Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะตูม

ชื่อท้องถิ่น: มะตูม (กลาง)/ มะปิน(เหนือ)/ กะทันตาเถร (ปัตตานี)/ ตูม(ใต้)/ บักตูม(อีสาน)/ ตุ่มตัง (ปัตตานี)/ พะโนงค์ (เขมร)/ มะปีส่า (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ชื่อสามัญ: Beal

ชื่อวิทยาศาสตร์: Aegle marmelos (L.) Corrêa

ชื่อวงศ์: RUTACEAE

สกุล: Aegle 

สปีชีส์: marmelos

ชื่อพ้อง: 

-Crateva marmelos L.

-Crateva religiosa Ainslie

-Aegle marmelos var. mahurensis Zate

-Belou marmelos (L.) Lyons

-Bilacus marmelos (L.) Kuntze

-Feronia pellucida Roth

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นมะตูม ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆตามยาว เนื้อไม้แข็ง มีสีขาวแกมเหลือง และมีกลิ่นหอม โคนต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ยาว แข็ง ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่ง

ใบ เป็นใบประกอบแบบมีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 1-7 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร สองใบล่างมีขนาดเล็กและติดตรงข้ามกัน ใบปลายมีขนาดใหญ่ ปลายใบสอบ โคนใบแหลม ขอบใบเรียบหรือมีหยักมนๆ แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีชมพู มีขนละเอียด ใบแก่สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง เส้นใบข้าง 4-12 คู่ จรดกันที่ขอบใบ นูนขึ้นด้านบน ก้านใบย่อยที่ปลายยาว 0.5-3 เซนติเมตร 


มะตูม thai-herbs.thdata.co | มะตูม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ดอกสีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมักออกพร้อมกับใบอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกขนาด 6-8 มม. รูปไข่กลับ โคนติดกัน ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้มี 65-70 อัน อับเรณูสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรตัวเมียสั้น รังไข่สีเขียวสด หมอนรองดอกเห็นไม่ชัดเจน กลีบฐานดอกกางแผ่เป็นรูปดาวมี 4-5 แฉกแหลมๆ กลีบเลี้ยงแบนมี 4-5 พู  ก้านดอกมีขนอ่อนปกคลุม 


มะตูม thai-herbs.thdata.co | มะตูม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะรูปรีกลมหรือรียาว ขนาดกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็งมาก ไม่แตก ผลอ่อนมีสีเขียวพอสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีสีเหลือง นิ่ม มีกลิ่นหอม และมีเนื้อเยื่อสีส้มที่มียางเหนียวๆ ภายในมี 8-15 ช่อง เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน จำนวนมาก มียางใสเหนียวหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดรูปรีๆ และแบน มีเส้นขนหนาแน่นปกคลุม 

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าแล้งทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-700 เมตร 

ถิ่นกำเนิด: ชมพูทวีป

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, อินเดีย,ปากีสถาน, เกาะอันดามัน, กัมพูชา, จีนตอนใต้-กลาง, หิมาลายาตะวันออก, ลาว, ซุนดา, เมียนมาร์, ศรีลังกา, สุลาเวสี, ตรินิแดด-โตเบโก, ไทย, เวียดนาม

มะตูม thai-herbs.thdata.co | มะตูม สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสปร่าซ่าชื่นเล็กน้อย สรรพคุณ แก้พิษไข้ แก้สติเผลอ รักษาน้ำดี

*เปลือก  ราก ลำต้น รสปร่าซ่าขื่น สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้

*ใบสด รสปร่าซ่าขื่น สรรพคุณ คั้นเอาน้ำรับประทาน แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม แก้เยื่อตาอักเสบ

*ผลอ่อน ชนิดเปลือกลูกแข็ง  หั่นตากแดดปรุงเป็นยาธาตุ สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ

*ผลสุก รับประทานเป็นยาช่วยย่อยอาหาร ระบายท้อง แก้โรคไฟธาตุอ่อน บิด ท้องเสีย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีสินธุรส” ได้แก่ รากมะตูม เทียนขาว น้ำตาลกรวด สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษไข้พิษฝี แก้ดีพิการ แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ

2.“พิกัดตรีผลสมุฏฐาน” ได้แก่ ลูกมะตูม ลูกยอ ลูกผักชีลา สรรพคุณ แก้สมุฏฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่างๆ แก้อาเจียน แก้โรคไตพิการ

3.“พิกัดเบญจมูลใหญ่” ได้แก่ รากมะตูม รากลำไย รากเพกา รากแคแตร รากคัดลิ้น สรรพคุณ แก้ดี แก้ลม แก้เสมหะ บำรุงไฟธาตุ แก้ไข้สันนิบาต แก้เส้นเอ็นพิการ

4.“พิกัดทศมูลใหญ่” ได้แก่ หญ้าเกล็ดหอยน้อย หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ รากละหุ่งแดง รากมะเขือขื่น รากมะอึก รากมะตูม รากลำไย รากเพกา รากแคแตร รากคัดลิ้น สรรพคุณ แก้ทุราวสา แก้ไข้หวัดน้อย บำรุงน้ำนม แก้ช้ำรั่ว แก้สะอึก แก้ผอมเหลือง แก้ริดสีดวง แก้นิ่ว แก้กองสันนิบาต แก้ไข้อันมีพิษ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เจตมูลเพลิงแดง ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาผสมโคคลาน” มีส่วนประกอบของมะตูมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

2.ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ ปรากฏตำรับ “ยาตรีเกสรมาศ” มีส่วนประกอบของมะตูมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผล ใบ และเมล็ด พบน้ำมันระเหยง่าย และสารอื่นๆ ได้แก่ d-limonene, d-phyllandrene, pyrogallol, gallic acid สารอัลคาลอยด์ ได้แก่ O-methylhalfordinol, marmin, marmelide, aegeline, aegelinol

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ในหนูขาวเพศผู้ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากใบมะตูม โดยกระตุ้นให้หนูเป็นเบาหวานด้วยการให้สาร alloxan จากนั้นป้อนสารสกัดขนาด 500 mg/kgทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ บันทึกผลการทดลอง โดยวัดระดับน้ำตาลกลูโคส และระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ GST (glutathione-S-transferase) ในเลือด, วัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระglutathione (GSH) และ malondialdehyde (MDA) ในเม็ดเลือดแดง ผลการทดสอบพบว่าระดับกลูโคสในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัดพืช) และหนูที่เป็นเบาหวานที่ได้รับสารสกัดพืช เท่ากับ 156.875±49.637และ 96.111±15.568mg/dl (p=0.003) ตามลำดับ  ปริมาณสาร MDA เท่ากับ 20.973±4.233 และ16.228±2.683 nmol/gm Hb(p=0.01) ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์ GSH เท่ากับ 6.766±1.406 และ 14.861±4.946 mg/gm Hb(p=0.0005)ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์GST เท่ากับ18.420±2.046 และ 13.382±1.166µmol/min/dL(p<0.0001) ตามลำดับ เนื่องจากในหนูที่เป็นเบาหวาน จะมีภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress)เกิดขึ้น โดยมีปริมาณสาร MDA เพิ่มขึ้น และ GSH ลดลง การได้รับสารสกัดน้ำจากใบมะตูม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง และพบว่าระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ GSH และ GST เพิ่มขึ้น ปริมาณสาร MDA ที่บ่งบอกภาวะเครียดออกซิเดชันลดลง (Upadhya, et al., 2004)

-ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดสอบการยึดเกาะของนิวโทรฟิล (neutrophil adhesion test) ในสัตว์ทดลอง ของสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูม (ซึ่งเป็นขั้นตอนในการยึดเกาะของเม็ดเลือดขาวก่อนที่จะเคลื่อนตัวผ่านผนังหลอดเลือด และเคลื่อนเข้าหาสิ่งกระตุ้น) โดยการป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูมขนาด 100 หรือ 500 mg/kg แก่หนูขาวแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นเจาะเลือดเพื่อดูผลการยึดเกาะของนิวโทรฟิล ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้งสองขนาด มีผลเพิ่มการยึดเกาะของนิวโทรฟิลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีร้อยละของการยึดเกาะของนิวโทรฟิล ของกลุ่มควบคุม, สารสกัดขนาด 100 และ 500 mg/kg เท่ากับ 4.4±0.6, 45.1±1.2 และ 30.7±2.0% ตามลำดับ แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยส่งเสริมให้การทำงานของนิวโทรฟิล ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีจำนวนมากในร่างกาย ทำหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนในการยึดเกาะของเม็ดเลือดขาวก่อนที่จะเคลื่อนตัวผ่านผนังหลอดเลือด และเคลื่อนเข้าหาสิ่งกระตุ้น โดยสารสกัดขนาด 100 mg/kg ออกฤทธิ์ดีกว่าขนาด 500 mg/kg (Patel, et al., 2010)

-การทดสอบความสามารถในการกำจัดสารคาร์บอน (carbon clearance test) ในสัตว์ทดลองของสารสกัดเมทานอลที่ได้จากผลมะตูม โดยการป้อนสารสกัด ขนาด 100 และ 500 mg/kg แก่หนูถีบจักร เป็นเวลา 10 วัน หลังจากนั้นฉีด Indian ink (สารคอลลอยด์คาร์บอน) แก่หนูในขนาด 0.3 ml ต่อ 30 กรัม ที่เส้นเลือดบริเวณหาง จากนั้นจึงเก็บเลือดเพื่อนำมาหาค่าดัชนีการเก็บกินสิ่งแปลกปลอม หรือฟาโกไซโทซิส (phagocytic index) ผลการทดสอบพบว่าค่าชี้วัดกระบวนการฟาโกไซโทซิสของ สารสกัดทั้ง 2 ขนาด มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีค่า phagocytic index ของกลุ่มควบคุม, สารสกัดขนาด 100 และ 500 mg/kg เท่ากับ 0.0175±0.0018, 0.0423±0.0027, 0.0416±0.0016 ตามลำดับ แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมทำงานได้เพิ่มขึ้น โดยสารสกัดขนาดต่ำ (100 mg/kg) ออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดขนาดสูง (500 mg/kg) (Patel, et al., 2010)

-การทดสอบอัตราการเสียชีวิตของสัตว์ทดลอง (Mice lethality test) โดยดูอัตราการเสียชีวิตของหนูถีบจักรหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียก่อโรค Pasteurella multocida ทดสอบโดยการป้อนสารสกัดเมทานอลที่ได้จากผลมะตูมขนาด 100 mg/kg และ 500 mg/kg แก่หนูเป็นเวลา 21วัน ในระหว่างนั้นมีการให้วัคซีนแก่หนูในวันที่ 7 และ 17 จากนั้นในวันที่ 21 ฉีดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจำนวน 0.2 มิลลิลิตร แก่หนู แล้วสังเกตอัตราการตายเป็นเวลา 72 ชั่วโมง พบว่ามีค่าร้อยละอัตราการเสียชีวิต ของกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัดและวัคซีน, กลุ่มที่ได้รับเฉพาะวัคซีน, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 100 mg/kg และวัคซีน, และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 500 mg/kg และวัคซีน เท่ากับ 100, 83.33, 66.66, และ 66.66% ตามลำดับ สรุปได้ว่าการได้รับสารสกัดทำให้อัตราการตายของหนูลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับเฉพาะวัคซีนแต่ไม่ได้รับสารสกัด แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นการสร้างแอนติบดีเพื่อมาต่อต้านเชื้อโรคได้ จึงทำให้หนูตายลดลง  จากผลการทดสอบทั้งหมดสรุปได้ว่าสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูมมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ทั้ง cellular immunity (กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวและขบวนการฟาโกไซโตซิส) และ humural immunity (กระตุ้นระบบการตอบสนองภูมิคุ้มกันโดยการสร้างแอนติบอดี) (Patel, et al., 2010)

-ฤทธิ์ลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ทำการทดสอบในหนูขาว โดยป้อนสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากที่หนูได้รับกรดอะซิติก (เหนี่ยวนำให้เกิดลำไส้อักเสบ) จากนั้นดูความเสียหายต่อเยื่อเมือกลำไส้ใหญ่ (colonic mucosal damage) รายงานผลเป็นคะแนนความเสียหาย (damage score) ในช่วง 0-10 คะแนน ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มควบคุม (ได้รับเฉพาะกรดอะซิติก) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 400 mg/kg ร่วมกับกรดอะซิติก มีค่าคะแนนความเสียหาย เท่ากับ 5.78±0.22 และ 1.33±0.21 คะแนน ตามลำดับ การได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกทำให้คะแนนความเสียหายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ผลของ adhesions (บ่งบอกถึงภาวะการอักเสบ) รายงานผลในหน่วยร้อยละ พบว่ากลุ่มควบคุม (ได้รับเฉพาะกรดอะซิติก) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 200 mg/kg ร่วมกับกรดอะซิติก มีค่า % adhesionsเท่ากับ 66.7 และ 33.3 % ตามลำดับ จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดจากผลมะตูมมีผลทำให้การอักเสบของลำไส้ใหญ่ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยกรดอะซิก มีการอักเสบลดลงได้ เนื่องจากมีค่าคะแนนความเสียหาย และร้อยละการอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Gautam, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองของสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่พบบริเวณลำไส้ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Shigella sonnei, Shigella boydii และ Shigella flexneri ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดจากผลมะตูมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อทั้ง 4 ชนิดได้ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ต่อเชื้อ E. coli  และS. boydiiเท่ากับ 12.5 mg/ml และมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อ S. sonnei และS. flexneri เท่ากับ 25 mg/ml  (Gautam, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และผลยับยั้งเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส (ลดการอักเสบ) ทดสอบในหนูขาว โดยป้อนสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ขนาด 200 mg/kg แก่หนู วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากที่หนูได้รับกรดอะซิติกแล้ว ผลต่ออนุมูลอิสระ (free-radicals) การได้รับกรดอะซิติก ทำให้เกิดขบวนการออกซิเดชันของไขมัน (lipidperoxidation) และระดับของไนตริกออกไซด์ (NO) เพิ่มขึ้นที่เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นสารที่บ่งบอกภาวะการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่าเมื่อหนูได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของ NO และ lipidperoxidation ลดลงจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับ lipidperoxidation และ NO ของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 10.98±0.77และ 9.95±0.60 nmol/mg proteinตามลำดับ เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกระดับของ NO และ lipidperoxidation ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 7.11±0.61 (p<0.001) และ 4.66±0.34 nmol/mg protein (p<0.001) ตามลำดับ

ผลต่อเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าการได้รับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase (SOD), reduced glutathione (GSH) และ catalase (CAT)  ลดลงจากระดับปกติ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระทั้ง 3 ชนิด เพิ่มขึ้นจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ 3 ชนิด ได้แก่ SOD, GSH และ CATของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 24.8±3.82 mU/mg protein, 7.18±0.63 nmol/mg protein และ 0.96±0.15 mU/mg protein ตามลำดับ เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกระดับของเอนไซม์ทั้งสามชนิด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 180.1±29.8 mU/mg protein (p<0.001), 10.22±0.45 nmol/mg protein (p<0.01) และ1.67±0.11mU/mg protein(p<0.001) ตามลำดับ

ผลการตรวจวัดระดับเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส (myeloperoxidase; MPO) (เป็นเอนไซม์ที่พบในแกรนูลซึ่งอยู่ภายในเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล ใช้บ่งบอกภาวะที่มีการอักเสบ) พบว่าการได้รับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของเอนไซม์ MPO สูงมากขึ้น ผลทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก มีระดับเอนไซม์ MPO ลดลงจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับเอนไซม์ MPO ของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 74.0±3.55 mU/mg protein เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติก ระดับของเอนไซม์ MPO ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 15.6±2.47 mU/mg protein (p<0.001)

โดยสรุปการได้รับสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ทำให้ปริมาณอนุมูลอิสระลดลง ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และระดับเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส ที่บ่งบอกภาวะการอักเสบลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Gautam, et al., 2013)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ศาสนาฮินดู ถือว่าต้นมะตูมเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ 

-คนไทย มีความเชื่อว่าใบมะตูมสามารถนำมาใช้ป้องกันภูตผีปีศาจ เสนียดจัญไรได้




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง