Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: บอระเพ็ด

ชื่อท้องถิ่น: เจตมูลหนาม (หนองคาย)/ ตัวเจตมูลยาน เถาหัวดำ (สระบุรี)/ หางหนู (อุบลราชธานี)/ จุ่งจิง เครือเขาฮอ (ภาคเหนือ)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Tinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson

ชื่อวงศ์: MENISPERMACEAE

สกุล: Tinospora 

สปีชีส์: crispa 

ชื่อพ้อง: 

-Chasmanthera crispa (L.) Baill.

-Cocculus bantamensis Blume

-Cocculus crispus (L.) DC.

-Cocculus rimosus Blume

-Cocculus verrucosus (Roxb.) Wall.

-Menispermum bantamense (Blume) Spreng.

-Menispermum crispum L.

-Menispermum rimosum (Blume) Spreng.

-Menispermum tuberculatum Lam.

-Menispermum verrucosum Roxb.

-Tinospora gibbericaulis Hand.-Mazz.

-Tinospora mastersii Diels

-Tinospora rumphii Boerl.

-Tinospora thorelii Gagnep.

-Tinospora tuberculata (Lam.) Beumée ex K.Heyne

-Tinospora verrucosa (Roxb.) W.Theob.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นบอระเพ็ด เป็นไม้เถาเลื้อย เนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวถึง 15 เมตร เถากลม ขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มเปลือกของเถาบางลอกออกได้ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมาก เปลือกเถาคล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส  เถามีรสขมจัด สีเทาแกมเหลือง มีรากอากาศคล้ายเส้นด้ายยาว กลม ยาว สีน้ำตาลเข้ม


บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักเป็นรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง หรือรูปกลม กว้างประมาณ 6-12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร โคนเรียวแหลมยาว ปลายจักเป็นรูปหัวใจลึก หรือตื้น เนื้อคล้ายแผ่นกระดาษบาง มักมีต่อม ใบด้านล่างบางครั้งพบต่อมแบนตามโคนง่ามของเส้นใบ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือมี 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร บวมพอง และเป็นข้องอ


บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่งแก่ๆที่ไม่มีใบ มักออกดอกเมื่อใบหลุดร่วงหมด มี 2-3 ช่อ เล็กเรียว ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่ต่างดอก ช่อดอกเพศผู้ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกมี 1-3 ดอก ติดเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ มีก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน วงนอกมี 3 กลีบ รูปไข่ หนาที่โคน ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร วงในมี 3 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลม หรือโคนแหลม ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบวงนอกเท่านั้นที่เจริญขึ้น รูปใบหอกกลับแคบ แบน ไม่มีตุ่ม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้มี 6 อัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย ยาวประมาณ 2-6 มิลลิเมตร ดอกส่วนมากเกิดเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ปลอมมี 6 อัน เป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 3 อัน ทรงรี ยาว 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูสั้น


บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลสด ออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีก้านผลเป็นรูปกึ่งปิรามิด ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ใต้ลงมาเป็นกลีบเลี้ยงที่ติดแน่น รูปไข่ ยาว 2 มิลลิเมตร โค้งกลับ เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้ม ทรงรี ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในสีขาว ทรงรี กว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 11-13 มิลลิเมตร ผิวย่นเล็กน้อย หรือเกือบเรียบ มีสันที่ด้านบนชัด มีช่องเปิดรูปรีเล็กที่ด้านบน

สภาพนิเวศวิทยา: พบทั่วไป

ถิ่นกำเนิด: อินเดียไปจนถึงจีน (ยูนนานใต้) และมาเลเซียตอนกลางกลาง-ตะวันตก

การกระจายพันธุ์: อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนกลางใต้, อินเดีย, จาวา, ลาว, ซุนดา, มาลายา, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม, เกาะคริสต์มาส, เกาะลีวาร์ด, ศรีลังกา

บอระเพ็ด thai-herbs.thdata.co | บอระเพ็ด สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เถา รสขมเย็น สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ ไข้เหนือ ไข้พิษ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้เนื้อเย็น สะอึก บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี บำรุงไฟธาตุ

*ใบ  สขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิไส้เดือน ฆ่าแมลงเข้าหู แก้รำมะนาด ปวดฟัน

*ลูก รสขม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้เสมหะเป็นพิษ

*ราก สรรพคุณ แก้ไข้สูงมีอาการเพ้อคลั่ง

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เถา มีสารขมชื่อ picroretin, columbin, picroretroside, ไดเทอร์ปีนอยด์ชื่อ  tinosporan, columbin สารประเภทเอมีนที่พบคือ N-trans-feruloyl tyramine, N-cis-feruloyl tyramine สารฟีโนลิค ไกลโคไซด์ คือ tinoluberide

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ลดไข้ การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของบอระเพ็ด โดยทดลองกับสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยสารต่างๆ ได้แก่ การทดลองกรอกสารสกัดบอระเพ็ดด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ให้กระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยยีสต์ พบว่าสารสกัดไม่มีฤทธิ์ลดไข้ บุญเทียม และคณะ ได้ทดลองให้สารสกัดบอระเพ็ดด้วยน้ำกับหนูเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยวัคซีนไทฟอยด์ในขนาด 100 มก./กก. โดยการผสมกับน้ำดื่ม  พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้ และต่อมาได้ทำการทดลองโดยให้สารสกัดบอระเพ็ดกับกระต่ายและหนูขาวเพศผู้ที่เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วย LPS (Lipopolysaccharide) ในขนาด 200 มก./กก. และ 600 มก./กก. ตามลำดับ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้ได้เช่นเดียวกัน จากการศึกษาเชื่อว่ากลไกในการยับยั้งการเกิดไข้ของสารสกัดบอระเพ็ดน่าจะเกิดขึ้นจากการไปยับยั้งการสร้าง interleukin-1 หรือ prostaglandins (PGs) ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่อยู่ในระบบ CNS นอกจากนี้ยังมีผู้พบว่าส่วนสกัดด้วยบิวทานอลมีฤทธิ์ลดไข้ ไม่มีการทดลองแยกสารออกฤทธิ์ลดไข้จากบอระเพ็ด แต่มีรายงานฤทธิ์ลดไข้ของสารที่พบในบอระเพ็ดคือ berberine เมื่อป้อนให้หนูในขนาด 10 มก./กก. และ b-sitosterol ซึ่งออกฤทธิ์ในขนาด 160 มก./กก.

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของชาชงบอระเพ็ดโดยการกรอกให้แกะเพศผู้ (ตอน) ในขนาด 8 มล./ตัว พบว่าชาชงบอระเพ็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบเท่ากับแอสไพริน 30 มก./น้ำหนักตัว 200 ก. Higashino และคณะ ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเถาบอระเพ็ดด้วยเมทานอล (50%) กับหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย carrageenin โดยให้กินสารสกัดในขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยส่วนสกัดด้วยบิวทานอลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะให้โดยการกิน ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้าช่องท้อง และพบว่าส่วนสกัดในขนาด 3 มก./กก. เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีฤทธิ์เทียบเท่ากับ sulpyrine 250 มก./กก. และ diphenhydramine 10 มก./กก.

-ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสาร borapetosides A สารสำคัญที่พบในต้นบอระเพ็ด โดยการฉีด borapetosides A ให้แก่หนูเม้าส์ที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และหนูเม้าส์ปกติ วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน พบว่า borapetosides A จะช่วยเพิ่มระดับของไกลโคเจน และลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน โดยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของ borapetosides A เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณอินซูลินในหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ไม่มีผลต่อระดับอินซูลินในหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นอกจากนี้ยังพบว่าสาร borapetosides A กระตุ้นการสังเคราะห์ไกลโคเจนในเซลล์เนื้อกล้ามเนื้อ รวมทั้งลดการแสดงออกของโปรตีน phosphoenolpyruvate carboxylase ที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นเบาหวานได้ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสาร borapetosides A จากต้นบอระเพ็ดสามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งชนิดที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอินซูลิน โดยผ่านกลไกกระตุ้นการใช้กลูโคสของกล้ามเนื้อ ลดการสะสมน้ำตาลในเซลล์ และกระตุ้นการสร้างอินซูลิน

-การทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าบอระเพ็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานโดยให้ทานบอระเพ็ด วันละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลได้ แต่ขณะทำการทดลองผู้ป่วยหลายรายมีอาการตับอักเสบ และพบว่าการใช้บอระเพ็ดในขนาดสูงและติดต่อกันนานจะเป็นพิษต่อตับและไต มีรายงานการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าเมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดี 12 ราย กินบอระเพ็ดขนาด 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 8 สัปดาห์ พบว่าแนวโน้มทำให้ระดับเอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น แสดงว่ามีแนวโน้มจะทำให้เกิดพิษต่อตับ

การศึกษาทางพิษวิทยา: 

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเถาด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

-การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดด้วยเอทานอลของเถาบอระเพ็ดในหนูขาว พบว่าเมื่อให้สารสกัดในขนาดสูงและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของการทำงานของตับและไตได้ ดังนั้นหากนำบอระเพ็ดมาใช้และพบอาการผิดปกติของการทำงานตับและไต ควรหยุดการใช้สมุนไพรนี้ และห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะเอนไซม์ตับบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต

การใช้ประโยชน์:

-ตำราอายุรเวทของอินเดีย  ใช้  เถา เป็นยาแก้ไข้ เช่นเดียวกับชิงช้าชาลี กล่าวไว้ว่า แก้ไข้ดีเท่ากับซิงโคนา แก้ธาตุไม่ปกติ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ แก้อาการเกร็ง

-โรคกระเพาะอาหาร ใช้บอระเพ็ด 5 ส่วน / มะขามเปียก 7 ส่วน / เกลือ 3 ส่วน / น้ำผึ้งพอควร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา

-อาการแก้ไข้ ใช้เถาสดประมาณ 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีต้มเคี่ยว (ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน) แบ่งครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารวันละ 2-3 ครั้งเมื่อตอนมีไข้ หรือจะนำเถาบอระเพ็ดมาตากแห้ง บดให้เป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้

-ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิต ใช้เถาสดที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำมาชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อน เช้าและเย็น

-ช่วยให้ผมดกหนาขึ้นและอาการผมหงอก ผมร่วงก็จะลดน้อยลง ซึ่งจะได้ผลดีอย่างมากกับผู้ที่มีอาการผมหงอกก่อนวัย หากรับประทานผงบอระเพ็ดวันละ 600 mg. เป็นเวลา 1 เดือน





ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง