Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: จันทน์แดง (จันทร์ผา, จันทน์ผา, จันผา)

จันทน์แดง thai-herbs.thdata.co | จันทน์แดง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: จันทน์แดง (ภาคกลาง, สุราษฎร์ธานี)/ ลักกะจันทน์ ลักจั่น (ภาคกลาง)/ จันทน์ผา (ภาคเหนือ)/ จันทร์ผา ลักกะจั่น จันทร์แดง

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen. 

ชื่อวงศ์:  ASPARAGACEAE

สกุล: Dracaena 

สปีชีส์: cochinchinensis 

ชื่อพ้อง: 

-Aletris cochinchinensis Lour.

-Dracaena loureiroi Gagnep.

-Dracaena saposchnikowii Regel.

-Draco saposchnikowii (Regel) Kuntze.

-Pleomele cochinchinensis Merr. ex Gagnep.

-Dracaena cochinchinensis

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

จันทน์แดง thai-herbs.thdata.co | จันทน์แดง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นจันผา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-4 เมตร (ต้นโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 17 เมตร) เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ มีเรือนยอดได้ถึง 100 ยอด เมื่อต้นโตขึ้นจะแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง กลม มีแผลใบเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ไม่มีกิ่งก้าน ใบจะออกตามลำต้น ส่วนแก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง ต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นแก่นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง เราจะเรียกแก่นสีแดงว่า "จันทน์แดง" เมื่อแก่นเป็นสีแดงเต็มต้น ต้นก็จะค่อย ๆ โทรมและตายลง

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันถี่ ๆ ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีขอบขนาน หรือเป็นรูปแถบยาวแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ  ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 45-80 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนากรอบ โคนใบจะติดกับลำต้นหรือโอบคลุมลำต้น ไม่มีก้านใบ และมักจะทิ้งใบเหลือเพียงยอดเป็นพุ่ม


จันทน์แดง thai-herbs.thdata.co | จันทน์แดง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด โค้งห้อยลง เป็นพวงขนาดใหญ่ตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อจะมีความยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กและมีจำนวนมากมายหลายพันดอก ดอกเป็นสีขาวนวล หรือขาวครีม หรือเขียวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีจุดสีแดงสด กลีบดอกมี 6 กลีบ ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 ก้าน ก้านเกสรมีความกว้างเท่ากับอับเรณู ส่วนก้านเกสรตัวเมียปลายแยกเป็นพู 3 พู ชั้นกลีบเลี้ยงเป็นหลอด ที่ปลายกลีบแยกเป็นพูแคบ ๆ 6 พู ไม่ซ้อนกัน 


จันทน์แดง thai-herbs.thdata.co | จันทน์แดง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะออกผลเป็นช่อพวงโต ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นพวง ผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงคล้ำ ภายในผลมีเมล็ดเดียว

สภาพนิเวศวิทยา: มักพบขึ้นตามป่าภูเขาหินปูน

ถิ่นกำเนิด: ไทย

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการแยกกอ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้ และแก่น รสขมเย็น สรรพคุณ แก้ไอ แก้ซางอันบังเกิดแต่ดี แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บาดแผล แก้ไข้เพื่อดีพิการทำให้ชื่นใจ แก้ร้อนดับพิษไข้ทุกชนิด ฝนทาแก้ฟกบวม

-พิกัดยา  ประกอบด้วย

1.“พิกัดเบญจโลธิกะ”คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง 

2.“พิกัดจันทน์ทั้ง 5 “ คือการจำกัดจำนวนแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล

-ตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ปรากฏตำรับ “มโหสถธิจันทน์” ประกอบด้วย จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด สรรพคุณแก้ไข้ทั้งปวง ที่มีอาการตัวร้อน อาเจียนร่วมด้วยก็ได้

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้จันทน์แดงในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของจันทน์แดง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง 

2.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของจันทน์แดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู “ตำรับยาเขียวหอม”  บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารกลุ่ม  homoisoflavanones, retrodihydrochalcone, stilbenes

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ในการรักษาแผล ใช้สารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley ที่มีแผลผ่าตัด (excision wound) และแผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) ทำการแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการรักษาด้วยยาพื้น (ointment base) เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐานคือ moist exposed burn ointment (MEBO) ส่วนกลุ่มสามได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดงและติดตามเปอร์เซ็นต์ของการเกิดการหดตัวของแผล (wound contraction), ระยะเวลาการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (epithelialization period) ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดเอทานอล ของจันทน์แดงและ MEBOมีการหดตัวของแผล และการสมานแผลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการสร้าง bloodcapillaries, collagen fibres และ fibroblasts cellsได้ตั้งแต่วันที่ 7 หลังเกิดแผล และมีการสร้างเนื้อเยื่อสมบูรณ์ในวันที่ 21(Liu, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด สกัดสารสำคัญจากจันทน์แดง ด้วยethanol (EA) และ precipitate B (PB) fraction ให้หนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มควบคุม (control group), กลุ่ม 2  ได้รับ 0.5% CMC-Na, กลุ่ม 3 เป็นตัวควบคุมเชิงบวก (positive group) ได้รับ Xuesaitong tabletsขนาด 0.10 กรัม/กิโลกรัม/วัน, กลุ่ม  4  ได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง และกลุ่ม 5 ได้รับ precipitate B (PB) ขนาดสารทดสอบ กลุ่ม 4 และ 5 คือ 0.10, 1.07 และ 0.82 g/kg/วันเป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) (p < 0.05), ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (p < 0.01) และมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด (p < 0.05–0.01) ที่ดีกว่า precipitate B (PB) fraction อย่างมีนัยสำคัญ(Xin, et al., 2011)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Diphtheria bacilli และ  Bacillus anthracis พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรสามารถยับยั้งเชื้อได้  และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นจนถึง 50mg/ml จะสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียCandida albicans และ Cryptococcus neoformansได้ นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต่อการยับยั้งเชื้อ  Staphylococcus aureus, S. lemon, S. diphtheria มีค่า  MIC50 เท่ากับ 3.12 mg/kgและฤทธิ์ต่อการยับยังเชื้อ Escherichia coli, Salmonella typhi, Pseudomonas aeruginosa, Nessler cocci และShigella flexneri  โดยมีค่า  MICน้อยกว่า 50 mg/kg นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารฟลาโวนอยด์ที่แยกได้ คือ 6,7- และ (2S)-4,7-dihydroxy-8-methylflavan ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อ H. pylori โดยมีค่า MIC เท่ากับ 29.5, 29.5 และ 31.3 μM ตามลำดับ สาร Pterostilbene มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราหลายชนิด ได้แก่ Trichophyton rubrum, T. mentogrophtes, Candida albican, C. parapsilosis, Cryptococcus neoformans และ Aspergrillus fumigates

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเนื้อไม้ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ในระยะยาวของจันทน์แดง  โดยการให้สารสกัดจันทน์แดงในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม และ 1.5 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ในกระต่าย เป็นเวลา 90 วัน  ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจันทน์แดงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพ เช่น จำนวน erythrocytes, leukocytes, เอนไซม์ alanine aminotransferase (ALT), urea nitrogen และน้ำหนักตัวในสัตว์ทดลอง ไม่มีการทำลายไตหรือตับ ส่วนการศึกษาพยาธิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบเพียงการขยายตัวของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ (Fan, et al., 2014)

การใช้ประโยชน์:

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นจันผาเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประธานในสวนหิน ใช้ปลูกเป็นกลุ่ม หรือปลูกประดับในอาคาร ตามสนามหญ้า สวนหย่อม ตามสระว่ายน้ำ 

-ลำต้นที่เกิดบาดแผลนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงน้ำยาอุทัยได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง