Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนดอก

ชื่อท้องถิ่น: เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน (ภาคกลาง)/ จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง (จีน)/ จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ

ชื่อสามัญ: Garden balsam

ชื่อวิทยาศาสตร์: Impatiens balsamina L

ชื่อวงศ์: BALSAMINACEAE

สกุล: Impatiens 

สปีชีส์:-balsamina

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นเทียนดอก โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ เนื้อใส โคนต้นเป็นสีแดง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าลำต้น หลังใบและท้องใบเรียบ บ้างว่าผิวของเนื้อใบสากและหยาบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสมก็ได้ (แต่นิยมนำดอกขาวมาใช้ทำยา) ดอกมีกลีบดอกประมาณ 4-5 กลีบ กลีบดอกอาจซ้อนกันหรือไม่ซ้อนกันก็ได้ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายของกลีบดอกหยักเว้าเป็นลอน ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวานยาว ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ โดยรังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมีสีสดสวย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ผิวผลมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ ผลมีก้านยาวมองเห็นได้ชัดเจน เป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: อินเดียและแอฟริกา

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเย็น สรรพคุณ ตำพอกแก้ปวดนิ้วเท้า (เก๊าท์) เล็บขบ ถอนพิษปวดอักเสบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบสดและทั้งต้น พบสาร naphthoquinone และ 2-methoxy-1, 4-napthoquinone. 1,4-naphthoquinone sodium salts ในดอกพบสารAnthocyanin, leucoanthocyanin , Cyanidin , Delphinidin , Harands , Quercetin , flavond , Pelargonidin , Malvidin Kaempferol ในรากพบ Cyanidin , mono-glycosidise ในเมล็ดพบสาร ß-sitosterol  , Balsaminasterol และกรดไขมัน เช่น palmatic , stearic , linoleic และ parinaric acid.

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของเทียนบ้าน ดังนี้ เมื่อใช้สารสกัดจากดอกและใบ เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ ส่วนการทดสอบน้ำสกัดจากรากและลำต้นกับ S. aureus พบว่าไม่มีฤทธิ์ แต่เมื่อทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอกและใบ พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้าน S. aureus ในจานเพาะเชื้อ ในขณะที่สารสกัดนี้จากรากและลำต้นกลับไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้เมื่อทดสอบสารสกัดเมทานอลและน้ำสกัดจากใบและลำต้นของเทียนบ้าน ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดจากใบและลำต้นของเทียนบ้านทั้ง 2 แบบ สามารถต้านเชื้อ S. aureus ได้ โดยสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และสารสกัดจากเมทานอลให้ฤทธิ์ดีกว่าน้ำสกัด และจากการทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) และน้ำสกัดจากส่วนต่างๆ ของสมุนไพรแห้งหลายชนิด ซึ่งสกัดโดยวิธีการแช่แล้วนำสารสกัดแห้งที่ได้ไปเจือจางให้มีความเข้มข้น 1:1 และ 1:10 จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยวิธี disc-diffusion พบว่า สารสกัดจากทุกส่วนของเทียนบ้าน ยกเว้นสารสกัดจากลำต้นด้วยน้ำ สามารถต้านเชื้อ S. aureus ได้ดีทั้ง 2 ความเข้มข้น นอกจากนี้มีการทดสอบน้ำสกัดจากใบและลำต้น โดยนำน้ำสกัดนั้นมาย้อมผ้าขนสัตว์และผ้าไหมแล้วทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย S. aureus ของผ้าที่ย้อมแล้ว ผลการทดสอบพบว่า ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสีย้อมจะขึ้นกับเวลาของการย้อมและความเข้มข้นของสีย้อม และจากการทดสอบพบว่าผ้าไหมที่ย้อมสีแล้วมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียมากกว่าผ้าขนสัตว์ และสีย้อมจากใบมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และจากการทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากพืชชนิดต่างๆ กัน โดยใช้กระดาษซับสารสกัดวางบนวุ้นเพาะเชื้อ (filter paper disc method) พบว่าสารสกัดอะซีโตน ไดเอทิลอีเทอร์ เอทานอล และน้ำสกัด จากส่วนเหนือดินของเทียนบ้าน มีฤทธิ์ต้าน S. aureus จากการศึกษาสารสำคัญในเมล็ดเทียนบ้านที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าเป็นสารพวก peptides ที่ประกอบด้วย amino acids 20 ชนิด และสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอล (95%) จากส่วนเหนือดินแห้ง  และสารสกัดทั้งต้นด้วยเมทานอล คือ 2-methoxy-1,4-naphtho-quinone (MNQ) นอกจากนี้สารสำคัญในเทียนบ้านที่เป็นสารกลุ่ม naphthoquinone เรียกชื่อเฉพาะว่า lawsone พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียหลายชนิด

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ที่สกัดได้จากส่วนดอกเทียนบ้าน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) โดยมีผลยับยั้งการผลิต nitric oxide (NO) ในเซลล์ microglial BV- 2 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS)

การศึกษาฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันของเทียนบ้านในสัตว์ทดลอง โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 500,1000และ 2000มก./กก. ให้แก่หนูแรท 1ชั่วโมง ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการบวมและอักเสบตรงอุ้งเท้าด้วยการฉีดcarrageenan 1% ผลจากการสังเกตอาการบวมของอุ้งเท้าหนูเมื่อเวลาผ่านไป 3ชั่วโมงพบว่า การกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยขึ้นอยู่กับขนาดการได้รับสาร (dose dependent) และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการบวมเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมได้เป็น 34.16, 44.58 และ 65.42% (สำหรับขนาด 500, 1000 และ 2000 มก./กก. ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าการกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านมีฤทธิ์ยับยั้งอาการปวดเมื่อนำหนูไปทดสอบด้วยวิธี tail flick test

-ฤทธิ์แก้ปวด  การป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้านให้แก่หนูเม้าส์ขนาด 50-400มก./กก. มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด เมื่อทดสอบด้วยวิธีกระตุ้นด้วยสารเคมีและความร้อน (chemical- and heat-induced pain) ได้แก่ การฉีดกรดอะซิติกเข้าช่องท้องเพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและสังเกตการหดตัวของช่องท้อง (acetic acid-induced writhing test), ความสามารถในการทนอยู่บนแท่นร้อน (hot plate test), การจุ่มหางหนูลงในน้ำร้อน (tail immersion test) และการฉีดฟอร์มาลินเข้าใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า (formalin test)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อรา  การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดชนิดต่างๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม มีเทน และน้ำ จากส่วนใบ และรากของเทียนบ้านมีฤทธิ์ต้านเชื้อราAspergillus nigra, Candida albicans, Aspergillus flavus, Trichoderma reesei และ Penicillum sp.

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-มีการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของเทียนบ้าน โดยป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 3ก./กก. ให้แก่หนูแรทเพียงครั้งเดียวพบว่า ไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ภายใน 24ชั่วโมง  เช่นเดียวกับการทดลองป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้านขนาด 500-5,000มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์เพียงครั้งเดียว เพื่อทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันพบว่า สารสกัดเมทานอลดอกเทียนบ้านขนาดดังกล่าวไม่ทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ในช่วงระยะเวลาใน 72ชั่วโมงหลังจากได้รับสารสกัด

-พิษต่อเซลล์ ทดสอบสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากส่วนเหนือดินกับเซลล์ Hela-S3 โดยมี IC50 เท่ากับ 25 มคก./มล. พบว่ามีฤทธิ์อ่อนๆ แต่ถ้าใช้สารสกัดนี้จากเมล็ดเทียนบ้านที่วางขายในท้องตลาดกับเซลล์ดังกล่าว โดยมี IC50 เท่ากับ 100 มคก./มล. พบว่าผลการทดสอบไม่แน่นอน ส่วนการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินกับ cells-Human-SNU-1 และ cells-Human-SNU-C4 โดยมี IC50 มากกว่า 0.3 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ และถ้าใช้สารสกัด   เมทานอลหรือน้ำสกัดจากทั้งต้นแห้ง ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. กับเซลล์ Hela พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน

การใช้ประโยชน์:

-ปวดข้อ ใช้ใบสด 30 กรัม หรือใบแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำผสมเหล้าดื่ม

-กลากเกลื้อน ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ตำทั้งน้ำและเนื้อบริเวณที่เป็น ทาบ่อยๆ จนกว่าจะหาย

-ฝีและแผลพุพอง ใช้ใบสด 5-10 ใบ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด นำมาพอกที่เป็นแผล วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหายใช้ใบสด 30 กรัม หรือใบแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำผสมเหล้าดื่ม

-เล็บถอด ใช้ใบ ยอดสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด เติมน้ำตาลทรายแดง 1/2 ช้อนชา พอกตรงเล็บ เปลี่ยนยาเช้า-เย็น

-แผลอักเสบ ฝีหนอง แผลเน่าเปื่อย  ใช้ใบแห้ง 10- 15 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น

-แผลงูสวัด ใช้ต้นสด 160 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกินและเอากากพอกแผลหรือใช้ต้นสดเก็บเอาไว้ครึ่งปี ใช้ทั้งรากและใบตำพอกที่บวม หรือใช้เหล้าหวานผสมกับกากพอกแผล

-ใบสด นำมาต้มกับน้ำใช้สระผม จะช่วยบำรุงผม ทำให้ผมดกดำได้

-ชาวบาหลีในอดีตจะนำใบเทียนบ้านมารับประทานเป็นอาหาร

-เมล็ดบีบให้น้ำมัน ใช้เป็นน้ำมันสำหรับหุงต้มหรือน้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียง

-ชาวจีนใช้ใบสดตำพอกแก้ปวดตามข้อนิ้วหรือเล็บขบ ใช้ถอนพิษ ปวดแสบปวดร้อน 

-ในอินเดียใช้แก้ปวดข้อ ขับลม รักษาแผลติดเชื้อ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ในใบมีสารเมทิลลอว์โซน



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง