Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กวาวต้น

กวาวต้น thai-herbs.thdata.co | กวาวต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ)/ จอมทอง (ภาคใต้)/ จ้า (เขมร)/ ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง)/ ดอกจาน (อีสาน)

ชื่อสามัญ: Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest

ชื่อวิทยาศาสตร์: Butea monosperma (Lam.) Taub.

ชื่อวงศ์:  FABACEAE-LEGUMINOSAE

สกุล: Butea

สปีชีส์: monosperma

ชื่อพ้อง:

-Butea braamania DC.

-Butea frondosa Roxb.

-Butea frondosa Willd.

-Erythrina monosperma Lam.

-Plaso monosperma (Lam.) Kuntze

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นกวาวต้น ไม้ยืนผลัดใบ ต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร ลำต้นส่วนมากจะคดงอเป็นปุ่มปม มีเปลือกสีเทาคล้ำ เปลือกแตกระแหงเป็นร่องตื้นๆ กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบออกจากจุดปลายก้านเดียวกัน 3 ใบ ติดเรียงเวียนสลับ หนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยที่ปลายรูปไข่ กลีบแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปไม่เบี้ยว มีความกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร และขอบใบเรียบ

ดอก ออกเป็นช่อ ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ และตามปลายกิ่ง ส่วนฐานรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกมีสีแสด ลักษณะเป็นดอกถั่วขนาดใหญ่ มี 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 10 อัน แยกเป็นอิสระ 1 อัน อีก 9 อัน โคนก้านเชื่อมติดกันเป็นหลอด

ผล ลักษณะเป็นฝักแบน ฝักอ่อนมีสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่เต็มที่ ที่ฝักมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมันคลุมแน่น ฝักโค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ส่วนด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก ในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักมีความยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ตามภาคต่างๆ พบที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 80-300 ม.

ถิ่นกำเนิด: แถบเอเชียใต้ จากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และในแถบทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย

การกระจายพันธุ์: เอเชียตะวันออก พม่า ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

      *ดอก รสเย็น สรรพคุณ ถอนพิษไข้ ผสมยาหยอดตาแก้ตาฟาง ขับปัสสาวะ

      *ยาง รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง

      *ใบ รสเย็น สรรพคุณ ตำพอกถอนพิษฝีและสิว

      *เมล็ด รสเมาเบื่อ  สรรพคุณ ขับพยาธิไส้เดือน

      *ราก รสเมาร้อน สรรพคุณ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ดอก ให้สีแดง ใช้ย้อมสีผ้า

-เส้นใยจากเปลือก สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกหลวม ๆ และกระดาษได้

-ใบสด นำมาใช้ห่อของ

-ใบ ใช้ตากมะม่วงกวน

-ใบ ใช้เป็นอาหารสำหรับช้างและวัวควายได้

-ในอินเดีย ใช้ใบนำมาปั้นเป็นถ้วยไว้ใส่อาหารและขนมแทนการใช้พลาสติก

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรได้

-เนื้อไม้ เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก จึงสามารถใช้ทำกระดานกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุดหรือเรือโปงใช้ชั่วคราว หรือใช้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ และกังหันน้ำได้

-ทองกวาวจัดเป็นไม้มงคลนาม คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก คือสามารถมีทองได้ตามชาติหรือมีทองมากมายนั่นเอง นอกจากนี้ดอกทองกวาวยังมีความสวยงามเรืองรองเหมือนทองธรรมชาติอีกด้วย โดยตำแหน่งที่ปลูกก็คือทิศใต้ และถ้าปลูกในวันเสาร์ก็จะยิ่งเป็นมงคลขึ้นไปอีก หรือถ้าจะให้เป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง