Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ซาก

ชื่อท้องถิ่น: ผักฮาก (ภาคเหนือ)/ ชาด พันชาด ไม้ชาด ซาด พันซาด (ภาคอีสาน)/ ตะแบง (อุดรธานี)/ ซาก คราก (ชุมพร)/ ตร้ะ (ส่วย-สุรินทร์)/ เตรีย (เขมร-สุรินทร์)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrophleum succirubrum Gagnep.

ชื่อวงศ์:  FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อย CAESALPINIOIDEAE-CAESALPINIACEAE

สกุล:  Erythrophleum 

สปีชีส์: succirubrum

ชื่อพ้อง: Erythrophleum teysmannii var. puberulum Craib

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นซาก เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร ลำต้นมีขนาดใหญ่ ออกใบดกและหนาทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องค่อนข้างลึกตามยาวและตามขวางของลำต้น เนื้อไม้ด้านในเป็นสีขาว และแก่นกลางไม้มีเนื้อแข็งเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมเล็กน้อย


ซาก thai-herbs.thdata.co | ซาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีช่อใบด้านข้าง 2-3 คู่ ในช่อใบมีใบย่อยประมาณ 8-16 คู่ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปใบหอก รูปหัวใจ หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบมน โคนใบสอบหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ผิวท้องใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุม มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร


ซาก thai-herbs.thdata.co | ซาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นพุ่มหรือออกเป็นช่อยาวใหญ่ตามซอกใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง มีจำนวน 1-3 ช่อต่อหนึ่งซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นอยู่ตามแกนดอก ดอกเป็นสีเหลือง สีเหลืองนวล หรือสีขาวปนเหลืองอ่อน ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีเขียว ขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปใบพายแคบ ๆ สีเขียวแกมขาวติดกันเล็กน้อยที่ฐาน กลีบดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน แยกจากกันอย่างอิสระ ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยมักออกดอกพร้อมกับการผลิใบอ่อน เมื่อมีดอกจะมีกลิ่นเหม็นหืนคล้ายกลิ่นซากเน่าตายแห้งของสัตว์ จึงถูกเรียกชื่อว่า "ต้นซาก"


ซาก thai-herbs.thdata.co | ซาก สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นฝักแบบแห้ง ลักษณะของฝักจะค่อนข้างกลมคล้ายกับฝักประดู่มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ดต่อฝัก 

เมล็ด ลักษณะกลมแบน

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าราบและป่าผลัดใบ 

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ไม้นี้รับประทานไม่ได้ เป็นพาอาจถึงตายได้ ถ้าจะนำไปปรุงเป็นยาต้องเผาให้เป็นถ่าน

*ถ่าน รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้โรคผิวหนัง

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากลำต้นของซากด้วย 50% แอลกอฮอล์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่มีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีการทำงานของเอนไซม์ร่วมด้วย ไม่มีฤทธิ์ในการกระต้นภูมิคุ้มกันโดยตรง แต่สามารถกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus (เชื้อที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง), เชื้อ Shigella (เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคบิด), เชื้อ V. cholerae (เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรค) ที่ความเข้มข้น ≤ 0.78 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Salmonella ที่ความเข้มข้น 1.56 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ต้านเชื้อ E. coli และ Ps. aeruginosa ที่ความเข้มข้น 6.25 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ที่ความเข้มข้น 4 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริม Herpes simplex virus type 1 มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับปานกลาง นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถชักนำการตายของเซลล์มะเร็งตับแบบอะพอพโทซิต่ำเมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-เปลือกไม้ เนื้อไม้ ราก และใบ พบสารที่เป็นพิษในกลุ่ม alkaloids ได้แก่ acetylcassaidine, cassaine, cassaidine, coumingine, coumidine, erythrophleine, ivorine เมื่อกินเมล็ดซากเข้าไป คือ เริ่มมีอาการอาเจียน โดยอาการมักจะเกิดขึ้นหลังการกินเข้าไปประมาณ 30-60 นาที หลังจากนั้นจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ต่อมาจะมีผลต่อระบบประสาท ซึ่งอาจเกิดพิษโดยตรงหรือเกิดจากผลทางอ้อมของการที่หัวใจทำงานผิดปกติแล้วเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และทำให้เสียชีวิตได้

การใช้ประโยชน์:

-เนื้อไม้เมื่อนำมาเผาให้เป็นถ่านจะให้ไฟแรงได้ดี หรือที่เรียกกันว่า "ถ่านทำทอง"ชาวบ้านชนบทในสมัยก่อนจะนิยมตัดเอาต้นซากไปเผาทำถ่านบรรจุกระสอบขาย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ซื้อกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นถ่านที่ให้แรงและไม่มอดง่ายนั่นเอง

-เนื้อไม้ยังสามารถนำไปใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ ทำเสาอาคารบ้านเรือน เสาเข็ม ลอด ตง ขื่อ พื้นกระดาน เพลาเกวียน ฯลฯ เนื่องจากเนื้อไม้มีความทนทานและแข็งแรงมาก 

-แก่น นิยมนำมาใช้ทำด้ามขวานหรือเครื่องมือทางการเกษตร

-ต้นซาก สามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้อนุรักษ์หรือปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และจะช่วยรักษาหน้าดินได้ดีมาก เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง