Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สมอไทย

ชื่อท้องถิ่น: สมออัพยา (ภาคกลาง)/ หมากแน่ะ ม่าแน่ (ภาคอีสาน)/ สมอ (นครราชสีมา)/ หมากแน่ะ (แม่ฮ่องสอน)/ ม่าแน่ (เชียงใหม่)/ หม่านะ (ภาคเหนือ)/ หมากแน่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)สมออัพยา ลูกสมอ (ทั่วไป)

ชื่อสามัญ: Chebulic Myrobalans, Myrolan Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia chebula Retz.

ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

สกุล: Terminalia 

สปีชีส์: chebula

ชื่อพ้อง: 

-Terminalia acuta Walp.

-Terminalia gangetica Roxb.

-Terminalia parviflora Thwaites

-Terminalia reticulata Roth

-Terminalia zeylanica Van Heurck & Müll. Arg.

-Buceras chebula (Retz.) Lyons

-Myrobalanus chebula (Retz.) Gaertn.

-Myrobalanus gangetica

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้น ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงประมาณ 20-30 เมตร เรือนยอดกลมกว้าง เปลือกต้นขรุขระ สีเทาอมดำ เปลือกในสีเหลืองอ่อน เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีแดง กิ่งอ่อนสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมน้ำตาล มีขนคล้ายไหม เปลือกแตกเป็นสะเก็ดห่างๆ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น 

ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปรีกว้าง กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 11-18 เซนติเมตรปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลมหรือกึ่งตัด หรือบางครั้งเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเป็นเงามันมีขนเล็กน้อย ผิวด้านล่างมีขนคล้ายไหมถึงขนสั้นหนานุ่ม เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ข้างละ 5-8 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีขนคล้ายไหม มีต่อม 1 คู่ ใกล้โคนใบ 

ดอก ดอกออกเป็นช่อคล้ายช่อเชิงลดหรือช่อแยกแขนง มี 3-5 ช่อ สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ  มักจะออกพร้อมๆกับใบอ่อน ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อดอก หรือก้านช่อดอกสั้น แกนกลางสั้นและเปราะ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสมบูรณ์เพศขนาดเล็กประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ไม่มีกลีบดอก ส่วนบนเป็นรูปถ้วยตื้นมีขนคลุมด้านนอก ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลเมตร ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก เกลี้ยง รูปคล้ายสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้มี 10 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ 3-3.5 มิลลเมตร เกลี้ยง จานฐานดอกมีขน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ก้านเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ 2-3.5 มิลลเมตร รังไข่เกลี้ยง หมอนรองดอกมีพูและขนหนาแน่น ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือเกือบกลม กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง หรือมีสันตื้น ๆ ตามยาว 5 สัน เมื่อแก่สีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวปนน้ำตาลแดง 

ผล เมล็ดแข็ง มี 1 เมล็ด รูปยาวรี 

สภาพนิเวศวิทยา: พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือพบตามทุ่งหญ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง ประมาณ 1,000 เมตร

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ผล รสฝาดติดเปรี้ยว สรรพคุณ ระบายอ่อนๆ แก้ลมป่วง แก้พิษร้อนภายใน คุมธาตุแก้ลมจุกเสียด รู้ผายธาตุ รู้ระบายรู้ถ่ายอุจจาระ ถ่ายพิษไข้ คุมธาตุในตัวเสร็จ แก้ไข้เพื่อเสมหะ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีผลา” ได้แก่ ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณ แก้ปิตตะวาตะ สมหะในกองธาตุ ฤดู อายุ และกองสมุฏฐาน

2.“พิกัดตรีสมอ” ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอเทศ ลูกสมอพิเภก สรรพคุณ แก้เสมหะ แก้ไข้ บำรุงธาตุ ผายธาตุ  รูถ่ายรู้ปิดเอง

3.“พิกัดตรีฉินทลมกา” ได้แก่ โกฐน้ำเต้า ลูกสมอไทย รงทอง สรรพคุณ ถ่ายท้องบำรุงธาตุ ขับลม  ถ่ายไข้เพื่อเสมหะ ถ่ายโลหิตและน้ำเหลืองเสีย

4.“พิกัดจตุผลาธิตะ” ได้แก่ ลูกสมอไทย ลูกสมอภิเภก ลูกมะขามป้อม ลูกสมอเทศ สรรพคุณ ถ่ายไข้ ถ่ายลมแก้โรคตา บำรุงธาตุ ผายธาตุ ถ่ายรูปิดธาตุ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้สมอไทยในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ตำรับ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ตำรับ “ยาวิสัมพยาใหญ่” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ตำรับ “ยาอภัยสาลี” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น ตำรับ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเฉพาะในรายที่ท้องผูกมากหรือในรายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังและใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล ตำรับ “ยาธรณีสันฑะฆาต” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้เถาดาน ท้องผูก ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของสมอไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น

2.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ปรากฏตำรับ “ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ตำรับ “ยาปราบชมพูทวีป” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ

3.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

4.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาธรณีสันฑะฆาต” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้กษัยเส้น ตำรับ “ยาสหัศธารา” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

5.ยาบำรุงธาตุ ปรับธาตุ ปรากฏตำรับ “ยาตรีพิกัด” มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ปรับสมดุลธาตุ 

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ผล พบสาร gallic acid, chebulic acid, chebulinic acid, chebulagic acid, corilagin, terchebin, glucogallin, ellagic acid, sennoside A, chebulin, catechol, tannic acid

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของใบสมอไทย สกัดสารโดยใช้ปิโตรเลียมอีเธอร์, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซีเตต, อะซีโตน, เมทานอล และน้ำ ด้วยวิธี soxhlet apparatus พบสาร phenolic, flavonoid, flavonol, tannin เป็นส่วนประกอบอยู่ในสารสกัดอะซีโตนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ สารสกัดเอทิลอะซีเตต เมทานอล น้ำ และคลอโรฟอร์ม ตามลำดับ และศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีทางเคมีในหลอดทดลอง ด้วยวิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) radical scavenging assay และทดสอบ Reducing power โดยการเปรียบเทียบกับ ascorbic acid และ alpha-tocopherol ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐาน 

-ฤทธิ์ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ การศึกษาผลของสารสกัดสมอไทยต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยประเมินจากระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ (intestinal transit time) ในหนูเม้าส์ สายพันธุ์ Swiss albino โดยการป้อนสารสกัดที่ได้จากการต้มผลแก่สมอไทย ที่นำมาเตรียมใน 2 รูปแบบ คือแบบผง และแบบตอกอัดเม็ด ในขนาด 550 mg/kg ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 2 รูปแบบ สามารถลดระยะเวลาที่อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ใกล้เคียงกัน เท่ากับ 37.94% และ 35.85% ตามลำดับ ให้ผลไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผลสมอไทยทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวตัว เพื่อขับอุจจาระออกมาได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่สารสกัดสามารถทำลายแรงยึดเกาะระหว่างอุจจาระกับผนังลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกได้ หรืออาจเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ได้ (Jirankalgikar, et al., 2012)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Helicobacter pyroli ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบที่กระเพาะอาหาร โดยนำผลเนื้อผลแห้งของสมอไทย จำนวน 10 กรัม มาหมัก ด้วยน้ำ, อีเธอร์ หรือเอทานอล ที่อุณหภูมิ 35ºC เป็นเวลา 24 ชั่วโมง  แล้วนำสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์โดยใช้เทคนิค agar diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำของสมอไทย แสดงฤทธิ์ในการต้านเชื้อ H. Pyroli ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 125 มิลลิกรัม/ลิตร และมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) เท่ากับ 150 มิลลิกรัม/ลิตร โดยสารสกัดจะมีฤทธิ์เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้ไอน้ำร้อน และแรงดันสูง (autoclave) เป็นเวลา 30 นาที ที่อุณหภูมิ 121 °C  นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำของสมอไทยที่ความเข้มข้น 1.5 และ 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเอนไซม์ urease ของเชื้อ  H. pylori ได้ภายในเวลา  60  นาทีโดยฤทธิ์จะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารสกัด  โดยเอนไซม์ urease จะลดลง 24%  และ 67%  ตามลำดับ  (Malekzadeh, et al., 2001)

-ฤทธิ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร การศึกษาผลของยาตรีสมอต่อการควบคุมและการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารซึ่งตำรับยาตรีสมอประกอบด้วยพืชทั้งสิ้น 3 ชนิด คือสมอไทย สมอเทศ และสมอพิเภก ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยทำการทดลองทั้งในหลอดทดลอง และในร่างกายหนูทดลอง ทำการทดสอบผลในร่างกายหนู โดยศึกษาผลของสารทดสอบในการทำให้กระเพาะอาหารว่าง และการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley และการทดสอบในหลอดทดลองโดยใช้ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ที่แยกมาจากหนูตะเภาเพศผู้ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลลดระยะเวลาในการขนส่งอาหารออกจากกระเพาะอาหาร และยังมีผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหาร  ส่วนการทดลองในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นต่ำ (0.1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) ทำให้เกิดการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่แยกออกมา แต่อย่างไรก็ตามผลในการกระตุ้นการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาจะลดลงอย่างมากที่ความเข้มข้นของสารสกัดที่สูงขึ้น (0.2-1 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าตำรับยาตรีสมอสามารถนำไปใช้เป็นยาระบาย และแก้ท้องร่วงได้ (Wannasiri, et al., 2015)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดสมอไทย โดยการให้สารสกัดเอทานอลจากผลสมอไทย ขนาด100-500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แก่หนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ซึ่งจะค่อยๆ เพื่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (graded dose) เป็นเวลา 30 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดสมอไทย ไม่มีผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ทดลองและหลังจบการทดสอบ สัตว์ทดลองทุกตัวยังรอดชีวิต และไม่พบอาการและอาการแสดง เช่น กระวนกระวาย,หายใจลำบาก, ท้องเสีย, ชัก,ไม่รู้สึกตัว ผลการตรวจเอนไซม์ต่างๆ เช่น aspartate transaminase (AST), alanine transaminase (ALT) และ alkaline phosphatase (ALP) มีค่าปกติ แสดงว่าสารสกัดสมอไทยไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลัน (Kumar, et al., 2006)

การใช้ประโยชน์:

-ยาระบายอ่อนๆ ใช้ผลอ่อน 5-6 ผล หรือ 30 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว จะถ่ายหลังให้ยาประมาณ 2 ชั่วโมง

-แผลเรื้อรัง ใช้ผลแก่นำมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาโรยใส่แผล

-ผล ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง มี Tannin มาก ใช้ทำหมึก

-ผลดิบ ใช้รับประทานเป็นผลไม้สด หรือนำไปดองเกลือก็ได้ ส่วนผลห่ามสามารถนำไปจิ้มน้ำพริกกินได้ 

-เนื้อไม้ สีเทาแดง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ดี



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง