Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: พริกไทย

ชื่อท้องถิ่น: -

ชื่อสามัญ: พริกไทย พริกไทยดำ พริกไทยล่อน (ภาคกลาง)/ พริกน้อย (ภาคเหนือ)/ พริก (ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper nigrum L.

ชื่อวงศ์: PIPERACEAE

สกุล: Piper 

สปีชีส์:nigrum

ชื่อพ้อง: 

-Muldera multinervis Miq.

-Muldera wightiana Miq.

-Piper aromaticum Lam.

-Piper baccatum C.DC.

-Piper colonum C.Presl

-Piper denudatum Opiz

-Piper glabrispica C.DC.

-Piper glyphicum Hoffmanns. ex Kunth

-Piper laxum Vahl

-Piper malabarense C.DC.

-Piper nigricans Willd. ex Link

-Piper nigrum var. hirtellosum Asokan Nair & Ravindran

-Piper rotundum Noronha

-Piper trioicum Roxb.

-Rhyncholepis haeankeana Miq.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

พริกไทย thai-herbs.thdata.co | พริกไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นพริกไทย เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง อายุหลายปี ข้อโป่งนูนมีรากฝอยตามข้อเถาเพื่อใช้ยึดเกาะ เถายาวประมาณ 2-4 เมตร มีข้อปล้องเห็นได้ชัด    


พริกไทย thai-herbs.thdata.co | พริกไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ ใบออกตามข้อหรือยอดเถา ใบรูปไข่ กว้างประมาณ  5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ  8-11 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ  2-3 เซนติเมตร โคนมนหรือเบี้ยวไม่เท่ากัน ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ผิวเรียบมัน เนื้อใบหนา ท้องใบอาจพบสารเคลือบใบสีขาวปกคลุม เส้นใบนูน หลังใบสีเขียวเข้ม

ดอก ออกเป็นช่อตรงข้ามกับใบที่ข้อเถา ไม่มีก้านดอก ออกบนช่อแกน ยาวประมาณ  7-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมีประมาณ  50-150 ดอก ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ 2 อัน ดอกลักษณะกลม ไม่มีกลีบรองดอกและกลีบดอก เริ่มบานจากส่วนโคนไปปลายช่อ ช่อดอกขณะอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อดอกจะห้อยลงดิน ดอกจะบานหมดทั้งช่อในเวลาประมาณ  5-7 วัน พริกไทย thai-herbs.thdata.co | พริกไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย พริกไทย thai-herbs.thdata.co | พริกไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะผลเป็นผลสด รูปกลม ขนาดประมาณ  0.3-0.5 เซนติเมตร ออกเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้งสีดำและมีผิวย่น ภายในผลหนึ่งๆจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีขาวนวล แข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เมล็ดมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด หากนำผลสุกมาแช่น้ำ เพื่อล่อนเปลือกชั้นนอกออกและนำมาผึ่งให้แห้ง จะได้ “พริกไทยล่อนหรือพริกไทยขาว” ส่วน”พริกไทยดำ” ได้จากกการนำผลที่โตเต็มที่แต่ยังไม่สุกมาทำให้แห้งทั้งผล

สภาพนิเวศวิทยา: เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน

ถิ่นกำเนิด: อินเดีย

การกระจายพันธุ์: เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, เบนิน, กัมพูชา, แคเมอรูน, จีนตอนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, เกาะคุก, คอสตาริกา, คิวบา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, หิมาลัยตะวันออก, เฟรนช์เกียนา, กินี, อ่าวกินีม เฮติฮอนดูรัส, ลาว, เกาะลีวาร์ด, มอริเชียส, อ่าวเม็กซิโก, เกาะนิโคบาร์, ฟิลิปปินส์, เปอร์โตริโก, เรอูนียง, เซเชลส์, ศรีลังกา, ไทย, ตรินิแดด-โตเบโก, เวเนซุเอลา, เวียดนาม, หมู่เกาะวินด์เวิร์ด

พริกไทย thai-herbs.thdata.co | พริกไทย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เถา รสร้อน สรรพคุณ แก้เสมหะในทรวงอก แก้อติสาร (ท้องร่วงอย่างแรง)

*ใบ รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ลมจุกเสียดแน่น ปวดมวนในท้อง

*ดอก รสร้อน สรรพคุณ แก้จักษุแดงเนื่องจากความดันโลหิตสูง

*เมล็ด รสร้อนเผ็ด สรรพคุณ แก้ลมอัมพฤกษ์ ลมมุตฆาต ลมลั่นในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้เสมหะเฟื่อง

องค์ประกอบทางเคมี:

-ผล พบน้ำมันหอมระเหยอยู่  1%-2.5% ประกอบด้วย beta-caryophyllene (28.1%), delta-3-carene (20.2%), limonene (17%), beta-pinene (10.4%), alpha-pinene (5.8%), terpinolene, alpha-copaene, alpha-humulene, delta-cadinene, camphene  เป็นต้น และพบสาร alkaloid 5-9% โดยมีอัลคาลอยด์ piperine และ piperettine (ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและเผ็ด) เป็นองค์ประกอบหลัก และพบอัลคาลอยด์อื่น ๆ ได้แก่ chavicine, piperyline, piperoleines A, B, C   piperanine

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก Piperine เป็น alkaloid หลักที่พบในพืชจําพวก พริกไทย (black pepper, white pepper), ดีปลี (Piper longum) และพวกพลูต่างๆ เป็นสารที่มีผลต่อการไหลเวียนของโลหิต และระบบการหายใจ การศึกษาผลของ piperine ต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก (uterine blood flow) ในสัตว์ทดลองโดยใช้หนูขาว ทั้งในสภาวะปกติที่ไม่ตั้งท้อง และในสภาวะที่ตั้งท้องในระยะเวลาต่างๆ กัน โดยใช้หลักการของการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเหนือเสียง (ultrasonic pulse doppler flowmeter) เป็นตัววัดการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก ผลจากการวิจัยพบว่าเมื่อให้ piperine เข้าทางเส้นเลือดแดงในขนาดตั้งแต่ 0.5 ถึง 2.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูหนึ่งกิโลกรัม จะทําให้เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงยังมดลูกเพิ่มขึ้นชั่วขณะตามความดันเลือด การเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกนี้จะสัมพันธ์กับขนาดของ piperine ที่สัตว์ทดลองได้รับ และเมื่อให้ยาต่างๆ แก่สัตว์ทดลองพบว่า ยา phentolamine หรือ isoptin สามารถป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงที่เกิดจาก piperine ได้ ส่วนยา propranolol, atropine หรือ reserpine ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นจึงคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ของ piperine ที่ทําให้เกิดความดันโลหิตสูงน่าจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นผ่าน adrenergic receptor และการเพิ่มขึ้นของการขนส่งของแคลเซียม (Ca 2+) เข้าไปยังเซลล์  กลไกการออกฤทธิ์ของ piperine ต่อการขยายตัวของเส้นเลือดที่ไปยังมดลูกอาจเกิดจากฤทธิ์โดยตรงของ piperine ต่อผนังเส้นเลือด เนื่องจาก piperine มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณของเลือดที่ไปยังมดลูก ทั้งในหนูที่ไม่ตั้งท้อง และในหนูที่ตั้งท้อง (จงจินตน์, 1987)

-ฤทธิ์ระงับปวด ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของพริกไทยดัวยวิธี tail immersion method โดยจุ่มหางหนูถีบจักรลงในน้ำอุณหภูมิ 45±1ºC   แล้วจับเวลาที่หนูสามารถทนต่อความร้อนได้โดยไม่กระดกหางหนี (tail-flick latencies) ผลการศึกษาพบว่า สาร  piperine ที่แยกได้จากผลพริกไทย ขนาด 5 mg/kg และสารสกัดพริกไทยด้วยเอทานอล ขนาด 15 mg/kg สามารถออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) โดยจะออกฤทธิ์หลังจากให้สารทดสอบแล้ว 120 นาที และสารสกัดพริกไทยด้วยเฮกเซน ขนาด 10 mg/kg จะออกฤทธิ์หลังจากให้สารทดสอบแล้ว 60 นาที  (p<0.05)   การทดสอบวิธี analgesy-meter โดยการเพิ่มแรงกดไปที่เท้าของหนูขาว บันทึกพฤติกรรมที่ทำให้หนูทดลองนำขาออกจากเครื่องมือ ผลการศึกษาพบว่า piperine ขนาด 10 และ 15 mg/kg จะออกฤทธิ์สูงสุดหลังให้สารทดสอบที่เวลา 30 นาที และออกฤทธิ์ต่อจนกระทั่งครบ 60 นาที, สารสกัดเอทานอล และเฮกเซน ขนาด 10 mg/kg จะออกฤทธิ์สูงสุดหลังเวลาผ่านไป 120 นาที   การศึกษาด้วยวิธี hot plate method  โดยจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนโดยไม่กระโดดหนี หรือยกเท้าขึ้นเลีย ผลการศึกษาพบว่า สาร  piperine ในขนาด 5 และ 10 mg/kg และสารสกัดเฮกเซน ออกฤทธิ์ลดปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยออกฤทธิ์ได้สูงสุดหลังเวลาให้สารทดสอบแล้ว 120 นาที    การทดสอบฤทธิ์ระงับปวดโดยเหนี่ยวนำให้หนูถีบจักรเกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ด้วยกรดอะซิติก พบว่า สาร  piperine ขนาด 10 mg/kg และสารสกัดพริกไทยด้วยเอทานอล ขนาด 15 mg/kg สามารถออกฤทธิ์ต้านอาการเจ็บปวด โดยลดจำนวนครั้งในการเกิด writhing ของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญ (Tasleem, et al, 2014)

ศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดของสาร piperine ที่เป็นองค์ประกอบหลักในเมล็ดพริกไทยดำ ในหนูถีบจักรเพศผู้ ทดสอบด้วยวิธี writhing test โดยฉีด piperineในขนาด 30, 50 และ 70 mg/ kg เข้าทางช่องท้องของหนู หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติกเพื่อเหนี่ยวนำการปวด บันทึกผลจากการบิดเกร็งของช่องท้องร่วมกับการยืดขาหลังอย่างน้อย 1 ข้าง ซึ่งแสดงถึงอาการปวด ใช้ยา indomethacin ฉีดเข้าช่องท้อง เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสาร piperine (70 mg/ kg) และ indomethacin (20 mg/kg) สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 89% และ 67% ตามลำดับ (p<0.001 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) ฤทธิ์ระงับอาการปวด ด้วยวิธี Tail flick assay ทดสอบโดยฉีดสาร piperine  ในขนาด 30 และ 50 mg/ kg หรือสารมาตรฐานมอร์ฟีน (5 mg/ kg) แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 50 นาที จึงนำหางหนูวางบนแผ่นรวมแสง แล้วจับเวลาเพื่อดูการยกหางหนีจากความร้อน ผลการทดสอบพบว่าสาร piperine  ทั้งสองขนาดมีฤทธิ์ในการระงับความเจ็บปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) โดยpiperine ในขนาด 30 mg/kg ออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับมอร์ฟีน 5 mg/kg ระยะเวลาที่หนูทนความร้อนได้เมื่อได้รับ piperine (50 mg/kg) และกลุ่มควบคุม เท่ากับ 17.2±0.5 และ 3.7±0.3 วินาที ตามลำดับ เมื่อให้ naloxone ขนาด 5 mg/kg พบว่าฤทธิ์ระงับปวดของ piperine ถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid (Bukhari , et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins ของพริกไทยล่อน น้ำมันหอมระเหยสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ สาร oleoresinsได้จากการสกัดเมล็ดพริกไทยล่อนด้วยเอทานอล และเฮกเซน ผลการศึกษาในตัวอย่างที่มี mustard oil 0.02 % และสารทดสอบน้ำมันหอมระเหยของพริกไทยล่อน โดยการวัด peroxide value ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของ mustard oilทุก 7 วัน จนครบ 28 วัน ผลการทดสอบพบว่า ทั้งน้ำมันหอมระเหย และ สาร oleoresins สามารถลดการเกิด peroxide ได้ เทียบเท่ากับ สารมารตรฐาน BHA และ BHT แต่ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าสารมาตรฐาน propyl gallate (PG)  การทดสอบ TBA method ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา lipid peroxidation พบว่าในระหว่างการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน linoleic acid  สาร peroxides ที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสารโมเลกุลต่ำ คือ malondialdehyde  ซึ่งตรวจวัดได้โดยการเติมสาร thiobarbituric acid ทำปฏิกิริยากับ malonal aldehyde แล้วตรวจวัด  ผลการทดสอบพบว่าทั้งน้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins สามารถลดการเกิด lipid peroxidation ได้ดีกว่า สารมารตรฐาน BHA และ BHT แต่ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าสารมาตรฐาน propyl gallate ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งในขั้นตอน secondary oxidation process  การทดสอบด้วยวิธี Ferric Thiocyanate method ซึ่งเป็นการวัดปริมาณ peroxide ที่เกิดขึ้นในช่วง initial stage ของปฏิกิริยาออกซิเดชัน ให้ผลเช่นเดียวกับวิธี TBA method การทดสอบฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH ด้วยวิธีทางเคมี พบว่าน้ำมันหอมระเหย สารมาตรฐาน BHT, BHA, PG มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 92.45, 41.2-73.4, 75.0-92.1 และ 89.3-98.7% ตามลำดับ  การทดสอบสมบัติการเป็น metal chelator ในการแย่งจับกับโลหะ ferrous ion (Fe2+) เป็นอีกกลไกหนึ่งในการต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากโลหะไอออนเป็นตัวการสำาคัญในการเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระต่างๆ หลายชนิด ผลทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหย สาร oleoresins และสารมาตรฐาน EDTA สามารถจับ Fe2+ ได้เท่ากับ 73.05, 58.8-68.9 และ 91.2% ตามลำดับ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยได้แก่ b-caryophyllene ส่วนองค์ประกอบหลักในสาร oleoresins คืออัลคาลอยด์ piperine (Singh, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins ของพริกไทยล่อน น้ำมันหอมระเหยสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ สาร oleoresins ได้จากการสกัดเมล็ดพริกไทยล่อนด้วยเอทานอล และเฮกเซน ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อรา พบว่าน้ำมันหอมระเหยขนาด 10 μl ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อราที่ก่อโรคพืช Fusarium monoliforme ได้ถึง 85% ส่วนสาร oleoresins จากทั้งเอทานอล และเฮกเซน ออกฤทธิ์ปานกลาง ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ทั้งวิธี agar well และ disc diffusion พบว่าน้ำมันหอมระเหยออกฤทธิ์ดี ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Bacillus subtilis และ Staphyllococcus aureus แต่น้ำมันหอมระเหยและสาร oleoresins จากทั้งเอทานอล และเฮกเซน ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด คือ Escherichia coli, Pseudomaonas aeruginosa ได้น้อยกว่า (Singh, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร spathulenol จากเมล็ดพริกไทยดำ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX (ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบ) ได้ในระดับปานกลาง สามารถยับยั้ง COX-2 receptor ได้ 54 % ที่ความเข้มข้น 454 ไมโครโมลาร์ ในขณะที่สารบริสุทธิ์  piperine ที่แยกได้ ยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินได้  33.4% ที่ความเข้มข้น 37 ไมโครโมลาร์  สาร nonanal และ trans-2-nonenal สามารถลดกระบวนการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบจากการใช้ arachidonic acid เป็นสารเริ่มต้นได้ 50 % ที่ความเข้มข้น 0.25 ไมโครโมลาร์  (Tangyuenyongwatanaand Gritsanapan, 2014)     

ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของพริกไทยโดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้รับ diclofenac sodium เป็นยามาตรฐาน ขนาด 10 mg/kg กลุ่มที่ 2 ได้รับ saline water เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 3 ได้รับสาร piperine ขนาด 5,10 และ 15 mg/kg กลุ่มที่ 4 ได้รับสารสกัดเฮกเซนจากพริกไทยขนาด 5,10 และ 15 mg/kg  กลุ่มที่ 5 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ขนาด 5,10 และ 15 mg/kg หลังจากนั้น จึงกระตุ้นให้เท้าหนูเกิดการบวมโดยฉีด carrageenan ปริมาณ 0.1 mL เข้าที่อุ้งเท้า แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยขนาดของเท้าหนูที่บวมขึ้น ที่เวลา 30, 60 และ 120  นาที พบว่า สาร piperine ทุกขนาด  มีฤทธิ์ยับยั้งการบวม ขนาดที่ออกฤทธิ์สูงสุดคือ 15 mg/kg ที่เวลา 120 นาที สารสกัดเฮกเซนจากพริกไทย และสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์สูงสุดที่เวลา 60 นาที เช่นกัน  สารทดสอบทุกชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน (Tasleem, et al, 2014)

การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสารสกัดเอทานอลของเมล็ดพริกไทย และสารบริสุทธิ์ piperine ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักในพริกไทย มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 10.52±0.68 และ 11.48±1.58  มคก./มล. ตามลำดับ โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน (ยามาตราฐาน Indomethacin IC50 เท่ากับ 20.32±3.28 มคก./มล.) (อินทัช และคณะ, 2557)

-ฤทธิ์ระงับอาการชัก ทดสอบโดยการฉีดสาร piperine ที่เป็นส่วนประกอบหลักของพริกไทยดำในขนาด 30, 50 และ 70 mg/ kg เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรเพศผู้ หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีด pentylenetetrazole (PTZ) ในขนาด 70 mg/kgเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการชัก ผลการศึกษาพบว่าสาร piperine ขนาด 50 และ 70 mg/ kg ทำให้ระยะเวลาก่อนเริ่มเกิดการชักหลังได้รับสารกระตุ้น (onset) ยาวนานขึ้น   และมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน carbamazepine ขนาด 30 mg/kg และเมื่อใช้สารกระตุ้นการชักเป็น picrotoxin (15 mg/ kg, ip) พบว่าการให้ piperineขนาด 70 mg/kg และกลุ่มควบคุม ทำให้ onset ยาวนานมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เท่ากับ  878.5±3.2 และ 358.4±14.4 วินาที ตามลำดับ (p<0.001 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม)  โดยสรุปสาร piperine ที่เป็นส่วนประกอบหลักในพริกไทยดำมีฤทธิ์ต้านอาการชักได้ โดยออกฤทธิ์ผ่าน GABA-ergic pathways จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในทางคลินิกในการรักษาอาการชักได้ (Bukhari , et al., 2013)

-ผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ การศึกษาผลของ piperine ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ได้จากพริกไทยดำ และพืชชนิดอื่นที่ใกล้เคียง ต่อกระบวนการเรียนรู้ และความจำในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ ICR โดยใช้เมอร์ริสวอเทอร์เมซ (Morris water maze) ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงพฤติกรรมที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ และความจำในหนูทดลอง จากผลการทดสอบพบว่าการให้ piperine ทางช่องท้องหนูขาวเล็กในขนาด 5, 10 และ 20 mg/kg ต่อวันนาน 2 สัปดาห์ สารทดสอบทุกขนาดสามารถลด escape latency (ระยะเวลาที่หนูสามารถว่ายน้ำออกจากอุปกรณ์เพื่อมาเกาะที่ platform) ของหนูขาวเล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมได้เท่ากับ 11.00±1.05, 10.00±0.43, และ 4.00±0.23 วินาที  (p<0.05) ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 32.00±4.49 วินาที และยังสามารถเพิ่ม retention time (ระยะเวลาที่หนูว่ายน้ำอยู่ในบริเวณที่เคยมี platform) ของหนูขาวเล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 32.00±0.73, 31.00±0.62 และ 32.00±1.28 วินาที ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 19.00±0.54 วินาที นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มระดับของตัวรับนิโคตินิกอะเซติลโคลีนในสมองของหนูขาวเล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)  โดยมีค่าเท่ากับ 28.09±13.73, 19.55±2.60 และ 18.20±2.13 เฟมโตโมล/มิลลิกรัม ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 15.97±3.04 เฟมโตโมล/มิลลิกรัม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า piperine ที่เป็นส่วนประกอบที่ได้จากพริกไทยดำ และพืชชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกัน มีผลในการเพิ่มการเรียนรู้ และความจำในหนูขาวเล็ก และอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับระดับตัวรับนิโคตินิกอะเซติลโคลีนที่เพิ่มขึ้นในสมองของหนูขาวเล็ก ซึ่งอาจพัฒนาให้เป็นยาเพิ่มการเรียนรู้ และความจำที่ใช้รักษาในคนต่อไปได้ (Chaiwiang, et al., 2016)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-แผนอายุรเวทในแถบเอเชียใต้ ส่วนมากใช้รักษาและบรรเทาอาการเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ขับพยาธิ แก้ลมจุกเสียดแน่น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุแก้อาการอาหารไม่ย่อย ระงับอาการอาเจียน ผ่อนคลายอาการไม่สบายจากอาหารเป็นพิษจากอาหารทะเลและเนื้อสัตว์

-แผนตะวันตก พริกไทยดำมีสารจำพวกอัลคาลอยด์ ชื่อว่า ไพเพอร์รีน (piperine) มีรายงานว่ามีผลกดประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ลดไข้ ลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ และฆ่าแมลงได้ รวมทั้งยังมีการรรายงานว่าสารไปเปอรีนมีส่วนช่วยในการเพิ่มขึ้นของเม็ดสีในผิวหนัง

-อาการปวดฟัน ด้วยการใช้พริกไทย พริกหาง นำมาบดเป็นผงผสมยาขี้ผึ้ง แล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ นำมาใช้อุดฟันตรงบริเวณที่ปวด

-อาการไข้เรื้อรัง ด้วยการใช้พริกไทยดำ ใบบัวบกแห้ง ใบกะเพราแห้ง อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาบดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ กินครั้งละ 1 เม็ด เช้าและเย็น

-อาการผอมแห้งแรงน้อย ใช้พริกไทยขาว ข้าวสารคั่วเกลือทะเล อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาบดจนเป็นผงและปั้นผสมกับน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเมล็ดพุทรา รับประทานก่อนอาหารเช้า เย็น และก่อนนอน ครั้งละ 1 เม็ด จะช่วยทำให้สุขภาพอนามัยดีขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน

-อาการกระดูกหัก ใช้พริกไทย 5 เมล็ด เปลือกต้นของสบู่ขาว และต้นส้มกบ นำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วผัดให้อุ่น พอกให้หนา และใช้ไม้พันผ้าให้แน่น

-ช่วยวต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากเมล็ดพริกไทยมีสารฟีนอลิกและสารพิเพอรีน ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ

-ช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมล็ดพริกไทยมีสารพิเพอรีน (Piperine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีส่วนช่วยรักษาและป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้

-ผลและเมล็ด มีรสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงรสได้ทั้งอ่อนและแก่ แกงที่ใช้พริกไทยเป็นองค์ประกอบมีหลายชนิด เช่น แกงเผ็ด ฉู่ฉี่ แกงกะหรี่ แกงเลียง ทอดมัน ผัด โจ๊ก ข้าวผัด เป็นต้น

-น้ำมันหอมระเหย (Black pepper oil) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้านพิษต่าง ๆ ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยในการย่อยอาหาร รักษาโรคกระเพาะ ใช้เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ช่วยกระตุ้นกำหนัด ขับเหงื่อ ลดไข้ และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง