Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: โสน

ชื่อท้องถิ่น: ผักฮองแฮง (ภาคเหนือ)/ โสนกินดอก โสนหิน โสนดอกเหลือง (ภาคกลาง)/ สี่ปรีหลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: Sesbania, Sesbanea pea, Sesbania flowers

ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesbania javanica Miq.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย FABOIDEAE-PAPILIONOIDEAE-PAPILIONACEAE

สกุล: Sesbania 

สปีชีส์: javanica

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นโสน เป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุ 1 ปี มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ เป็นเหลี่ยมหรือมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้อ่อนและกลวง 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับบนลำต้น แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 10-30 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1.2-2.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ที่โคนก้านใบมีหนามแหลมยาว 2 อัน

ดอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหรือเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกย่อยประมาณ 5-12 ดอกต่อช่อ ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งกลีบด้านนอกมีจุดกระสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงกระจายทั่วไป กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว โคนกลีบเชื่อมติดกัน

ผล ลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็ก ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล พอฝักแก่จะแตกออกเองตามขวางของฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดเรียงอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นมันเงาสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 0.05 เซนติเมตร เมื่อต้นโสนออกดอกและติดเมล็ดแล้วต้นโสนจะค่อย ๆ แห้งเหี่ยวและตายไปในที่สุด

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมักพบขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำขัง แถบลุ่มน้ำ ริมทาง ริมหนองน้ำ คลองบึง หรือลำประดง

ถิ่นกำเนิด: เอเชียจากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบสด รสเย็นมัน สรรพคุณ พอกแก้ปวดฝี ถอนพิษเจ็บปวด

*ใบแห้ง เผาแช่น้ำ รสจืด สรรพคุณ ขับปัสสาวะ

*ดอก รสมัน สรรพคุณ สมานลำไส้

*ราก รสเย็น สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้กระหายน้ำ

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทิน ไกลโคไซด์ (Quercetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ โดยมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารชนิดนี้พบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) ช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยระงับการอักเสบ และช่วยป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ยาพอกแผล ใช้ใบ หรือดอกตำเป็นยาพอกแผล 

-ยาพอกแก้ปวดฝี ใบโสนมีรสจืดเย็น นำมาตำผสมกับดินประสิวและดินสอพอง ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดฝี ช่วยถอนพิษ 

-พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ดอกตำเป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย 

-ดอก อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและสมอง มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิต มีวิตามินเอที่ช่วยต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 และวิตามินซี อีกพอสมควร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 38 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.9 กรัม, โปรตีน 2.5 กรัม, ใยอาหาร 2.2 กรัม, ความชื้น 87.7 กรัม, วิตามินเอ 3,338 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.26 มิลลิกรัม, วิตามินซี 51 มิลลิกรัม แคลเซียม 62 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.1 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม 

-ดอก มีรสออกหวานเล็กน้อย นิยมใช้รับประทานเป็นผักหรือนำมาใช้ประกอบหรือทำอาหารคาวหวานรับประทาน เมนูดอกโสน ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ดอกโสนผัด ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ดอกโสนผัดไข่ ไข่เจียวดอกโสน ดอกโสนลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิกินกับปลาทู ดอกโสนจิ้มน้ำพริกมะนาว ดอกโสนชุบแป้งทอดกรอบกินกับขนมจีนน้ำพริก ยำดอกโสน ดอกโสนดองน้ำเกลือ แกงส้มดอกโสนกับปลาช่อน ดอกโสนแกงใส่ไข่มดแดง หรือแกงเผ็ดอะไรก็ได้ใส่ดอกโสน แต่ถ้าใช้ประกอบอาหารหวานก็จะมีข้าวเหนียวมูนดอกโสน ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย เป็นต้น

-ดอก ใช้แต่งสีอาหารได้อีกด้วย โดยจะให้สีเหลือง ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ (caiotenoid) โดยวิธีการเตรียมสีเหลืองจากดอกโสน ก็ให้นำดอกโสนสดที่ล้างสะอาดแล้วมาบดหรือโม่ผสมกับแป้งที่จะใช้ทำขนม จะทำให้ได้แป้งสีเหลืองที่มีกลิ่นหอม แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปใช้ทำขนมต่าง ๆ

-ใบและดอก นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ชาดอกโสน และชาจากยอดใบโสน เนื่องจากดอกโสนมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เมื่อนำมาทำชา ก็ได้ชาที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ให้รสชาติอ่อนนุ่ม 

-เนื้อไม้ นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง โดยไม้โสนจะใช้ทำเป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่โบราณ 

-เยื่อไม้ ที่มีลักษณะเบาบาง และเหนียว นำมาประดิษฐ์ทำเป็นดอกไม้ได้อย่างประณีตและงดงาม 

-โสน เป็นพืชตระกูลถั่วที่รากสามารถตรึงไนโตรเจนไว้ได้ และลำต้น ใบ ดอก ยังมีธาตุอาหารหลายชนิด จึงนิยมปลูกสำหรับไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินให้แก่พืช

-ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อาทิ นำมาต้มรวมกับข้าวสำหรับเลี้ยงหมู

-ลำต้น นำมาตากแห้ง และบดด้วยเครื่อง ก่อนอัดเป็นแท่งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง