Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ตะขบป่า

ชื่อท้องถิ่น: หมักเบ็น (นครราชสีมา)/ เบนโคก (อุบลราชธานี)/ ตานเสี้ยน มะแกว๋นนก มะแกว๋นป่า (ภาคเหนือ)/ มะเกว๋น (เมี่ยน, คนเมือง)/ ตะเพซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่)/ บีหล่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง)/ ตุ๊ดตึ๊น (ขมุ)/ ลำเกว๋น (ลั้วะ)

ชื่อสามัญ: Ramontchi, Governor’s plum, Batoko plum, Indian plum, East Indian plum, Flacourtia, Madagascar plum

ชื่อวิทยาศาสตร์: Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.

ชื่อวงศ์: SALICACEAE

สกุล:  Flacourtia 

สปีชีส์: indica 

ชื่อพ้อง: 

-Flacourtia afra Pic.Serm.

-Flacourtia balansae Gagnep.

-Flacourtia elliptica (Tul.) Warb.

-Flacourtia gambecola Clos

-Flacourtia heterophylla Turcz.

-Flacourtia hilsenbergii C.Presl

-Flacourtia hirtiuscula Oliv.

-Flacourtia indica var. innocua (Haines) H.O.Saxena & Brahmam

-Flacourtia lenis Craib

-Flacourtia lucida Salisb.

-Flacourtia obcordata Roxb.

-Flacourtia parvifolia Merr.

-Flacourtia perrottetiana Clos

-Flacourtia ramontchi var. renvoizei Fosberg

-Flacourtia rotundifolia Clos

-Flacourtia rotundifolia Roxb.

-Flacourtia sapida Roxb.

-Flacourtia sepiaria Roxb.

-Flacourtia thorelii Gagnep.

-Myroxylon dicline Blanco

-Stigmarota africana Lour.

-Stigmarota edulis Blanco

-Xylosma elliptica Tul.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ตะขบป่า thai-herbs.thdata.co | ตะขบป่า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นตะขบป่า เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง ตามลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามแหลม กิ่งอ่อนจะมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนกิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม เปลือกต้นเป็นสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายแบบห่าง ๆ 


ตะขบป่า thai-herbs.thdata.co | ตะขบป่า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ขนาดของใบค่อนข้างเล็ก มักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง มีรูปร่าง ขนาด เนื้อใบ และขนที่ขึ้นปกคลุมแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วแผ่นใบจะเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบกลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบค่อนข้างเรียบหรือจัก (มักจักใกล้ปลายใบ) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมส้ม เส้นแขนงใบมีประมาณ 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ราง ๆ ก้านใบเป็นสีเขียวหรือแดงและมีขนยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร


ตะขบป่า thai-herbs.thdata.co | ตะขบป่า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง มีจร ดอกย่อยมีจำนวนน้อย ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว เป็นดอกแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกมีขน ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ที่ขอบกลีบมีขนแน่น ส่วนด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ดอกเพศผู้ จานฐานดอกจะแยกเป็นแฉกเล็กน้อยหรือหยักมน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนเฉพาะที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย จานฐานดอกจะเรียบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่กลม ปลายสอบแคบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีประมาณ 5-6 อัน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละก้านปลายจะแยกออกเป็น 2 แฉก และม้วนออก ส่วนกลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านในและขอบมีขนขึ้นหนาแน่น ส่วนด้านนอกเกลี้ยง


ตะขบป่า thai-herbs.thdata.co | ตะขบป่า สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะเป็นผลเดี่ยว หรือออกเป็นพวงเล็ก ๆ ตามกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าชายหาด ตลอดจนตามริมแม่น้ำ ชอบพื้นที่กลางแจ้ง ทนแล้งและน้ำท่วมขังได้ดี พบที่ระดับน้ำทะเลถึงความสูง 1,100 เมตร

ถิ่นกำเนิด: เอธิโอเปียำปจนถึงอาฟริกาใต้ จีนตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: นาตาล, หมู่เกาะแลกคาดิฟ, ลาว, ซุนดา, มาดากัสการ์, มาลาวี, มาลายา, โมซัมบิก, เมียนมาร์, นามิเบีย, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, รวันดา, โซมาเลีย, ศรีลังกา, ซูดาน, สุลาเวสี, แทนซาเนีย, ไทย, ยูกันดา, เวียดนาม, แซมเบีย, ซาเอร์, ซิมบับเว

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้ รสเบื่อเอียน สรรพคุณ ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตานขโมย แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ประดง

*แก่น รสฝาดขื่นต้มน้ำดื่ม แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ขับเหงื่อ ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตานขโมย แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคัน 

*ราก รสหวานฝาดร้อน กินแก้ไตอักเสบ แก้ตานขโมย ขับพยาธิไส้เดือน บำรุงน้ำนม แก้โรคปอดบวม ทั้งต้นหรือราก แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคันตามตัว 

*ลำต้น ผสมหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น หอยขมเป็นๆ 3-4 ตัว แช่น้ำให้เด็กอาบ แก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง 

*น้ำยางจากต้น ใช้แก้อหิวาตกโรค เปลือก แก้เสียงแห้ง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ 

*น้ำยางจากต้นและใบสด กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้บิดและท้องเสีย ช่วยย่อย 

*เปลือก ตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้คัน

*นำเปลือกมาแช่หรือชงเป็นยากลั้วคอ 

*น้ำต้มใบแห้ง กินเป็นยาฝาดสมาน ขับเสมหะ แก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ท้องร่วง ขับลม และบำรุงร่างกาย 

*ใบที่ย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังคลอดบุตร เมล็ด ตำพอกแก้ปวดข้อ 

*ผล กินได้มีวิตามินซีสูง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการโรคดีซ่าน ม้ามโต แก้คลื่นไส้อาเจียน และเป็นยาระบาย

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-ผลสุก นำมาแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์

-ผลสุก มีรสหวานอมฝาด ใช้รับประทานได้ มีวิตามินซีสูง

-เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้เป็นโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน ฯลฯ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรม

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้ให้ร่มเงา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง