Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: โมกหลวง (โมกใหญ่)

ชื่อท้องถิ่น: โมกใหญ่ (ภาคกลาง)/ ยางพุด มูกขาว (เลย)/ พุด (กาญจนบุรี)/ พุทธรักษา (เพชรบุรี)/ มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง (ภาคเหนือ)/  หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ)/ ซอทึ พอแก พ้อแก ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: Kurchi, Easter tree, Conessi bark, Tellicherry tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don

ชื่อวงศ์: APOCYNACEAE

สกุล: Holarrhena 

สปีชีส์: pubescens

ชื่อพ้อง: 

-Echites antidysentericus Roth

-Holarrhena antidysenterica (Roth) Wall. ex A.DC.

-Holarrhena antidysenterica Wall.)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

โมกหลวง thai-herbs.thdata.co | โมกหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นโมกหลวง เป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นชั้นนอกเป็นสีเทาอ่อนถึงสีน้ำตาล หลุดลอกออกเป็นแผ่นกลม ๆ ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีซีด ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น 


โมกหลวง thai-herbs.thdata.co | โมกหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบแหลมหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-27 เซนติเมตร แผ่นใบมีขน ใบแก่บาง มีเส้นใบข้างประมาณ 10-16 คู่ ส่วนเส้นกลางใบและเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน โดยเส้นใบจะเป็นสีเหลือง ไม่มีต่อม ผิวใบด้านบนมีขนนุ่ม ส่วนด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร ใบร่วงได้ง่าย


โมกหลวง thai-herbs.thdata.co | โมกหลวง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกใกล้กับปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกหลายดอก ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวประมาณ 4-1 เซนติเมตร ดอกมีขนาดประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งอาจมีแต้มสีชมพู ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อยาวประมาณ 0.6-1.7 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เวียนซ้าย ผิวด้านนอกมีขนสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 9-11.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านเชื่อมกับหลอดกลีบดอก ก้านชูเกสรสั้นและมีขนอยู่ที่ฐาน อับเรณูแคบแหลม ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกจากกัน ยอดเกสรเชื่อมกัน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ไม่มีหมอนรองดอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีลักษณะแคบและแหลม มีต่อมประปราย ที่โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก และมีขนสีขาว

ผล ลักษณะผลเป็นแบบฝัก ห้อยลงเป็นคู่โค้ง ฝักเป็นฝักแห้ง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายฝักแหลม โคนฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่จะแตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียวอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดเรียงกันเป็นแถวอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบน เป็นสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 1.3-1.7 เซนติเมตร เกลี้ยง แต่มีแผงขนยาวเป็น 2 เท่าของเมล็ด มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ แผงขนจะชี้ไปทางยอดของฝัก โดยขนสีขาวที่ติดอยู่สามารถลอยไปตามลมได้

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ตามป่าเต็งรังทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ

ถิ่นกำเนิด: แอฟริกาถึงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้บิดมูกเลือด 

*เมล็ด รสฝาด สรรพคุณ สมานท้อง ลำไส้ 

*ใบ รสฝาดเมา สรรพคุณ ขับพยาธิไส้เดือน

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เปลือกต้น พบสาร อัลคาลอยด์ประมาณ 4.5% ซึ่งประกอบไปด้วย Conessine, Kurchine, Kurchicine ฯลฯ 

-ใบ พบสาร kurchamine, kurchessine ฯลฯ

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็ก และยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase สารสกัดน้ำและเมทานอลในอัตราส่วน 2:3 ของเมล็ดโมกหลวง (สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอล) เมื่อนำมาทดสอบในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ พบว่าเมื่อนำมาทดสอบในหลอดทดลองสารสกัดด่างสามารถต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase จากลำไส้เล็ก โดยที่ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 0.52 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงในขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่จะไม่มีความแตกต่างเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (acarbose 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จากการศึกษาด้านความปลอดภัยของสารสกัดนี้ พบว่าสามารถใช้ได้ในขนาดถึง 6.4 กรัม กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงสามารถต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็กได้ ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ 

-เปลือกต้น มีสารอัลคาลอยด์ “Conessine” อยู่ประมาณ 0.4% ของอัลคาลอยด์ทั้งหมด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด สามารถใช้แก้โรคบิดได้ และเคยนำมาใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ในระยะหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท

-เปลือกต้น มีสารอัลคาลอยด์ “kurchicine” ที่ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต ถ้าให้ในขนาด lethal dose แต่ถ้าให้ในขนาดน้อยจะทำให้ความดันขึ้นสูง โดยเปลือกที่มีตัวยาสูงต้องลอกจากต้นที่มีอายุ 8-12 ปี

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-โรคท้องมาน ใช้เปลือกต้นแห้งที่ป่นละเอียดแล้ว นำมาใช้ทาตัวแก้โรคท้องมานได้ช

-โรคหิด ใช้เปลือกหรือใบนำมาต้มผสมกับน้ำอาบรักษาโรคหิด

-อาการปวดกล้ามเนื้อ ใช้เปลือกต้น, ใบต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อ (หากใช้มากเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับและมีอาการปั่นป่วนในท้อง) 

-เนื้อไม้ สีขาวละเอียด มีความเหนียว ไสกบแต่งได้ง่าย นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หวี ตะเกียบ โต๊ะ ตู้ กรอบรูป ไม้เท้า ไม้บรรทัด ไม้ฉาก พัด หรือใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก ฯลฯ

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นโมกมันเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม ให้ร่มเงา เหมาะนำไปปลูกในสวนป่า และดอกยังมีกลิ่นหอม



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง