Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สารภี

ชื่อท้องถิ่น: สารภีแนน (เชียงใหม่), ทรพี สารพี (จันทบุรี), สร้อยพี (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ: Negkassar

ชื่อวิทยาศาสตร์: Mammea siamensis T.Anderson

ชื่อวงศ์: CALOPHYLLACEAE

สกุล: Mammea 

สปีชีส์: siamensis 

ชื่อพ้อง: 

-Calysaccion siamense Miq.

-Mammea birmannica T.Anderson

-Ochrocarpos siamensis (Miq.) T.Anderson

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสารภี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาลถึงดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดทั่วลำต้น เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดง มียางสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง ถี่และสม่ำเสมอ แข็ง และค่อนข้างทนทาน 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ๆ บางทีอาจมีติ่งสั้น ๆ หรือหยักเว้าแบบตื้น ๆ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบจะสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาและค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงของใบไม่มี แต่เห็นเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวน 2 ปลาย หลอดรังไข่แยกเป็นแฉก 3 แฉก

ผล ลักษณะผลเป็นรูปกระสวยหรือกลมรี ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลนิ่ม ผลเมื่อแก่จะแตกออกได้ และมีเมล็ดเดียว

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร สำหรับในประเทศไทย พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ 

ถิ่นกำเนิด: พม่า ไทย อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย

การกระจายพันธุ์: กัมพูชา ลาว มาลายา เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ดอก รสหอมเย็น สรรพคุณ ชูกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใช้ทำยาหอม

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดเกสรทั้ง 5” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลังบำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน แก้น้ำดี ให้เจริญอาหารและแก้โรคตา

2.“พิกัดเกสรทั้ง 7” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน ให้เจริญอาหารแก้โรคตา  แก้ไข้เพื่อเสมหะและโลหิต แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ แก้น้ำดี

3.“พิกัดเกสรทั้ง 9” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกลำเจียก ดอกลำดวน สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อลม แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ ให้เจริญอาหาร แก้โรคตา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้บุนนาค ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) ตำรับ “ยาหอมแก้ลมวิงเวียน” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ตำรับ “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาสตรีหลังคลอด” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับน้ำคาวปลา บำรุงเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วในหญิงหลังคลอด

3.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาเขียวหอม” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส) “ยาประสะจันทน์แดง” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ ตำรับ “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ถอนพิษไข้ตานซางสาหรับเด็ก

4.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

5.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยากษัยเส้น” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารกลุ่ม 4-alkylcoumarin, 4-phenyl-coumarin หลายชนิด, สารกลุ่ม triterpenoid เช่น friedelin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว การศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งเลือดขาวจากดอกสารภี โดยการทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งที่แยกได้จากสมองมนุษย์ ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ยับยั้ง P-glycoprotein  ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยับยั้งการขนส่งยาเคมีบำบัดผ่านไปยังเนื้องอกที่สมอง ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดดอกสารภีด้วยเฮกเซน ที่ความเข้มข้น 10 μg/ml สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด leukemia ได้ 99±0.8% และยับยั้ง P-glycoprotein โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 0.3 ±0.3 μg/ml  ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ของสารกลุ่มคูมาริน ที่แยกได้จากดอกสารภี พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MDA-MB-231) เนื้องอกที่สมอง (U-251) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HCT-116) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (CCRF-CEM) ได้ โดยสารส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน vincristine ค่า% การยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิด ของสารคูมาริน mammea A/AA เท่ากับ 58.9±0.8, 27.7±3.2, 73.5±4.9, 78.1±0.8  สาร MSH1 เท่ากับ 82.4.±0.9, 78.8±1.6, 97.6±0.6, 96.0±1.1  และสารมาตรฐาน vincristine เท่ากับ 51.5±12.9, 71.0±2.5, 54.8±9.4, 44.2±8.5 ตามลำดับ (Noysang, et al., 2014)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ผลสุก มีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น

-ดอกตูม ใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง

-ดอกสด สามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง

-ดอกแห้ง ใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นสารภีมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและบังลมได้ อีกทั้งยังมีดอกและพุ่มใบที่สวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย

-ในด้านความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นสารภีไว้ประจำบ้านจะส่งผลให้มีอายุยืนยาวเหมือนเช่นต้นสารภี เพื่อความเป็นสิริมงคลผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์) และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เนื่องจากสารภีเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสตรี

-เนื้อไม้ มีความแข็งแรงและค่อนข้างทนทาน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด ตง กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ฯลฯ



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง