Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สมุลแว้ง

ชื่อท้องถิ่น: ขนุนมะแวง เชียกใหญ่ (ตรัง)/ จวงดง(หนองคาย)/ เฉียด บริแวง(ระนอง)/ มหาปราบ (ตราด)/ มหาปราบตัวผู้ (จันทบุรี)/ ฝนแสนห่า/(นครศรีธรรมราช)/ แลงแวง(ปัตตานีป พะแว โมงหอม ระแวง(ชลบุรี)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet

ชื่อวงศ์: LAURACEAE

สกุล: Cinnamomum 

สปีชีส์: bejolghota 

ชื่อพ้อง: 

-Cinnamomum bazania (Buch.-Ham.) Nees

-Cinnamomum obtusifolium (Roxb.) Nees

-Cinnamomum sikkimense Lukman.

-Cinnamomum van-houttei Lukman.

-Laurus bejolghota Buch.-Ham.

-Laurus obtusifolia

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสมุลแว้ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 7-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรูปเจดีย์ต่ำ เปลือกต้นสีอมเทาเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบมนแหลม หรือเรียวแหลม โคนใบแหลม  ขอบใบเรียบ  ก้านใบค่อนข้างใหญ่ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3 เส้น ใบอ่อนสีแดงถึงสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ผิวใบมัน เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง

ดอก ออกเป็นช่อใหญ่ แตกแขนงใกล้ยอด มีขนดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวอมเหลืองเชื่อมติดกันที่โคน มีขนเป็นมันเหมือนไหม กลีบรวมจะติดทนจนเป็นผล

ผล ลักษณะผลเป็นผลสด ผลมีขนาดเล็ก มีเนื้ออวบน้ำ รูปรีหรือค่อนข้างกลม มีเมล็ดเดียว

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การกระจายพันธุ์: พม่า ลาว กัมพูชาและไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสหอมฉุนปร่า สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน ใจสั่น แก้พิษหวัด กำเดา ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้สมุลแว้งในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) ตำรับ “ยาหอมแก้ลมวิงเวียน” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ  ตำรับ “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาธาตุอบเชย” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ตำรับ “ยามันทธาตุ” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ “ยาวิสัมพยาใหญ่” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ตำรับ  “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่นอุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น ตำรับ  “ยาริดสีดวงมหากาฬ มีส่วนประกอบของสมุลแว้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก

องค์ประกอบทางเคมี: 

-น้ำมันหอมระเหย 0.08% ประกอบด้วย α–terpineol, (E)-nerolidol, 1,8 cineole

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และการต้านอนุมูลอิสระ ของสารสกัดเปลือกสมุลแว้งด้วยเมทานอล ทำการทดลองในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ หนูถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร streptozotocin แล้วให้สารสกัดสมุลแว้ง ขนาด 250 หรือ 500 mg/kg วันละครั้ง เป็นเวลา 15 วัน แก่หนู บันทึกผลโดยการวัดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูหลังได้รับสารสกัด ที่เวลา 0, 30, 60, 90 และ 120 นาที รวมทั้งวัดค่าการทำงานของตับ และกระบวนการเมตาบอลิซึมของตับ  ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมุลแว้งทั้ง 2 ขนาด สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลา 60, 90 และ 120 นาที หลังได้รับสารสกัด และลดการเกิดอนุมูลอิสระได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทำให้ระดับ LDL ลดลง, และลดระดับเอนไซม์ตับทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ aspartate transminase, alanine transminase และ alkaline phosphatate ลดการเกิด lipid peroxidation เพิ่มระดับ HDL เพิ่มระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระในตับ ได้แก่  catalase และ glutathione และสารสกัดสามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับอ่อนให้มีสภาพปกติได้ (Gogoi, et al., 2014)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 4,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

การใช้ประโยชน์:

-รากและใบ ต้มให้หญิงที่คลอดใหม่ รับประทานและรักษาไข้ 

-เนื้อไม้ มีกลิ่นหอมคล้ายการะบูน เนื้อหยาบแข็ง ค่อนข้างเหนียว ใช้ในการแกะสลักทำหีบใส่ของที่ป้องกันแมลงเครื่องเรือนไม้บุผนังที่สวยงาม 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง