Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: อัคคีทวาร

ชื่อท้องถิ่น: หลัวสามเกียน (เชียงใหม่)/ แข้งม้า (เชียงราย)/ พรายสะเลียง สะเม่าใหญ่ (นครราชสีมา)/ หมากดูกแฮ้ง (สกลนคร)/ มักแค้งข่า (ปราจีนบุรี)/ อัคคี (สุราษฎร์ธานี)/ ตั่งต่อ ปอสามเกี๋ยน สามสุม (ภาคเหนือ)/ ตรีชวา อัคคี (ภาคกลาง)/ พายสะเมา (วาริชภูมิ)/ ควีโดเยาะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) ผักห้าส้วย (ไทใหญ่)/ ลำกร้อล (ลั้วะ)/ ซานไถหงฮวา ซานตุ้ยเจี่ย (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.

ชื่อวงศ์: LAMIACEAE- LABIATAE

สกุล: Rotheca 

สปีชีส์: serrata

ชื่อพ้อง: 

-Clerodendrum bracteosum Kostel.

-Clerodendrum cuneatum Turcz.

-Clerodendrum divaricatum Jack

-Clerodendrum grandifolium Salisb.

-Clerodendrum hexangulare D.Baro & Borthakur

-Clerodendrum javanicum Walp.

-Clerodendrum macrophyllum Sims

-Clerodendrum ornatum Wall.

-Clerodendrum serratum (L.) Moon

-Clerodendrum serratum var. herbaceum (Roxb. ex Schauer) C.Y.Wu

-Clerodendrum serratum f. lacteum Moldenke

-Clerodendrum serratum var. nepalense Moldenke

-Clerodendrum serratum var. obovatum Moldenke

-Clerodendrum serratum var. pilosum Moldenke

-Clerodendrum serratum var. pubescens Moldenke

-Clerodendrum ternifolium D.Don

-Clerodendrum trifoliatum Steud.

-Clerodendrum vanprukii Craib

-Cyclonema serratum (L.) Hochst.

-Ovieda bracteosa (Kostel.) Baill.

-Rotheca bicolor Raf.

-Rotheca serrata var. nepalense (Moldenke) V.S.Kumar

-Rotheca serrata var. pubescens (Moldenke) Pull., Moulali & Sandhyar.

-Rotheca ternifolia Raf.

-Rotheca vanprukii (Craib) Leerat. & Chantar.

-Volkameria herbacea Roxb.

-Volkameria serrata L.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นอัคคีทวาร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงและจะแยกเป็นช่อ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนเป็นเหลี่ยม เปลือกมีรูสีขาวและมีขนปกคลุม 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันหรือเรียงซ้อนกันเป็นวง ใบแตกตามข้อ ไม่มีก้านใบ ในแต่ละข้อส่วนมากจะออกเป็น 3 ใบวงเป็นรอบกัน บางข้อมีใบประมาณ 3-4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบสอบหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยช่วงกลางขอบใบไปจนถึงปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-28 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า บ้างว่าทั้งใบมีขนปกคลุม เส้นกลางใบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีม่วง ก้านใบสั้น

ดอก ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงอ่อนเข้ม สีม่วงอ่อนอมสีฟ้า หรือสีชมพูอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปทรงกระบอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบดอกแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ดอกมีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม มีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่กลับ 2 ใบหุ้มอยู่ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก สีชมพูอ่อน ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก และใต้เกสรมีขนปกคลุม

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดอัคคีทวารเป็นรูปกลมรี

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เปิดและค่อนข้างชื้น ที่ระดับความสูงจาดระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร

ถิ่นกำเนิด: อนุทวีปอินเดียไปจนถึง จีนตอนใต้ และมาเลเซียตะวันตก

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, บอร์เนียว, กัมพูชา, จีนตอนกลาง-ตอนใต้, จีนตะวันออกเฉียงใต้, เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก, อินเดีย, จาวา, ลาว, มาลายา, พม่า, เนปาล, ปากีสถาน, ศรีลังกา, สุมาตรา, ไทย, ทิเบต, เวียดนาม, หิมาลัยตะวันตก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้น รสจืดขื่น สรรพคุณ ขับปัสสาวะ

*ใบ รสขื่นเบื่อ สรรพคุณ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้กลากเกลื้อน

*ผลสุก รสเปรี้ยวขื่น สรรพคุณ แก้ไอ แก้เยื่อตาอักเสบ

*รากและต้น รสฝาดเบื่อเย็น สรรพคุณ ฝนทาแก้เกลื้อน ทำให้หัวริดสีดวงทวารเล็กลง

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารที่พบ ได้แก่ Glucorin, Oleanolic acid, Queretaroic, Serratagenic acid เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งฮีสตามีน เมื่อนำสารที่สกัดได้จากทั้งต้นอัคคีทวารมาฉีดให้หนูทดลอง ในปริมาณ 20 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม โดยฉีดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 20 วัน พบว่าสามารถช่วยป้องกันอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากโปรตีนไข่ขาวได้

-เมื่อนำน้ำที่สกัดได้นำมาให้หนูทดลองหรือสุนัขทดลอง พบว่าสามารถยับยั้งฮีสตามีนที่ทำให้ลำไส้ของสัตว์ทดลองบีบตัวได้

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ยาแก้ไอ ใช้ผล มีรสเปรี้ยวขื่นร้อน นำมาเคี้ยวค่อย ๆ กลืนเอาน้ำเป็นยาแก้ไอ 

-ยาแก้ไข้ป่า ใช้ลำต้นเฝานป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้ง ใช้ต้มกับน้ำกิน

-ยาแก้ไข้จับสั่น ใช้ต้นอัคคีทวารสด 35 กรัม, เมล็ดพริกไทย 5 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 5 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินก่อนเกิดอาการไข้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจากการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดี แต่ในขณะที่ทำการรักษาไม่ควรรับประทานส้มหรือของที่มีรสเปรี้ยว รวมไปถึงของที่มีกลิ่นคาว และห้ามรับประทานถั่ว

-ยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน ใช้รากอัคคีทวารนำมาต้มผสมกับขิงและลูกผักชี ใช้กินเป็นยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน 

-ยาแก้ปวดท้อง ใช้ลำต้นมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำกิน

-ยาขับปัสสาวะ ใช้แก่นหรือเนื้อไม้ก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน โดยชาวบ้านจะนิยมฝานลำต้นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้งใช้ต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว 

-ยาแก้กระดูกร้าว กระดูกแตก ใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการ

-ยารักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้รากหรือต้นยาวประมาณ 1-2 องคุลี นำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ใช้ทาริดสีดวง เป็นยาเกลื่อนหัวริดสีดวงทวาร หรือจะใช้ใบอัคคีทวารประมาณ 10-20 ใบ นำมาตากแห้ง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็ดเม็ดขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุกวัน ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน ส่วนอีกวิธีนั้นให้ใช้ใบแห้งนำมาบดหรือป่นให้เป็นผง โรคในถ่ายไฟ เผาเอาควันใช้รมหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ก็จะช่วยทำให้หัวริดสีดวงทวารยุบฝ่อได้ 

-โรคกลากเกลื้อน โรคเรื้อนได้ ใช้ใบสดหรือต้นสดตำพอกแก้โรคผิวหนัง 

-อาการปวดเมื่อย ใช้ทั้งต้นต้มให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรดื่ม หรือนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการปวดเมื่อย

-อาการเยื่อตาอักเสบ ใช้ผลสุกหรือดิบนำมาเคี้ยวค่อย ๆ กลืนน้ำกิน 

-อาการปวดศีรษะ ใช้ใบสดมีรสขื่นร้อน ใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะเรื้อรัง

-ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ใช้ใบสดนำมาโขลกเอาน้ำกินสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูก เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ดีขึ้นและแก้อักเสบ

-ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนและดอกนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปลวกแล้วนำไปยำ หรือใช้ประกอบอาหาร เช่น แกง หรือผัด เป็นต้น

-ชาวอีสานจะนำช่อดอกของต้นอัคคีทวารมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุปหน่อไม้ แกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากอัคคีทวารมีดอกที่สวยงาม และยังมีสรรพคุณทางยา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง