของระบบประสาทจากพิษตะกั่ว

-ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (ยับยั้งการเกิดมะเร็ง) สารสกัดน้ำ เอทานอล และอะซิโทน มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ โดยยับยั้งการเกิดมะเร็ง เนื่องจากสาร 2-aminoanthracene ได้ร้อยละ 87 เมื่อวิเคราะห์ด้วยแบคทีเรีย Salmonella typhimurium TA 98 และสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ควิโนนรีดักเทส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดเซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้น ได้ตั้งแต่ 1.35-2.8 เท่า

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วัน ขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม  ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และ AST สูงขึ้น

-การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดน้ำจากใบ โดยป้อนหนูแรทขนาด 20  200  1,000  2,000 มก./กก./วัน หรือคิดเป็น 1, 10, 50 และ 100 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว การกินอาหาร พฤติกรรม และสุขภาพทั่วไปของหนู อวัยวะภายในทั้งระดับมหพยาธิวิทยาและจุลพยาธิยังคงปกติ และไม่ทำให้เกิดพิษสะสม ไม่ทำให้หนูตาย

การใช้ประโยชน์:

-อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา เมาค้าง พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใบ ราก และเถา รสจืดเย็น ตำคั้นหรือเอารากฝนกับน้ำหรือต้มเอาน้ำยาดื่ม

-อาการแพ้สารเคมี อาการผื่นคัน ใช้ใบ ราก เถา หรือทั้งต้นต้มน้ำ ทั้งดื่มทั้งอาบ

-ยอดอ่อน ดอกอ่อน รับประมานเป็นผัก ลวก แกง ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป 

-ดอก มีน้ำหวาน รสหวาน รับประทารได้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ 

-ชารางจืด ใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้ มีกลิ่นหอมคล้านชาเขียว ช่วยล้างพิษในร่างกายและบรรเทาอาการร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี

-ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แคปซูลรางจืดหรือรางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวยงาม แล้วก็ยังสามารถช่วยบังแสงแดดทำให้เกิดร่มเงาได้อีกด้วย




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง