Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: หนุมานประสานกาย

ชื่อท้องถิ่น: ว่านอ้อยช้าง (เลย)/ ชิดฮะลั้ง กุชิดฮะลั้ง (จีน)

ชื่อสามัญ: Edible-stemed Vine

ชื่อวิทยาศาสตร์: Schefflera leucantha R.Vig.

ชื่อวงศ์: ARALIACEAE

สกุล: Schefflera 

สปีชีส์: leucantha

ชื่อพ้อง: 

-Schefflera kwangsiensis Merr. ex H.L.Li

-Schefflera leucantha R.Vig.

-Schefflera tamdaoensis Grushv. & Skvortsova

-Schefflera tenuis H.L.Li

-Schefflera yunnanensis H.L.Li

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นหนุมานประสานกาย เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้พุ่มรอเลื้อย ที่มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ผิวของลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยง

ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี รูปวงรี หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ส่วนริบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร พื้นผิวใบเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 8-25 มิลลิเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 3-5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อยเป็นดอกสีเขียวหรือสีนวลและมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร

ผล ลักษณะเป็นรูปไข่ อวบน้ำ ขนาดของผลมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: จีน (ยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือ,กวางสีตะวันตกเฉียงใต้) ไปจนถึงอินโดจีนตอนเหนือ

การกระจายพันธุ์: จีนตอนใต้-กลาง,จีนตะวันออกเฉียงใต้, ลาว, เวียดนาม, ประเทศไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสฝาดเย็นเอียน สรรพคุณ แก้ไอ แก้หืดหอบ แก้อาเจียนเป็นโลหิต (วัณโรคปอด) ห้ามเลือดและสมานแผลได้ดี

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ทั้งต้น พบสาร เช่น oleanolic acid,Oleic acid ,  betulinic acid, Scheffler leucantha triterpenoid saponin,  D - glucose, D - Xylose, L – rhamnose และจากการสกัดใบของหนุมานประสานกายพบว่ามีสารbetulinic acid , lup-20-en-28-oic acid,3-0-[œ-L-rhamnopyranosyl (1-2) β-D-glucopyranosyl (1-2)-β-D-glucuaronpy-ranosyl], lup-20-cn-28oic acid,3-0-[œ-L-glucopyranosyl (1-2)-β-D-xylopy-ranosyl (1-2)-β-D-glucopyranosyl, oleanolic acid , olean- 12-en-28-oic acid,3-O-[œ-L-amnopyranosy (1-2) –β-D-glucuaronpy-ranosyl], Schefflera leucantha trierpenoid saponin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทิลอัลกอฮอล์จากใบ ขนาด 10 มก./แผ่น ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ในจานเลี้ยงเชื้อ โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญเท่ากับ 13.6 มม. และสารในขนาดเดียวกันไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย b-Streptococcus group A, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa  

-ฤทธิ์ขยายหลอดลม สารสกัดจากใบหนุมานประสานกายมีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมแต่ไปกดหัวใจ โดยสารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins)สามารถขยายหลอดลม ซึ่งจะลดการหลั่งของสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ คือ ฮีสตามีน (Histamine) และสารเมซโคลิน (Methcholine)ได้ และสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบหนุมานประสานกาย มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวให้เร็วขึ้น และเพิ่มการหดตัวของบาดแผลได้

-ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของหนุมานประสานกายยังพบว่าสามารถ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา ขยายหลอดลม ไล่แมลง ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นพิษต่อเซลล์ เพิ่มแรงบีบของหัวใจ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การศึกษาผลของหนุมานประสานกายที่มีต่อหัวใจ พบว่าเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจและเป็นพิษต่อหัวใจ ในขนาดสูงและอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ

การใช้ประโยชน์:

-โรคกระเพาะอาหาร ใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้

-โรคปอด ใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกัน 60 วัน แล้ว x-ray ดู ปอดจะหาย และให้รับประทานต่อไปอีกระยะหนึ่ง

-โรควัณโรค ด้วยการใช้ใบ 10 ช่อ และรากสดของพุดตาน 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน 

-โรคหอบหืด ใช้ใบมีรสหอมเผ็ดปร่า ขมฝาดเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหอบหืด แพ้อากาศ เป็นภูมิแพ้ ด้วยการใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 7 สัปดาห์ โรคหืดจะหาย

-โรคหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 7 สัปดาห์

-อาการไอ ใช้ใบสดประมาณ 9 ใบ นำมาต้มเอาแต่น้ำกิน หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ นำมาผสมกับเหล้ากินเป็นยา

-อาการไอ ร้อนใน เจ็บคอและคออักเสบ ใช้ใบสดนำมาเคี้ยวแล้วค่อย ๆ กลืนช้า ๆ ช่วยบรรเทาหวัด ลดอาการไอ แก้ร้อนใน แก้เจ็บคอและคออักเสบ

-อาการแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน ใช้ใบสด 1-2 ใบ แล้วนำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนเช้าเย็น

-อาการตกเลือดเนื่องจากการคลอดบุตรของสตรีในระหว่างการคลอดหรือภายหลังการคลอดบุตรหรือเนื่องจากตกเลือดเพราะใกล้หมดประจำเดือน ใช้ใบสดประมาณ 10-15 ช่อ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง 4-6 ช้อน แล้วคั้นเอาน้ำดื่ม

-อาการช้ำในใช้ใบหนุมานประสานกายประมาณ 1-3 ช่อ นำมาตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้น้ำยานี้กินทุกเช้าและเย็น 

-ช่วยขับเสมหะ ใช้ใบสดประมาณ 9 ใบ นำมาต้มเอาแต่น้ำกิน

-ช่วยห้ามเลือด สมานแผล ใชใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากมาทาหรือพอกเป็นยาสมานแผล และช่วยห้ามเลือด 

-ป้องกันยุง ใช้ใบสมุนไพรมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำมาหั่นให้มีขนาดเล็กเท่า ๆ กัน จากนั้นให้เทน้ำมันมะพร้าวที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวยาใส่ลงในกระทะ แล้วนำไปตั้งไฟให้ร้อนจัด แล้วนำสมุนไพรที่เตรียมไว้ทอดด้วยไฟร้อน ๆ ประมาณ 5 นาที แล้วปิดไฟ หลังจากนั้นให้ช้อนเอาสมุนไพรออก แล้วกรองน้ำมันด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาน้ำมันมาใช้เป็นยาทากันยุง โดยสารสกัดจากใบหนุมานประสานกายสามารถช่วยป้องกันยุงที่กัดกลางวันได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยุงที่กัดกลางคืนได้นานถึง 7 ชั่วโมง

-นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและสมุนไพร หรือใช้ปลูกประดับอาคารต่าง ๆ ได้ดี เนื่องจากต้นหนุมานประสานกายเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการการดูแลมากนัก ปลูกใส่ไว้ในกระถางได้ สามารถเก็บมาใช้ประโยชน์ได้นานและทันใจ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง