Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: มะแว้งต้น

ชื่อท้องถิ่น: มะแว้ง มะแว้งต้น (ทั่วไป)/ แว้งคม (สุราษฎร์ธานี, สงขลา)/ หมากแข้ง หมากแข้งขม (ภาคอีสาน)/ มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ)/ สะกังแค สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ หมากแฮ้งคง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)/ เทียนเฉีย ชื่อเทียนเฉีย (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Brinjal

ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum indicum L.

ชื่อวงศ์: SOLANACEAE

สกุล:Solanum 

สปีชีส์: indicum 

ชื่อพ้อง: 

-Solanum indicum var. maroanum Bitte

-Solanum indicum var. lividum (Link) Bitter

-Solanum anguivi Lam.

-Solanum lividum

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นมะแว้งต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5เมตร ลำต้นมีขนาดเล็กและกลม เนื้อแข็ง เป็นสีเขียวอมเทา แตกกิ่งก้าน ทั้งต้นมีขนนุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม และมีหนามแหลมขึ้นกระจายอยู่ทั่วต้น ส่วนเปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล 

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเว้ามนเข้าหาเส้นกลางใบและมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบ ท้องใบ และก้านใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุม โดยท้องใบจะมีขนหนาแน่นหลังใบ มีหนามสั้น ๆ และมีก้านใบยาว

ดอก ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือปลายกิ่งประมาณ 3-6 ดอก ดอกเป็นสีม่วงอ่อน มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 ก้าน เชื่อมติดกันกับโคนกลีบดอก ปลายกลีบดอกจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายแหลม คล้ายรูปดาว ก้านดอกมีหนามเป็นตุ่มเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แหลม ปลายแหลม ด้านนอกมีขน


มะแว้งต้น thai-herbs.thdata.co | มะแว้งต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยงและมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีขาวไม่มีลาย ส่วนผลสุกเป็นสีแดงส้มหรือเป็นสีเหลืองอมส้ม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร หรือมีขนาดเท่ากับมะแว้งเครือ แต่จะมีสีเขียวมากกว่า และมีรสขมจัดกว่า โดยภายในผลมะแว้งต้นจะมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นได้เองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบ ชายป่าที่โล่งแจ้งและที่รกร้างริมทาง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ 

ถิ่นกำเนิด: เขตร้อนของทวีปเอเชีย

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก  รสเปรี้ยวเอียน สรรพคุณ แก้ไข้สันนิบาต กัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ขับปัสสาวะ 

*ผลสุก รสขื่นขม สรรพคุณ กัดเสมหะในลำคอ แก้ไอ

*ผลดิบ รสขื่นขม สรรพคุณ บำรุงน้ำดี แก้เบาหวาน 

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้มะแว้งต้น ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ปรากฏตำรับ “ยาประสะมะแว้ง” มีส่วนประกอบของมะแว้งต้นร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทาให้ชุ่มคอ ช่วยขับเสมหะ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผล ใบ ต้น พบสาร Alkaloids หลายชนิด เช่น Diosgenin, Solanine, Solasodine, Amino acid, Flavonoid glycoside, Phenols เป็นต้น

-เมล็ดพบไขมันและวิตามินซี เป็นต้น

-ใบ และผล พบสาร Diogenin, Solanine, Solanidine Beta-sitosterol เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ และกดระบบประสาทส่วนกลาง การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากผลมะแว้งต้น  โดยใช้หนูทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมีย  แบ่งเป็น 4 กลุ่ม  กลุ่มละ  6 ตัว  ทำการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา  4 วิธี ได้แก่ ฤทธิ์ลดปวด, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ลดไข้ และฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง การทดสอบฤทธิ์ลดปวดในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน aspirin ขนาด 100 mg/kg การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีไข้จากยีสต์ โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน paracetamol 150 mg/kg  การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 1 mg/kg การทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diazepam ขนาด 0.5 mg/kg  เมื่อทำการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นพบว่า สารสกัดมะแว้งต้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อการทดสอบทั้ง 4 วิธี  (p ≤0.05) (Deb, et al., 2014)

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด สกัดผลมะแว้งต้นด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำ, เมทานอล, เอทานอล แล้วนำสารที่สกัดได้มาทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดกระต่ายได้หลังจากกระต่ายได้รับสารสกัดสมุนไพร 2 ชั่วโมง โดยสารสกัดสมุนไพรที่สกัดด้วยเอทานอลของมะแว้งต้น ลดระดับน้ำตาลได้หลังจากกระต่ายได้รับ 2, 3 และ 4 ชั่วโมง  จากผลการทดลองนี้แสดงว่า สารสกัดจาผลมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (สุรัตน์, 2522)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลของผลมะแว้งต้น  โดยใช้หนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย  ให้สารสกัดมะแว้งต้นความเข้มข้น 250, 500,2000 mg/kg ทางปาก พบว่าการติดตามผลใน 4 ชั่วโมงแรก  ไม่พบความผิดปกติของหนูทดลองเมื่อได้รับสารสกัดขนาด 2000 mg/kg (Deb, et al., 2014)

การใช้ประโยชน์:

-ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้ผลมะแว้งต้นโตเต็มที่ประมาณ 10-20 ผล นำมารับประทานเป็นอาหารกับน้ำพริก

-ผลอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดได้ โดยอาจนำไปลวกหรือเผาจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหาร ทำแกง หรือใช้ประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสขม เช่น แกงใส่ปลาแห้ง หรือน้ำพริก เป็นต้น 

-ยอดอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักได้ นำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม

-ชาวลั้วะ, คนเมือง นำผลสุกมาบีบใส่ตาไก่ที่มีอาการเจ็บตา หรือนำมาขยี้แล้วทาตาไก่บริเวณบวมหรือพอง




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง