Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เนระพูสี

ชื่อท้องถิ่น: ว่านหัวเลีย ว่านหัวลา ว่านหัวฬา (จันทบุรี)/ ค้าวคาวดำ มังกรดำ (กรุงเทพฯ)/ ดีปลาช่อน (ตราด)/ ม้าถอนหลัก (ชุมพร)/ ว่านพังพอน (ยะลา)/ นิลพูสี (ตรัง)/ ว่านนางครวญ (นครศรีธรรมราช)/ กลาดีกลามูยี (มลายู-ปัตตานี)/ ดีงูหว้า (ภาคเหนือ)/ เนระพูสีไทย (ภาคกลาง)/ เส่แหง่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง)/ ล่อเคลิน (ลั้วะ)/ เหนียบเลิน (ขมุ)

ชื่อสามัญ: Bat flower, Black lily

ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca chantrieri Andre

ชื่อวงศ์: DIOSCOREACEAE

สกุล: Tacca 

สปีชีส์: chantrieri

ชื่อพ้อง: 

-Tacca chantrieri  André 

-Clerodendrum esquirolii H.Lév.

-Schizocapsa breviscapa (Ostenf.) H.Limpr

-Schizocapsa itagakii Yamam.

-Tacca esquirolii (H.Lév.) Rehder

-Tacca garrettii Craib

-Tacca macrantha H.Limpr.

-Tacca minor Ridl,. Tacca paxiana H.Limpr.

-Tacca roxburghii H.Limpr.

-Tacca vespertilio Ridl.

-Tacca wilsonii  

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เนระพูสี thai-herbs.thdata.co | เนระพูสี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเนระพูสีไทย เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีประมาณ 3-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เส้นแขนงของใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันเกือบถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ และมีก้านใบยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร


เนระพูสี thai-herbs.thdata.co | เนระพูสี สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อกลุ่ม ๆ ประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ในแต่ช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 4-6 ดอก (มีมากสุดถึง 25 ดอกย่อย) แทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา ดอกเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน กลีบด้านนอก 3 กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านใน 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และดอกยังมีใบประดับเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม 2 คู่ ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ไม่มีก้าน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่ หรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับคู่ในแผ่กว้างออก มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีด้วยกันหลายขนาด กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-17 เซนติเมตร และมีใบประดับที่ลดรูปเป็นเส้นด้ายอีก 5-25 ใบ ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เป็นสีเขียวหรือสีม่วง และกลีบดอกจะติดอยู่ไม่หลุดร่วงได้ง่าย

ผล ลักษณะของผลเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีสันเป็นคลื่น 6 สันตามยาวของผล มีวงกลีบรวมที่ยังไม่ร่วงติด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าเขา ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 50-1,000 เมตร

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์:ตอนใต้ของจีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า เวียดนาม และในชายฝั่งมาเลเซีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกกอ หรือขุดเหง้านำไปปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้บิด มูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย (ไข้รากสาด) แก้ปวดเบ่ง แก้ไข้เหนือ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ

*เหง้า รสฝาดเย็น สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ปอดพิการ แก้ลมสันนิบาต 7 จำพวก ดับพิษไข้ แก้คอเปื่อย ลิ้นเปลื่อย แก้ไอ แก้ซางเด็ก

*รากอากาศ สรรพคุณ คล้ายกับเหง้า

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เนระพูสี ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ตำรับยาเขียวหอม” มีส่วนประกอบของเนระพูสีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ใบมีรสขมหวาน ชาวปะหล่องใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ 

-ชาวกะเหรี่ยงแดงใช้ใบรับประทานร่วมกับน้ำพริก 

-คนเมืองและชาวเผ่าม้ง มูเซอ จะใช้ใบอ่อนนำมาย่างไฟให้อ่อนหรือนำมาลวกใช้รับประทานกับลาบ

-ชาวขมุใช้ดอกรับประทานร่วมกับน้ำพริก และสำหรับคนเมืองจะใช้ทั้งดอกและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก 

-ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรเนระพูสีไทยมาสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสกัดบรรจุขวดหรือทำเป็นเจลสำหรับใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ ตัวยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ที่สำคัญยังมีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียและใช้รักษาสิวได้ด้วย

-นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีใบที่มีสีเขียวมัน และดอกที่สวยแปลกตา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง