Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ว่านน้ำ

ชื่อท้องถิ่น: ว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา (เชียงใหม่)/ ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี)/ กะส้มชื่น คาเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวบ้าน ฮางคาวน้ำ (ภาคเหนือ)/ ทิสีปุตอ เหล่อโบ่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ แป๊ะอะ (ม้ง)/ ช่านโฟ้ว (เมี่ยน)/ สำบู่ (ปะหล่อง)/ จะเคออ้ม ตะไคร้น้ำ (ขมุ)/ แปะเชียง (จีนแต้จิ๋ว)/ สุ่ยชังฝู ไป๋ชัง (จีนกลาง) เป็นต้น

ชื่อสามัญ: Calamus, Calamus Flargoot, Flag Root, Mytle Grass, Myrtle sedge, Sweet Flag, Sweetflag, Sweet Sedge

ชื่อวิทยาศาสตร์: Acorus calamus L.

ชื่อวงศ์: ACORACEAE

สกุล: Acorus 

สปีชีส์: calamus

ชื่อพ้อง: Calamus aromaticus Garsault

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นว่านน้ำ เป็นม้ขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร และมีเหง้าเจริญไปตามยาวขนานกับพื้นดิน เหง้าเป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อ ๆ มองเห็นชัด ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาวติดอยู่ทั่วไป พันรุงรังไปตามข้อปล้องของเหง้า เนื้อภายในเป็นสีเนื้อแก่ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุนและขม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร


ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันซ้ายขวาแบบทแยงกัน ใบแตกออกมาจากเหง้าเป็นเส้นตรงและยาว ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวแหลม ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 80-110 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบได้ชัดเจน


ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อ แทงออกมาจากเหง้า ลักษณะของดอกเป็นแท่งทรงกระบอก เป็นสีเหลืองออกเขียว ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งประกอบไปด้วยดอกย่อยเรียงตัวติดกันแน่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปกลม ปลายกลีบโค้งงอ มีกายใบห่อหุ้ม 1 ใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีกาบใบหุ้ม ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน เกสรเพศผู้มีประมาณ 6 อัน ก้านเกสรเพศเป็นสีขาว เป็นเส้นแบนยาว และมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน มีรังไข่ลักษณะกลมยาวหรือเป็นรูปกรวย


ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย  

ผล ลักษณะผลเป็นผลสดขนาดเล็ก ผลมี 2-3 เซลล์ ลักษณะคล้ายลูกข่างหรือปริซึม ปลายบนคล้ายพีรามิด ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นเองตามบริเวณริมหนองน้ำ สระ บ่อ คูคลอง ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น

ถิ่นกำเนิด: เอเชีย, อเมริกาเหนือ

การกระจายพันธุ์: -

ว่านน้ำ thai-herbs.thdata.co | ว่านน้ำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยแยกหน่อ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เหง้า หรือ ราก รสร้อนกลิ่นหอมแรง สรรพคุณ แก้บิด แก้ปวดท้อง แน่นจุกเสียด แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ฝนกับสุราทาหน้าอกเด็ก แก้ปวดและหลอดลมอักเสบ

*ใบ รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ แก้ปวดศีรษะ

*หัว น้ำมันที่ได้จากหัว ขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้โรคกระเพาะอาหาร

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดจตุกาลธาตุ” ได้แก่ เหง้าว่านน้ำ รากแคแตร รากนมสวรรค์ และรากเจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณ เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้ลม แก้โลหิตในท้อง แก้อาการจุกเสียด

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ว่านน้ำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของว่านน้ำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ 

2.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของว่านน้ำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ระดูที่มาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และช่วยขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังการคลอดบุตร 

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เหง้า พบน้ำมันระเหยประมาณ 3.58-7.8% และในน้ำมันระเหยพบสาร เช่น Asarone, Asaryl aldehyde, Acorone, Acoroxide, Acorin, Azulene, Calamene, Calamendiol, Calamenone, Calamone, Calamol, Calameone, Camphor, Cis-methylisoeugenol, Cineole, Eugenol, Linalool, Methyl eugenol, Pinene, และยังพบสาร Calacone, Acorenone, Shyobunone, Tannin, แคลเซียม, โพแทสเซียม, และวิตามินซี และยังมีสารในกลุ่ม Sesquiterpene ที่ประกอบไปด้วย Acoragermacrone, Acolamone, Isoacolamone เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์สงบประสาท บรรเทาอาการปวด อาการชัก น้ำมันระเหยจากเหง้าว่านน้ำและน้ำสกัด มีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของหนูเล็กสีขาวทดลอง นอกจากนี้น้ำมันระเหยจากเหง้าว่านน้ำยังเสริมฤทธิ์ของรีเซอปีน ในการลดพิษของแอมเฟตตามีน (Amphetamine) ในหนูเล็กทดลองได้ และยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและป้องกันอาการชักของหนูใหญ่ทดลอง ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าก็มีฤทธิ์คล้ายกัน สามารถเพิ่มฤทธิ์ของยาชาเฉพาะได้ และสามารถช่วยลดพิษของแอมเฟตตามีน (Amphetamine) ในกลุ่มหนูเล็กทดลองได้

-ฤทธิ์ต่อระบบการหมุนเวียนของเลือด น้ำมันระเหยและสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ และด้วยน้ำจากเหง้า มีฤทธิ์ลดความดันเลือดของสัตว์ทดลองที่ทำให้สลบได้ อซาโรนและเบต้าอซาโรน มีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ในระดับปานกลาง นอจากนี้น้ำที่สกัดจากเหง้าว่านน้ำ อซาโรนและเบต้าอซาโรน จะลดการเต้นของหัวใจ น้ำมันระเหยสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจกบ และสุนัข และยังต้านฤทธิ์ของอะซีติลโคลีนและอะโคนิตีน ที่ทำให้เกิด Auricular fibrillation และการเต้นที่ไม่เป็นจังหวะของหัวใจ ที่เกิดจากการผูกเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจของสุนัข และยังมีผลต่อหัวใจของแมว โดยจะมีคลื่นไฟฟ้าคล้ายกับที่เกิดเนื่องจากควินิดิน

-ฤทธิ์แก้อาการไอและขับเสมหะ น้ำมันระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ระงับอาการไอที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในหนูใหญ่ทดลองอย่างได้ผล แสดงว่าน้ำมันระเหยนี้มีฤทธิ์ขับเสมหะด้วย น้ำมันระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ ยับยั้งอาการหอบหืดในสัตว์ทดลองได้

-ฤทธิ์ต่อระบบย่อยอาหาร น้ำคั้นจากเหง้าสด มีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น และยังทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น ทำให้รู้สึกอยากอาหาร ใช้เป็นยาเจริญอาหารได้ นอกจากนี้น้ำมันระเหยในขนาดน้อย ๆ ยังมีฤทธิ์ช่วยขับลมได้อีกด้วย

-ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ น้ำที่ต้มได้จากว่านน้ำมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะและลำไส้ได้ จึงใช้เป็นยาแก้ปวดท้องได้ดี

-ฤทธิ์การรักษาอาการชัก น้ำมันระเหยและอซาโรนมีฤทธิ์ต่อลำไส้ที่แยกออกมาจากตัว มดลูก หลอดลม และหลอดเลือดของกระต่าย และยังมีผลในการยับยั้งการหดตัวที่เกิดจากฮีสตามีนและอะซีติลโคลีนได้ โดยจะมีฤทธิ์คล้ายกับปาปาเวอรีน ซึ่งจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ฤทธิ์ดังกล่าวจะอ่อนกว่าปาปาเวอรีน

-ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองหาสาร F-3 Fraction ในเหง้าว่านนน้ำ โดยทำการทดลองกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยให้สารสกัดจากว่านน้ำในขนาด 10, 20, 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยการตรวจหา Aproprotein A1, B โดยใช้ Immunoturbidimetric ในการสังเคราะห์ ซึ่งสาร F-3 Fraction เป็นสารที่มีบทบาทต่อการสร้าง HMG-CoA reductase ซึ่งมีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง ผลจากการทดลองพบว่า ขนาดของสารสกัดจากว่านน้ำ ที่ 20 และ 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้ระดับไขมันในเอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

-ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมัน สารสกัด β-asarone สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ 3T3-L1 preadipocyte ไปเป็นเซลล์ไขมันได้ และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ได้แก่ C/EBPβ C/EBPα และ PPARs ก็มีการแสดงออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสารสกัด β-asarone ในน้ำมันจากต้นว่านน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมัน ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านการลดความอ้วนได้ต่อไป

-น้ำมันระเหยและสารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ที่ได้จากเหง้าว่านน้ำ และอซาโรน มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิของสัตว์ดลอง นอกจากนี้น้ำมันระเหยยังสามารถยับยั้งสาร monoamine oxidase ได้ด้วย และยังไปเสริมฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคได้อีกหลายชนิด รวมไปถึงยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคได้ ส่วนสารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าว่านน้ำจะสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ และยังพบว่าสามารถใช้เป็นยาขับพยาธิและฆ่าพยาธิได้ด้วย

-ส่วนฤทธิ์อื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง กดหัวใจ ขยายหลอดลม แก้แพ้ ลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล ละลายไฟบริน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ต้านเชื้อบิดมีตัว เชื้อรา ฆ่าแมลง ฆ่าพยาธิตัวกลม แก้ปวด ลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอุณหภูมิในร่างกาย รักษาแผล เป็นพิษต่อตับ ก่อมะเร็ง เป็นพิษทั่วไป เป็นพิษต่อเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

- การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจพบไม่อาการเป็นพิษ  (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลันของเหง้าว่านน้ำสกัดจาก 50% เอทานอล การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร โดยสังเกตลักษณะพฤติกรรม และอัตราการตายภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาว จะประเมินการตาย น้ำหนักร่างกาย การตรวจทางโลหิตวิทยา การตรวจทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงทางจุลพยาธิวิทยา ผลการวิจัยพบว่าการให้สารสกัดว่านน้ำทางปากครั้งเดียวในขนาด 2,500-10,000 mg/kg จะชักนำให้เกิดความผิดปกติของพฤติกรรมในหนู และอัตราการตายจะเพิ่มขึ้นเมื่อให้สารสกัดว่านน้ำในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น (LD50 = 5,070.59 mg/kg) เมื่อให้สารสกัดว่านน้ำทุกวันทางปาก วันละ 1 ครั้ง ในขนาด 200, 500 และ 1,000 mg/kg เป็นเวลา 28 วัน ในหนูแต่ละกลุ่ม พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อร่างกาย และน้ำหนักของหนูทดลอง แต่พบว่ามีปริมาณของเอนไซม์ตับ ได้แก่ alanine transaminase (ALT), aspartate transaminase (AST) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อให้สารสกัดในขนาด 1,000 mg/kg พบลักษณะเนื้อเยื่อตับเปลี่ยนแปลงซึ่งแสดงถึงความเป็นพิษต่อตับ (Muthuraman and Singh, 2012)

การใช้ประโยชน์:

-โรคบิด บิดในเด็ก (มูกเลือด)ท้องเสีย ใช้เหง้าแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ใช้รับประทานกับน้ำต้มสุก (ที่ทิ้งไว้จนเย็นแล้ว) วันละ 2 เวลา

-โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง ใช้เหง้าผสมกับชุมเห็ดเทศ ใช้ทาบิเวณที่มีอาการ

-อาการลำไส้อักเสบ และโรคบิดแบคทีเรีย ใช้รากสด นำมาหั่นให้เป็นแผ่น แล้วนำไปตากแห้ง บดให้เป็นผงและบรรจุแคปซูลประมาณ 0.3 กรัม ใช้กินกับน้ำอุ่น แต่ถ้าใช้ต้มกินจะมีอาการอึดอัดไม่สบายใจ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร

-อาการปวดศีรษะ ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำใช้สุมหัวเด็ก จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ

-อาการปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ ใช้เหง้าตำพอกบริเวณที่มีอาการ

-อาการปวดฟัน เลือดออกตามไรฟันใ ช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา 

-อาการไอ ใช้ว่านน้ำแห้งชิ้นเล็ก ๆ นำมาอมเป็นยาแก้ไอ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมระเหยเวลาหายใจอีกด้วย 

-ช่วยบำรุงธาตุ ยาหอม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุน้ำ ใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเย็น ติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ 

-ช่วยขับลมในท้อง แก้ลมขึ้น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ใช้เหง้าประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ด้วยการใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, หัวแห้วหมู 15 กรัม, เมล็ดแก่ของหัวผักกาดขาว 10 กรัม และซิ่งเข็ก 10กรัม นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มดื่ม 

-ช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้เหง้าแห้งประมาณ 1-3 กรัม ช่วยบำรุงหัวใจ

-ช่วยระงับประสาท สงบประสาท แก้อาการสะลึมสะลือ มึนงง รักษาอาการลืมง่าย ตกใจง่าย หรือมีอาการตื่นเต้นตกใจกลัวจนสั่น จิตใจปั่นป่วน ใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, เอี่ยงจี่ 10 กรัม, หกเหล้ง 10 กรัม, เหล่งกุก 10 กรัม, และกระดองส่วนท้องของเต่า 15 กรัม ใช้แบ่งกินครั้งละประมาณ 3-5 กรัม วันละ 3 เวลา

-ช่วยขับพยาธิ ใช้เหง้าแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาบดให้เป็นผงบรรจุในแคปซูลรับประทาน

-ชาวม้งจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด และหญ้างวงช้าง เป็นยาแก้ปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ

-ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน จะใช้ช่อดอกและยอดอ่อน นำมารับประทานสดเพื่อรักษาอาการหวัด 

-ชาวปะหล่องจะรากและเหง้า จิ้มกับเกลือใช้รับปะทานสดเพื่อรักษาอาการปวดท้อง หรือนำมาซอยบาง ๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงใช้ร่วมกับปูเลย นำมากินแล้วดื่มน้ำตาม จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

-ชาวปะหล่องจะใช้รากนำมาเป่าคาถา แล้วนำไปถูกตัวผู้ที่โดนผีเข้า เพื่อไล่ผี และใช้เป็นยาประจำบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไป

-ชาวขมุจะใช้ทั้งต้นนำต้มดื่มแก้อาการปวดเมื่อย

-ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดที่อยู่ไฟอาบ 

-ชาวอินเดียจะฉีดรากเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาเคี้ยวประมาณ 2-3 นาที เป็นยาแก้หวัดและเจ็บคอ 

-เหง้าว่านน้ำสามารถนำมาใช้ไล่ยุงและแมลง ช่วยป้องกันแมลงมากัดกินข้าว และเสื้อผ้าได้ และยังนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรอบ ๆ ต้นไม้ที่ปลูก เพื่อเป็นยาฆ่าปลวกที่ผิวดินและป้องกันต้นไม้ สำหรับสูตรไล่ยุง ให้ใช้เหง้าสดนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โขลกผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 แล้วกรองเอาแต่ส่วนที่เป็นน้ำมาใช้ทาผิวหนัง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง