Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: อีเหนียวเล็ก

ชื่อท้องถิ่น: นางเหนียว หนาดออน อีเหนียวเล็ก (ภาคกลาง)/ หญ้าตืดแมว (ภาคเหนือ)/ หนูดพระตัน หนูดพระผู้ (ภาคใต้)/ กระตืดแป (เลย)/ กระดูกอึ่ง อ้ายเหนียว (กาญจนบุรี)/ นอมะช่าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)/ หงหมู่จีเฉ่า (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Desmodium gangeticum (L.) DC.

ชื่อวงศ์: FABACEAE-LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อยFABOIDEAE-PAPILIONOIDEAE-PAPILIONACEAE

สกุล: Desmodium 

สปีชีส์: gangeticum

ชื่อพ้อง: 

-Desmodium gangeticum var. maculatum (L.) Baker

-Meibomia gangetica (L.) Kuntze

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นอีเหนียวเล็ก จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 60-150 เซนติเมตร กิ่งก้านอ่อน แตกกิ่งก้านที่ปลาย ตามลำต้นมีขนปกคลุมหนาแน่นถึงปานกลาง มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร

ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อยใบเดียว (ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ) ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีกว้างถึงรูปไข่ ปลายใบมน แหลม หรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือกลมเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร เนื้อใบบาง หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทา มีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งมีหลายกระจุก กระจุกหนึ่งมีดอกประมาณ 2-6 ดอก รวมเป็นช่อแยกแขนง ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมขาวหรือสีชมพู แกนกลางมีขนรูปตะขอโค้ง ใบประดับร่วงได้ง่ายทั้งคู่ ไม่มีใบประดับย่อย ก้านดอกย่อยยาว กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้าง ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่วสีขาวถึงสีชมพูอ่อน กลีบดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมติดกัน แยกเป็นสองมัด รังไข่มีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร

ผล ลักษณะผลเป็นฝักรูปแถบ ฝักมีลักษณะแบนโค้งงอเล็กน้อย แบ่งเป็นข้อ ๆ ฝักหนึ่งจะมี 7-9 ข้อ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร ตามผิวมีขนรูปตะขอโค้งสั้น เมล็ดอีเหนียวมีลักษณะเป็นรูปไต และมีเยื่อหุ้มเมล็ด

สภาพนิเวศวิทยา: พบในทุกภาคของประเทศไทยตามป่าโปร่งทั่วไป ป่าเปิดใหม่ ที่ระดับสูงถึง 1,900 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: แอฟริกา เอเชีย มาเลเซีย ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสจืด สรรพคุณ ตำพอกแผล ถอนพิษได้ดี

*ราก รสจืดเอียน สรรพคุณ แก้กาฬมูตร เป็นเม็ดในทางเดินปัสสาวะเป็นพิษอักเสบขับปัสสาวะให้เดินสะดวก

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ต้นอีเหนียวเล็ก พบสารสำคัญ ได้แก่ acetophenone, harman, chrysanthemin, iridin glucoside, tryptamine, tyvamine

-ราก พบสาร alkaloids 0.05% ใน alkaloids พบสาร N-Dimethyltryptamine, Hypapphorine, Hordenine N-Methyltyramine 

-ลำต้นและใบ พบสาร Nb-Methyltetrahydrohardon, 6-Methoxy-2-methyl-b-carbolinium 

-เมล็ด พบน้ำมัน น้ำตาล และ Alkaloid อีกเล็กน้อย

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองศึกษาผลของอีเหนียวในการลดไขมันในเลือด โดยทำการทดลองกับหนูทดลอง โดยให้สารสกัดอีเหนียวในหนูจำนวน 100 และ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ใช้เวลาทำการทดลองเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง P<0.05

-ฤทธิ์เป็นในการขับปัสสาวะ เมื่อนำสารที่สกัดจากใบในความเข้มข้น 10% มาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะได้ดี

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัดอีเหนียวทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 ให้หนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่หนูทนได้คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม

การใช้ประโยชน์:

-ยาพอกรักษาแผล ใช้รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม รากและก้านใช้ภายนอกได้ตามความเหมาะสม หรือจะใช้ต้นสดประมาณ 20-35 กรัม สำหรับตำพอกแผล

-ยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้ปลายประสาทผิวหนังอักเสบ ใช้ทั้งต้นใช้ตำพอก หรือทาบริเวณที่มีอาการ

-ยาขับปัสสาวะ ใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง