Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หางกราย

ชื่อท้องถิ่น: กราย หางกราย หนามกราย (ไทยภาคกลาง)/ แนอาม ตานแดง หนองมึงโจ้ แสมดำ ขี้อ้ายคำเจ้า ปู่เจ้าหามก๋าย, พระเจ้าหอมก๋าย สลิง กราย หามก๋าย (ภาคเหนือ)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia nigrovenulosa Pierre ex Laness

ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

สกุล: Terminalia

สปีชีส์: nigrovenulosa

ชื่อพ้อง:

-Terminalia hainanensis Exell.

-Terminalia obliqua Craib.

-Terminalia triptera Stap.

-Terminalia tripteroides Craib

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

      ต้นหางกราย เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-25 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ส่วนโคนต้นที่มีพูพอนขนาดเล็ก มักมีกิ่งย่อยรอบ ๆ ลำต้นทางด้านล่าง และจะร่วงโรยไปเมื่อแก่ เมื่อสับจะมียางสีแดงส้มชัดเจน เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา และมีรอยแตกตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม

      ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือออกเกือบตรงกันข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมหนึ่งคู่ที่บริเวณขอบใบเยื้องกับโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใบอ่อนปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลหนาอ่อนหนาแน่น และจะร่วงไปเมื่อใบมีอายุมากขึ้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-10 เส้น ใบแก่ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง ก้านใบมีขนาดเล็กเรียวและยาวได้ประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร

      ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออก 3-6 ช่อ ตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ขนาดยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แกนกลางช่อมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกย่อยช่อเชิงลดยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 4-5 ดอก ดอกเป็นสีขาวอมเหลืองขนาดเล็กมากและมีกลิ่นหอม มีใบประดับเป็นรูปเส้นด้าย ยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉกรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกไม่มี ด้านในมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง อับเรณูติดไหวได้ จานฐานดอกขอบหยักมน มีขนยาวหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีช่อง 1 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2-3 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร

      ผล ลักษณะเป็นผลแบบผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ขอบขนาน หรือเบี้ยว ผลมีปีก 3 ปีก ปีกบาง แต่ละปีกทำมุมเกือบเท่ากัน สีน้ำตาลอ่อน ผิวเกลี้ยง เปลือกผลเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะไม่แตกออก ขนาดของผลรวมทั้งปีกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีขาว มีลักษณะเป็นรูปรี

สภาพนิเวศวิทยา: พบในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพ ป่าดงดิบแล้งบนเขาหินทรายและหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร

ถิ่นกำเนิด: เขตร้อน

การกระจายพันธุ์: อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และในคาบสมุทรมลายู ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพ ป่าดงดิบแล้งบนเขาหินทรายและหินปูน

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

      *ลูก รสฝาด สรรพคุณ แก้บิดอุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ท้องเดินอย่างแรง

*เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ กล่อมเสมหะทำให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง คุมธาตุ

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: -

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-เปลือกต้น มีรสฝาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้กินกับหมากแทนสีเสียดได้

-เยื่อหุ้มเมล็ด มีรสหวาน ใช้รับประทานได้

-เปลือกต้น ใช้เป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลือง

-น้ำยาง ใช้หยอดประทานด้ามมีดแทนครั่ง

-เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้อแข็ง ค่อนข้างหนัก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ต่อเรือ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรมได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง