Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เสม็ดขาว

ชื่อท้องถิ่น: เสม็ดขาว (ภาคตะวันออก)/ เม็ด เหม็ด (ภาคใต้)/ กือแล (มลายู-ปัตตานี)

ชื่อสามัญ: Cajuput tree, Milk wood, Paper bark tree, Swamp tree

ชื่อวิทยาศาสตร์: Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T.Blake

ชื่อวงศ์: MYRTACEAE

สกุล:  Melaleuca

สปีชีส์: quinquenervia 

ชื่อพ้อง: Melaleuca leucadendra var. minor (Sm.) Duthie

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นเสม็ด เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด มีความสูงของต้นประมาณ 5-25 เมตร มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา เปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ ส่วนเปลือกชั้นในบางและเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามยอดอ่อน ใบอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคุม และกิ่งมักห้อยลง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมนหรือเป็นรูปลิ้ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ เป็นสีเขียวอมเทา ใบอ่อนสีแดง มีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น ออกจากโคนใบจรดปลายใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนมีขนคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุม

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก ดอกประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร โคนกลีบติดกัน ส่วนดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปช้อนแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีขาวและมีจำนวนมาก ก้านเกสรเพศผู้ยาวพ้นกลีบดอกเป็นพู่ ก้านชูช่อดอกมีขนสีขาว 

ผล ลักษณะผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้เป็นพู 3 พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็กและแป้น มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหากใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุที่ถูกไฟเผาผลาญทำลายจนโล่งเตียน สำหรับในประเทศไทยพบต้นเสม็ดขาวได้มากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ 

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสร้อน สรรพคุณ ตำพอกแก้เคล็ดขัดยอก ฟกบวม ลนไฟขี้ไต้ นาบท้องเด็ก แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์:

-น้ำมันเขียว ใช้รับประทานเป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องขึ้น ถ้ากินมากจะเป็นยาขับพยาธิ และมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ฆ่าเชื้อโรค

-ยาหม่อง ใช้ทาแก้ปวดศีรษะ ปวดหู และใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน

-น้ำมันเสม็ด สามารถใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ เช่น ยุง เห็บ หมัด เหา ปลวก สัตว์ดูดเลือด เช่น ทาก ได้ดี และยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายอย่าง เช่น สเปรย์ไล่ยุง สเปรย์ฆ่าปลวก สเปรย์ป้องกันทาก ธูปกันยังแชมพูสุนัข เป็นต้น

-ใบและยอดอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด นำมาลวก หรือกินกับผักกับน้ำพริก 

-ใบ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ควายและแพะ 

-ใบสด มีรสขมหอมร้อน ใช้นำมากลั่นเป็น “น้ำมันเขียว” ใช้รับประทานช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ

-ดอกและยอดอ่อน มีรสเผ็ดใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกได้

-เนื้อไม้ มีความคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี จึงสามารถนำมาใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้ว และทำถ่านได้ดี

-เปลือกต้น ใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้านชั่วคราว ใช้ทำหมันเรือ ใช้อุดรูรั่วของเรือ ทำประทุนเรือ ใช้ย้อมแหหรืออวน ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวประมง

-ย้อมสีผ้า ใช้น้ำต้มใบเสม็ดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันหอมไปย้อมสีผ้าได้อีกด้วย โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อนและช่วยทำให้ผ้าคงทนต่อการเข้าทำลายของแมลงที่กัดกินเนื้อผ้าได้ดี



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง