Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ข่าใหญ่  (ข่าหลวง) 

ชื่อท้องถิ่น: กฎุกกโรหินี (กลาง)/ ข่าตาแดง ข่าหยวก ข่าหลวง (เหนือ)/ ข่าใหญ่ (อื่นๆ)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Alpinia galanga (L.) Willd.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Alpinia 

สปีชีส์: galanga

ชื่อพ้อง: 

-Maranta galanga L.

-Alpinia alba (Retz.) Roscoe

-Alpinia bifida Warb.

-Alpinia carnea Griff.

-Alpinia pyramidata Blume

-Alpinia rheedei Wight

-Alpinia viridiflora Griff.

-Amomum galanga (L.) Lour.

-Amomum medium Lour.

-Galanga major Garsault

-Galanga officinalis Salisb.

-Hellenia alba (Retz.) Willd.

-Heritiera alba Retz.

-Languas galanga (L.) Stuntz

-Languas pyramidata (Blume) Merr.

-Languas vulgare J.Koenig

-Zingiber galanga (L.) Stokes

-Zingiber medium Stokes

-Zingiber sylvestre Gaertn.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นข่าใหญ่ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลอมแสด เลื้อยขนานกับผิวดิน มีอายุหลายปี มีข้อปล้องสั้น ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดูคล้ายลำต้น แตกกอ สูง 1.5-2.5 เมตร 


ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รอบลำต้น เหนือดิน ใบรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 4-11 เซนติเมตร ยาว 25-45 เซนติเมตร กาบใบมีขน ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เส้นกลางใบใหญ่ทางด้านท้องใบเป็นเส้นนูนชัด เส้นใบขนานกัน ก้านใบเป็นกาบหุ้ม 


ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อแยกแขนง ตั้งขึ้น ขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 15-20 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวปนเหลือง ดอกแก่สีขาวปนม่วงแดง ดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยคล้ายดอกกล้วยไม้มีขนาดเล็ก มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ กลีบดอกสีขาวแกมเขียว  3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันตลอด ปลายแยกจากกันเป็นปาก แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปากท่อดอกจะมีอวัยวะยาวเรียวจากโคนถึงยอด สีม่วงคล้ายตะขอ 1 คู่ ใต้อวัยวะมีต่อมให้กลิ่นหอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน มี 2 อัน คล้ายกลีบดอก มีเรณู 1 อัน เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นสีม่วงแดง 


ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลแห้งแตก รูปกระสวยหรือทรงกลม ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่มีสีส้มแดง มี 1-2 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: จีนตอนใต้ไปจนถึงตะวันตกและตอนกลางของมาเลเซีย

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, บอร์เนียว, กัมพูชา, จีนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, ไหหลำ, จาวา, มาลายา, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, สุมาตรา, ไทย, เวียดนาม, อินเดีย, ศรีลังกา, ไต้หวัน

ข่าใหญ่ thai-herbs.thdata.co | ข่าใหญ่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เหง้า หัว รสเผ็ดร้อนขม สรรพคุณ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียดแน่น ขับลมให้กระจาย แก้ฟกบวม แก้พิษ  แก้บิดตกโลหิต แก้ลมป่วง แก้เกลื้อน แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำผสมกับเกลือมะขามเปียกให้สตรีคลอดใหม่ๆ รับประทานขับเลือด  ขับน้ำคาวปลา

*ใบ รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ ฆ่าพยาธิ กลาก ต้มน้ำอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ

*ดอก รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ ท่าแก้เกลื้อน กลาก

*ผล รสเผ็ดร้อนฉุน สรรพคุณ ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง คลื่นเหียน อาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว

*ตัวอ่อน (หน่อ) รสเผ็ดร้อนหวานเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงเตโชธาตุ ช่วยย่อยอาหาร

*ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า สรรพคุณ ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ แก้ปวดข้อ  แก้ลมตะคริว

*ราก รสเผ็ดร้อนปร่า สรรพคุณ แก้เลือดเดินไม่สะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะและโลหิต

องค์ประกอบทางเคมี: 

-พบน้ำมันระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ด ประกอบด้วย eugenol, cineol, camphor, methyl cinnamate, pinene, galangin, chavicol, trans-p-coumaryl diacetate, coniferyl diacetate, p-hydroxy-trans-cinnamaldehyde, kaemferol, quercetin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ลดการอักเสบ การศึกผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ p-hydroxycinnamaldehyde ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเหง้าข่าด้วยอะซีโตน โดยใช้เซลล์กระดูกอ่อนในมนุษย์ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการสลาย hyaluronan (HA), sulfated glycosaminoglycans (s-GAGs) และ matrix metalloproteinase (MMPs) จากเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการปวด การอักเสบ และปกป้องกระดูกอ่อนผิวข้อ และน้ำบริเวณไขข้อ แสดงว่าสาร p-hydroxycinnamaldehyde จากข่ามีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเพื่อใช้รักษาอาการข้อเสื่อมได้ (Phitaket al, 2009)

-ฤทธิ์แก้แพ้ สารบริสุทธิ์ 1’S-1’-acetoxy chavicol acetate ที่แยกได้จากเหง้าข่า มีฤทธิ์แรงในการต้านการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิด type 1allergy (คือการแพ้ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยสารโมเลกุลเล็ก เช่น ฮีสตามีน ซีโรโทนิน จาก mast cell และเกิดการสร้างสารไซโตคายน์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิแพ้) โดยการทดสอบในหลอดทดลอง วัดจากการยับยั้งการปลดปล่อยเอนไซม์  β-hexosaminidase จาก RBL-2H3 cells เมื่อเกิดปฏิกิริยาการแพ้ ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ระยะเฉียบพลัน (immediate phase) และฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้าง TNF-αและ IL-4 เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยสารที่ก่อภูมิแพ้ ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ระยะท้าย หรือ late phase ผลการทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ 1’S-1’-acetoxychavicol acetate ที่แยกได้จากเหง้าข่า และอนุพันธ์ของสารบริสุทธิ์ที่ได้จากการสังเคราะห์ คือ 4-(methoxycarbonyloxyphenylmethyl)phenyl acetate  ออกฤทธิ์แรงในการต้านปฏิกิริยาภูมิแพ้ทั้งระยะเฉียบพลัน (ออกฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน) และระยะท้าย โดยมีค่า IC50 ในการยับยั้ง β-hexosaminidaseของ 1’S-1’-acetoxychavicol acetate และ ยามาตรฐาน ketotifen fumalate เท่ากับ 17 และ 158 µM ตามลำดับ ค่า IC50 ในการยับยั้งการสร้าง TNF- αของสารบริสุทธิ์ และอนุพันธ์acetoxybenzhydrol methylcarboxylate analogueเท่ากับ 17 และ 11 µM ตามลำดับ ค่า IC50 ในการยับยั้งการสร้าง IL-4 ของสารบริสุทธิ์ และอนุพันธ์ มีค่าเท่ากัน เท่ากับ 12 µM (Yasuhara, et al, 2009)

-ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ศึกษาฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันจากสารสกัด polysaccharide ส่วนที่ละลายได้ในน้ำร้อนของเห้งาข่า เมื่อนำมาทดสอบในหนูถีบจักร พบว่าเมื่อให้สารสกัดขนาด 25 mg/kg สามารถกระตุ้นการเกิดฟาโกไซโตซิส (การที่เม็ดเลือดขาวกำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยการกลืนกิน) ของเซลล์ที่เรียกว่าเรทิคิวโลเอนโดทีเรียลเซลล์ (reticuloendothelial cell พบบริเวณม้าม ตับ ต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูก เป็นต้น)ได้ โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน zymosan และสามารถเพิ่มจำนวนของ peritoneal macrophage ซึ่งเป็นเซลล์ที่เก็บกินเชื้อโรคจากระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อใช้สารทดสอบในขนาดเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวน spleen cell ที่ทำหน้าที่เก็บกินสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือดได้ ดังนั้นสาร polysaccharideจากเหง้าข่าจึงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบ phagocyte ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม โดยใช้เยื่อหุ้มเซลล์โอบล้อมเชื้อโรค ก่อนจะนำเข้าสู่เซลล์ และแบบ lymphocyte กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายโดยกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้หลายแบบในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือด (Bendjeddou, et al, 2003)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การศึกษาพิษเฉียบพลัน (24 ชั่วโมง) และพิษเรื้อรัง (เป็นเวลา 90 วัน) ของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าข่าในหนูถีบจักร  พิษเฉียบพลันศึกษาที่ขนาด 0.5, 1.0 และ 3 g/kg ในขณะที่พิษเรื้อรังศึกษาที่ขนาด 100 mg/kg/day จากนั้นบันทึกลักษณะพฤติกรรม, ค่าทางโลหิตวิทยา,การเปลี่ยนแปลงของสเปิร์ม, น้ำหนักตัว และน้ำหนักของอวัยวะสำคัญต่างๆ จากการทดลองพบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย สารสกัดจากข่าทำให้น้ำหนักตัวของหนูเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการศึกษาพิษเรื้อรัง การตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยาพบว่าสารสกัดจากข่าทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ น้ำหนักของอวัยวะสืบพันธุ์เพิ่มขึ้น และจำนวนอสุจิเพิ่มขึ้นในหนูเพศผู้ และไม่พบการเกิดพิษต่อตัวสเปริ์ม (Qureshi, et al, 1992)

การใช้ประโยชน์:

-โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

-อาการปวดเมื่อย ใช้เหง้าแก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว 

-อาการท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร

-อาการรลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น

-ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้  เหง้า ผสมใบมะกา เถาเชือก เขาหนัง หัวยาข้าวเย็นและเกลือ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาถ่าย เหง้าอ่อน ผสมขยันทั้งต้น หัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้นใต้ดิน รักษาโรคกลากเกลื้อน เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเจ็บเมื่อยเส้นเอ็น ยาเสียบคัด ยามะเร็งครุด ยาไอ เป็นต้น

-น้ำมันหอมระเหยจากข่า มีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน

-ดอกและลำต้นอ่อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้

-เมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศ ดอกใช้เป็นผักจิ้มได้ 

-เหง้าแก่, อ่อนนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง ต้มยำปลา แกงมัสมั่น แกงเทโพ แกงไตปลา ผัดเผ็ด ลาบ ฯลฯ

-เหง้าแก่ นำไปผลิตหรือแปรรูปเป็นเครื่องดื่มหรือชา ทำลูกประคบ สเปรย์ดับกลิ่น ฯลฯ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง