Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กระวาน

ชื่อท้องถิ่น: ปล้าก้อ (ปัตตานี)/ กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก)/  ข่าโคก ข่าโค่ม หมากเนิ้ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)/ มะอี้ (ภาคเหนือ)/ กระวานไทย กระวานดำ กระวานแดง กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์ (ทั่วไป)

ชื่อสามัญ: Camphor Seeds, Round Siam Cardamon, Best Camdamon, Clustered Cardamon

ชื่อวิทยาศาสตร์: Amomum verum Blackw.

ชื่อวงศ์: ZINGIBERACEAE

สกุล: Amomum 

สปีชีส์: verum

ชื่อพ้อง:

-Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.

-Amomum verum Blackw.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

กระวาน thai-herbs.thdata.co | กระวาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นกระวาน เป็นไม้ล้มลุก มีหัวเหง้า มีความสูงประมาณ 2 เมตร โดยมีกาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น 


กระวาน thai-herbs.thdata.co | กระวาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบแคบและยาว เป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม


กระวาน thai-herbs.thdata.co | กระวาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกออกมาจากเหง้า ชูขึ้นขึ้นมาเหนือพื้นดิน เรียงสลับซ้อนกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับจะมีดอกประมาณ 1-3 ดอก ปลายกลีบเลี้ยงมีหยัก 3 หยัก กลีบดอกมีสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรตัวผู้เป็นแบบไม่สมบูรณ์เพศ แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่สีขาว มีแถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง


กระวาน thai-herbs.thdata.co | กระวาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะค่อนข้างกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล ผลมีสีขาวนวล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู มี 3 พู ผลอ่อนมีขน ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปสู่ยอด ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ทั้งหัวและท้ายผลมีจุก ผลจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีเมล็ดกลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาวและมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ โดยทั้งผลและเมล็ดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายกับกลิ่นของการบูร มีรสเผ็ดและเย็น

*กระวานไทย หรือ กระวาน (Amomum krevanh) ลักษณะผลค่อนข้างกลม 

*กระวานเทศ หรือ กระวานแท้ (Elettaria cardamomum) ลักษณะผลแบนรี 

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นในที่ร่มหรือใต้ร่มไม้ที่มีความชื้นสูง หรือในที่ที่มีฝนตกชุกและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 800 ฟุตขึ้นไป โดยมักจะพบขึ้นทั่วไปตามไหล่เขาในบริเวณป่าดงดิบ

ถิ่นกำเนิด: อินโดจีนตอนใต้, สุมาตรา

การกระจายพันธุ์: กัมพูชา สุมาตรา ไทย เวียดนาม

กระวาน thai-herbs.thdata.co | กระวาน สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเผ็ดเล็กน้อยกลิ่นหอม สรรพคุณ ขับลมให้ผายเรอ ขับเสมหะ แก้ไข้เซื่องซึม

*ดอก รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ แก้เจ็บตา ตาแฉะ ตามัว

*ลูก รสเผ็ดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับเสมหะ โลหิต และลม

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีธาตุ” ได้แก่ กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้

2.“พิกัดตรีทุราวสา” ได้แก่ ผลกระวาน ผลโหระพาเทศ ผลราชดัด สรรพคุณ แก้เสมหะ แก้ลม บำรุงน้ำดี แก้พิษตานซาง

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้กระวาน ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกระวานร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผลแก่และเมล็ด พบน้ำมันหอมระเหย (essential oil)  5-9%  ซึ่งมีองค์ประกอบ  camphor, myrcene, limonene, linalool, cineol , bornyl  acetate ,Pinene,1,8-cineol, beta-pinene, alpha-pinene, p-cymene, car-3-ene, terpinen-4-ol, alpha-terpineol, thujone, (E)-nuciferol, alpha-santalol, farnesol isomer, alpha-bisabolol, cinnamaldehyde, (Z)-alpha-trans- bergamotol, safrole, cis-laceol, alpha-curcumene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ของสารบริสุทธิ์ 7 ชนิดที่แยกได้จากเมล็ดกระวานไทยซึ่งเป็นสารกลุ่มโมโนเทอร์ปีน 4 ชนิด ฟลาโวนอยด์ 1 ชนิด และคาดว่าเป็นสารประเภทไดเทอร์ปีน 2 ชนิด (ยังไม่ทราบโครงสร้างที่แน่นอน) พบว่าโมโนเทอร์ปีน 3 ชนิด คือ เมอร์ทีนาล เมอร์ทีนอล และ ทราน-ไพโนคาร์วีออล สารดังกล่าวข้างต้น (ยกเว้นฟลาโวนอยด์) ให้ค่า EC50(ความเข้มข้นของยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้ 50%) อยู่ในช่วง 10 -5- 10 –8 กรัมต่อมิลลิลิตร (จงดี, 1993)

-ฤทธิ์ยับยั้งภูมิคุ้มกัน การทดสอบสารสกัดน้ำของผลกระวาน ในการยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์  (การทำงานของคอมพลีเมนต์นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดพยาธิสภาพในผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเอง การทดลองนี้จึงสนใจที่จะศึกษาสมุนไพรที่สามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ในการทำให้เม็ดเลือดแดงแกะแตก) โดยนำสารสกัดสมุนไพรด้วยน้ำ จำนวน 53 ชนิด รวมทั้งกระวาน นำพืชมาทำให้แห้งแล้วบดละเอียด น้ำหนัก 1 กรัม ผสมกับน้ำกลั่น 20 มล. ต้มให้เดือดจนกระทั่งเหลือปริมาตรประมาณ 4 มล. นำไปกรอง และปั่นเอาน้ำใสส่วนบนไปนึ่งฆ่าเชื้อก่อนใช้   แล้วทำการทดสอบโดยผสมสารสกัดสมุนไพรกับซีรัม (คอมพลีเมนต์) แล้วเติมเม็ดเลือดแดงแกะที่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีแล้ว ดูผลการแตกของเม็ดเลือดแดงแกะ พบว่ากระวานสามารถยับยั้งการทำงานของคอมพลีเมนต์ได้ 95% (กานต์ธีรา, 1998)

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบความเป็นพิษ  พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์-น้ำ (1:1)  เข้าใต้ผิวหนังหรือป้อนหนูถีบจักร  ในขนาด 10 ก/กก (ขนาดที่ทดลองเป็น 16,667 เท่า ของที่ใช้ในตำรับยา) ไม่พบพิษ  (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การศึกษาความเป็นพิษของเมล็ดกระวานไทย พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเมล็ดกระวานไทยซึ่่งสกัดด้วย diluted alcohol:glycerol (95:5) ในขนาดความเข้มข้นของสารสกัด 0.5 ก./มล. แก่หนูขาวและหนูถีบจักรทั้งสองเพศในขนาดสูงถึง 10 มก./กก. ครั้งเดียว ไม่มีสัตว์ทดลองตาย หนูขาวที่ป้อนด้วยสารสกัดขนาด 2 มก./กก./วัน นาน 30 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนความเป็นพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเมล็ดกระวานไทยเมื่อป้อนให้หนูถีบจักรได้ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 2.14 มล./กก. หรือเทียบได้กับเมล็ดกระวานไทย 43 ก./กก. จากผลการทดลองที่ได้แสดงว่าเมล็ดกระวานไทยค่อนข้างปลอดภัย (สมใจ และคณะ, 1995)

การใช้ประโยชน์:

-อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว

-อาการไซ้ท้อง (อาการที่ท้องปวดมวนเนื่องจากรับประทานยา) ใช้ผลกระวานผสมกับยาถ่าย เช่น มะขามแขก เป็นต้น

-ผลกระวานไทย ใช้แต่งกลิ่นอาหารได้หลายชนิด โดยใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด แกงกะหรี่ มัสมั่น ใช้แต่งกลิ่นเหล้า ทางจังหวัดจันทบุรีใส่หน่อและใบลงในแกงป่า เพิ่มรสซ่า เผ็ดร้อน และกลิ่นหอม หั่นหน่อใส่ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดเผ็ดกบ เป็นต้น

-เหง้าอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักได้ ให้กลิ่นหอมและมีรสเผ็ดเล็กน้อย

-ผลแก่ สามารถแปรรูปทำเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ โดยน้ำมันกระวานสามารถนำไปแต่งกลิ่นเหล้า หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำหอม



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง