Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: กล้วยตีบ

กล้วยตีบ thai-herbs.thdata.co | กล้วยตีบ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: -

ชื่อสามัญ: Kluai Tip

ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa ABB group (triploid) cv. ‘teep’

ชื่อวงศ์: MUSACEAE

สกุล: Musa

สปีชีส์: (ABB group) "Kluai Tib"

ชื่อพ้อง: Musa (ABB group) "Kluai Tib"

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นกล้วยตีบ ลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 3.5-4.0 เมตร เส้นผ่านศูณย์กลางมากกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพู มีประสีน้ำตาลหนา ตรงโคนมีสีเขียวอมชมพู กาบลำต้นด้านในสีขาวปนชมพู มีไขมาก

ใบ ก้านใบยาวประมาณ 1.0-1.5 เมตร ร่องก้านใบตื้น ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ 25-35 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ท้องใบมีนวลสีขาว หน้าใบสีเขียวสดเป็นมัน

ดอก ก้านช่อดอก หรือเครือห้อยลงเป็นสีเขียว ไม่มีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างป้อมสั้นปลายมน ด้านบนสีแดงอมเทา มีนวลปานกลาง ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส การจัดเรียงของใบประดับซ้อนกันไม่มาก เมื่อใบประดับกางจะม้วนงอ

ผล เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 10 ผล ผลมีขนาดใกล้เคียงกับกล้วยหักมุกและกล้วยส้ม ผลงอเล็กน้อยมีจุกใหญ่ ผลมีเหลี่ยม 5อ เหลี่ยม ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม เนื้อสีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน ไม่มีเมล็ด

ราก มีรูปร่างกลมยาว สีน้ำตาลดำ รสฝาดเย็น  มีเส้นใยมาก

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นทั่วไปตามป่าธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย

ถิ่นกำเนิด: ไทย

การกระจายพันธุ์: ไทย ลาว

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก มีรสฝาดเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้โรคปากเปื่อย แก้ไข้ แก้ปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อ แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด แก้พิษภายนอก

*ใบ ตากแห้ง มวนยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก

*ใบสด ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันตามผิวหนังได้

-พิกัดยา ประกอบด้วย 

1.“พิกัดตรีอมฤต” ประกอบด้วยตัวยาสามอย่าง ได้แก่ รากกล้วยตีบ รากกระดอม และรากมะกอก ในปริมาณเท่ากัน มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร

-ตำราพระโอสถพระนารายณ์ อันเป็นยาแก้อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)อันพิการนั้น ให้ใช้น้ำใบผักไห่ หรือน้ำใบกล้วยตีบ เป็นน้ำกระสายยา สำหรับน้ำใบกล้วยตีบนั้น นอกจากจะช่วยละลายอย่าให้กินง่ายแล้ว ยังช่วยเสริมฤทธิ์ฝาดสมานของตัวยาอื่นได้ ดังนี้ ถ้าไม่ถอย ให้เอาผลมะขามป้อม ตรีผลา สะค้าน รากชะพลู ตรีกะฏุก ข่าแห้ง ลูกจันทน์ เสมอภาค ทำเป็นจุณ ละลายน้ำใบผักไห่ น้ำใบกล้วยตีบก็ได้ แก้ อาโปธาตุวิการ หายแลฯ

-ตำรายากลางบ้าน ยาแก้โรคบิด  ผลกล้วยตีบดิบๆ นำมาปอกเปลือกออกแล้ว ฝนกับฝาละมีหม้อดิน ผสมกับเหล้า ใช้น้ำยารับประทาน ประมาณ 1 ถ้วยชา มีสรรพคุณแก้โรคบิดให้หายไปได้ผลดีอย่างชะงัดนักแลฯ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้กล้วยในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ“ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของรากกล้วยตีบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-เหง้า ผ่าเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาด 3x3 นิ้ว ย่างไฟให้ร้อนห่อด้วยผ้าประคบบริเวณที่ปวด โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะข้างเดียว

-ต้น เผาไฟแล้วบีบเอาน้ำผสมน้ำนึ่งข้าวนำมาประคบแก้ปวดแขนปวดขา

-ใบ เข้าตำรับยา อยู่ไฟ ออกไฟ และใช้ปิดฝาหม้อต้มยาแก้ผิดเดือน(อาการเลือดลมไม่ปกติในสตรี)

- ผลสุก เหมือนกล้วยตานีแต่ไม่มีเม็ดเหมือนกล้วยตานี ทานสุกรสหวาน ใช้ทำไส้ข้าวต้มมัด



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง