Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สามสิบ (รากสามสิบ)

ชื่อท้องถิ่น: สามร้อยราก (กาญจนบุรี)/ ผักหนาม (นครราชสีมา)/ ผักชีช้าง (หนองคาย)/ จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ)/ เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)/ ชีช้าง ผักชีช้าง จั่นดิน ม้าสามต๋อน สามสิบ ว่านรากสามสิบ ว่านสามสิบ ว่านสามร้อยราก สามร้อยผัว สาวร้อยผัว ศตาวรี (ทั่วไป)

ชื่อสามัญ: Shatavar

ชื่อวิทยาศาสตร์: Asparagus racemosus Willd.

ชื่อวงศ์: ASPARAGACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPARAGOIDEAE

สกุล: Asparagus 

สปีชีส์: racemosus

ชื่อพ้อง: 

-Asparagopsis abyssinica Kunth

-Asparagopsis acerosa Kunth

-Asparagopsis brownei Kunth

-Asparagopsis decaisnei Kunth

-Asparagopsis floribunda Kunth

-Asparagopsis hohenackeri Kunth

-Asparagopsis javanica Kunth

-Asparagopsis retrofracta Schweinf. ex Baker

-Asparagopsis sarmentosa Dalzell & A.Gibson

-Asparagopsis subquadrangularis Kunth

-Asparagus acerosus Roxb.

-Asparagus dubius Decne.

-Asparagus fasciculatus R.Br.

-Asparagus jacquemontii Baker

-Asparagus penduliflorus Zipp. ex Span.

-Asparagus petitianus A.Rich.

-Asparagus stachyoides Spreng. ex Baker

-Asparagus tetragonus Bresler

-Asparagus zeylanicus (Baker) Hook.f.

-Protasparagus acerosus (Kunth) Kamble

-Protasparagus jacquemontii (Baker) Kamble

-Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm.

-Protasparagus racemosus var. javanicus (Kunth) Kamble

-Protasparagus racemosus var. subacerosus (Baker) Kamble

-Protasparagus zeylanicus (Hook.f.) Kamble

-Geitonoplesium scandens Hassk.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

สามสิบ thai-herbs.thdata.co | สามสิบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นรากสามสิบ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม (หนามเปลี่ยนมาจากใบเกล็ดบริเวณข้อ) สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไปได้สูงประมาณ 1.5-4 เมตร แตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่น และเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับ ยาวประมาณ 1-4 มิลลิเมตร บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ และกิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-2.5 มิลลิเมตร ทำหน้าที่แทนใบ มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย ลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว มีขนาดโตกว่าเถามาก 


สามสิบ thai-herbs.thdata.co | สามสิบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว แข็ง ออกรอบข้อเป็นฝอย ๆ เล็กคล้ายหางกระรอก หรือออกเรียงสลับเป็นกระจุก 3-4 ใบ ใบเป็นสีเขียวดก ลักษณะของใบเป็นรูปเข็มขนาดเล็ก ปลายใบแหลม เป็นรูปเคียว โคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-36 มิลลิเมตร แผ่นมักโค้ง สันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน มีหนามที่ซอกกระจุกใบ ก้านใบยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร


สามสิบ thai-herbs.thdata.co | สามสิบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบและข้อเถา ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีประมาณ 12-17 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีกลีบรวม 6 กลีบ แยกเป็น 2 วง วงนอก 3 กลีบ และวงในอีก 3 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ กลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปดอกเข็มยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรผู้เชื่อมและอยู่ตรงข้ามกับกลีบรวม เป็นเส้นเล็ก 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว อับเรณูเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่เป็นรูปไข่กลับ อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด หรือมากกว่า ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉกขนาดเล็ก


สามสิบ thai-herbs.thdata.co | สามสิบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม หรือเป็นพู 3 พู ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็งแต่เปราะ

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าในเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าโปร่งหรือตามเขาหินปูน

ถิ่นกำเนิด: เขตร้อนของแอฟริกาไปจนถึงออสเตรเลียเหนือ

การกระจายพันธุ์: -

สามสิบ thai-herbs.thdata.co | สามสิบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสเย็นหวานชุ่ม สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงตับ ปอด บำรุงเด็กในครรภ์

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารสำคัญที่พบ ได้แก่ asparagamine, cetanoate, daucostirol, sarsasapogenin, shatavarin, racemosol, rutin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มระดับของอินซูลิน จากการศึกษาในหนูแรทโดยใช้สารสกัดจากรากด้วยเอทานอล แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉียบพลันและช่วงยาวต่อเนื่อง โดยการศึกษาในช่วงเฉียบพลันป้อนสารสกัดเอทานอลจากรากสามสิบในขนาด 1.25 กรัมต่อกิโลกรัม ให้กับหนูแรทที่ไม่เป็นเบาหวาน หนูแรทที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 พบว่าไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ช่วยทำให้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของกลูโคส ในนาทีที่ 30 ดีขึ้น ส่วนการศึกษาช่วงยาวต่อเนื่องวันละ 2 ครั้ง นาน 28 วัน ให้กับหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มระดับของอินซูลิน 30%เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับอินซูลินในตับอ่อน และเพิ่มไกลโคเจนที่ตับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเบาหวานควบคุม จึงสรุปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากรากสามสิบน่าจะเป็นผลมาจากการยับยั้งการย่อยและการดูดซึมสารคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

-ฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต ประเทศอินได้ทำการทดลองใช้รากสามสิบกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิด mild hypertension โดยทดลองเปรียบเทียบกับยาลดความดัน (Propranolol) ใช้ระยะเวลาทำการทดลองนาน 3 เดือน ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลง < 90 mm.Hg. และลดไขมันได้ผลดี (1997)

-ฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนของให้เพิ่มการหลั่ง insulin ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วย Streptozotocin ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถกระตุ้นตับอ่อนของหนูให้เพิ่มการหลั่ง insulin ได้ (S. K. Mitra, et al., 1996)

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด ประเทศอินเดียได้ทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan ผลการทดลองพบว่า สารดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดของหนูทดลองได้ (Kishan, A. R., Ajitha M, et al., 1999)

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ที่ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan โดยใช้ขนาดของสารสกัด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำการทดลอง 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้ (Ajit Kas, B. K. Choudhary, et al., 2002)

-ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับผู้ป่วยอายุ 59 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จาก 270-280 mg,/dL. ลดลงเหลือ 120-130 mg./dL. และ HbAic จาก 9 ลดลงเหลือ 5.8 (Saito Chizako, et al., 2005)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-จากการทดสอบความเป็นพิษเมื่อให้หนูถีบจักรกินสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นสามสิบด้วย 50% เอทานอล พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ก่อนเกิดอาการพิษ คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม

การใช้ประโยชน์:

-ยาพื้นบ้าน ใช้ทั้งต้นหรือราก ต้มน้ำดื่ม แก้ตกเลือด และโรคคอพอก ราก มีรสเฝื่อนเย็น กินเป็นยาแก้พิษร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดเมื่อย ครั่นตัว ฝนทาแก้พิษแมลงป่องกัดต่อย แก้ปวดฝี ทำให้เย็น ถอนพิษฝี พิษปวดแสบปวดร้อน ช่วยบำรุงเด็กในครรภ์ บำรุงตับ ปอด บำรุงกำลัง ผสมกับเหง้าขิงป่า และต้นจันทน์แดงผสมเหล้าโรงใช้เป็นยาแก้วิงเวียน ทั้งต้นหรือราก ต้มน้ำดื่ม แก้ตกเลือด และโรคคอพอก ผล มีรสเย็น ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับ ไข้ซ้ำ มักใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง

-ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร

-ตำรับของอินเดีย ใช้ผงรากสามสิบแห้ง 1 ช้อนชา รับประทานกับน้ำผึ้ง วันละ 2-3 เวลา หลังอาหาร รักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบ

-ตำรับของอินเดีย ใช้รากสดคั้นเอาน้ำ ปริมาณ 4 ช้อนชา กินกับน้ำผึ้ง วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร ครึ่งชั่วโมง รักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ

-ตำรับของอินเดีย ใช้รากสดคั้นเอาน้ำน้ำคั้นรากสด 6 ช้อนชา กินวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ท้องว่าง ต่อเนื่อง 10 วัน รักษาอาการตกขาว

-ในประเทศอินเดีย ใช้ราก เป็นยากระตุ้นประสาท หรือยาชูกำลัง บรรเทาอาการระคายเคือง ขับปัสสาวะ และรักษาโรคท้องเสีย

-ราก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้รากมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้เพิ่มการหลั่งสาร insulin 

-ผลอ่อน สามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาทำเป็นแกงลูกสามสิบ

-ราก  สามารถนำมาต้ม เชื่อม หรือนำมาแช่อิ่ม ใช้รับประทานเป็นอาหาร กรอบดีมาก หรือนำมาทำเป็นน้ำรากสามสิบ

-ราก สามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำ ทำเป็นน้ำสบู่สำหรับซักเสื้อผ้า

-ภาคอีสานจะนำยอดมาลวกรับประทานเป็นผักเคียง ใช้รับประทานสด หรือนำมาผัด

-ภาคใต้จะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง