Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: พิกุล

ชื่อท้องถิ่น: ซางดง (ลำปาง)/ พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช)/ พิกุลป่า (สตูล)/ แก้ว (ภาคเหนือ)/ กุน (ภาคใต้)/ ไกรทอง ตันหยง มะเมา พกุล พิกุลทอง

ชื่อสามัญ:Asian bulletwood, Bullet wood, Bukal, Tanjong tree, Medlar, Spanish cherry

ชื่อวิทยาศาสตร์: Mimusops elengi L.

ชื่อวงศ์: SAPOTACEAE

สกุล: Mimusops

สปีชีส์: elengi

ชื่อพ้อง: 

-Imbricaria perroudii Montrouz.

-Kaukenia elengi (L.) Kuntze

-Kaukenia javensis (Burck) Kuntze

-Kaukenia timorensis (Burck) Kuntze

-Magnolia xerophila P.Parm.

-Manilkara parvifolia (R.Br.) Dubard

-Mimusops javensis Burck

-Mimusops latericia Elmer

-Mimusops lucida Poir.

-Mimusops parvifolia R.Br.

-Mimusops timorensis

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นพิกุล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม 


พิกุล thai-herbs.thdata.co | พิกุล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย


พิกุล thai-herbs.thdata.co | พิกุล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลจะมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก ดอกมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ 8 ก้าน อับเรณูเป็นรูปใบหอกและยาวกว่าก้านชูอับเรณู เกสรตัวผู้เป็นหมัน 8 อัน และรังไข่มี 8 ช่อง เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล สามารถออกดอกได้ตลอดปี


พิกุล thai-herbs.thdata.co | พิกุล สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: อินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน 

การกระจายพันธุ์: มาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และออสเตรเลียทางตอนเหนือ รวมไปถึงเขตร้อนทั่ว ๆ ไป

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ ฆ่าแมงกินฟัน

*กระพี้ รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้เกลื้อน

*แก่น รสขมเฝื่อน สรรพคุณ บำรุงโลหิต

*ใบ รสเมาเบื่อฝาด สรรพคุณ ฆ่าเชื้อกามโรค

*ดอก รสฝาดกลิ่นหอม สรรพคุณ แก้ลม บำรุงโลหิต

*ราก รสขม สรรพคุณ บำรุงโลหิต แก้เสมหะ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดเกสรทั้ง 5” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลังบำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน แก้น้ำดี ให้เจริญอาหารและแก้โรคตา

2.“พิกัดเกสรทั้ง 7” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน ให้เจริญอาหารแก้โรคตา  แก้ไข้เพื่อเสมหะและโลหิต แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ แก้น้ำดี

3.“พิกัดเกสรทั้ง 9” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกลำเจียก ดอกลำดวน สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อลม แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ ให้เจริญอาหาร แก้โรคตา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้บุนนาค ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) “ยาหอมแก้ลมวิงเวียน” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาสตรีหลังคลอด” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับน้ำคาวปลา บำรุงเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วในหญิงหลังคลอด

3.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาเขียวหอม” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส) “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ถอนพิษไข้ตานซางสาหรับเด็ก

4.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

5.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยากษัยเส้น” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เปลือกต้น พบสารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Beta amyrin, Betulinic acid, Lupeol, Mimusopfarnanol, Taraxerone, Taraxerol, Ursolic acid, สารในกลุ่มกรดแกลลิก ได้แก่ Phenyl propyl gallate, น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Cadinol, Diisobutyl phthalate, Hexadecanoic acid, Octadecadienoic acid, Taumuurolol, Thymol

-ดอก พบสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วย 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%, 2-phenylethanol 37.80%, 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)-cinnamyl alcohol 13.72%, Methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94%)

-ผลและเมล็ด  พบสารDihydro quercetin, Quercetin, Quercitol, Ursolic acid, สารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ซึ่งได้แก่ Mimusopane, Mimusops acid, Mimusopsic acid ส่วนเมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่ 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, Mimusopside A and B, Mi-saponin A และยังมีสารอื่น ๆ อีก ได้แก่ Alpha-spinasterol glucoside, Taxifolin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ  การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระศึกษาในหลอดทดลอง ศึกษาผลการยับยั้งอนุมูลอิสระ 2 ชนิด ด้วยวิธีทางเคมี คืออนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระทั้ง 2 ชนิดได้ โดยมีค่าการยับยั้ง IC50 เท่ากับ 10.25 และ 13.5 μg/ml ตามลำดับ (Gadamsetty, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรท สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวม พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 200 และ 300 mg/kg หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดคาราจีแนนที่บริเวณอุ้งเท้าหนู พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ 33.03% (p<0.01) และ 32.2 % (p<0.01) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ในขนาด 10 mg/kg ลดการอักเสบได้ 33.2% ที่เวลา 12 ชั่วโมง หลังฉีดคาราจีแนน (Gadamsetty, et al., 2013)

-ฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ การศึกษาฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ของสารสกัดเมทานอลจากใบพิกุล ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ การทดสอบฤทธิ์แก้ปวดใช้วิธี tail immersion model โดยนำหางหนูจุ่มลงในน้ำรัอน บันทึกระยะเวลาที่หนูกระดกหางหนี การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ใช้วิธีการเหนี่ยวนำให้หนูเป็นไข้ด้วย Brewer’s yeast และทดสอบฤทธิ์สารสกัดในการลดอุณหภูมิที่บริเวณทวารหนักของหนูที่เวลาต่างๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดใบพิกุลด้วยเมทานอล มีฤทธิ์แก้ปวด และลดไข้ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ขนาดยา 200 mg/kg (Sehgal, et al., 2011)

-ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก และการเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis ของเซลล์ โดยใช้สารสกัดเมทานอลจากเปลือกและใบของพิกุล ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด HPV16 positive human cervical cancer cell line (SiHa) ที่แยกได้จากมนุษย์ ใช้การทดสอบด้วยวิธี MTT (3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2; 5-diphenyltetrazolium bromide) assay ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากเปลือกและใบ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 35.08 ± 2.92 และ 67.46 ± 4.21 μg/ml ตามลำดับ และสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย จาก 0.24% เพิ่มเป็น 60% และ 69% ตามลำดับ (Ganesh, et al., 2014)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกพิกุลด้วย ethylacetate, ethanol, methanol และน้ำ ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ แบ่งหนูออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มควบคุมได้รับ normal saline (2ml/kg) กลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ ได้รับสารสกัดพิกุลเพียงครั้งเดียวขนาด 50, 100, 200, 400, 800, 1000, 2000 และ 4000 mg/kg ตามลำดับ ติดตามผลการทดลองตั้งแต่ชั่วโมงที่หนึ่งถึงสี่ และติดตามต่อจนครบ 14 วัน พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ หนูทดลองมีพฤติกรรมปกติ น้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบการตายของหนู (Katedeshmukh, et al., 2010)

การใช้ประโยชน์:

-ผล สามารถใช้รับประทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และยังช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกได้เป็นอย่างดี

-เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระดาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ และยังใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่น การนำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ ฯลฯ

-เปลือกต้น ใช้สกัดทำสีย้อมผ้า

-นิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ เนื่องจากต้นพิกุลมีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย

-ดอก มีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอาง

-คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และสำหรับการปลูกต้นพิกุลเพื่อเสริมสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี (เนื่องจากพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพตรี) และควรปลูกต้นพิกุลทองในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์หรือวันจันทร์ (การปลูกไม้วันเสาร์เป็นการปลูกเพื่อเอาคุณ) เพื่อจะช่วยป้องกันโทษร้ายต่าง ๆ








ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง