Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ข่อย

ชื่อท้องถิ่น: ตองขะแหน่ (กาญจนบุรี)/ ส้มพอ (เลย ร้อยเอ็ด)/ ซะโยเส่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)/ กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ)/ สะนาย (เขมร), สมนาย

ชื่อสามัญ: Siamese rough bush, Tooth brush tree, khoi, serut

ชื่อวิทยาศาสตร์: Streblus asper Lour.

ชื่อวงศ์: MORACEAE

สกุล: Streblus 

สปีชีส์: asper

ชื่อพ้อง: 

-Achymus pallens Sol. ex Blume

Albrandia gaudichaudii D.Dietr.

Albrandia orientalis D.Dietr.

Albrandia spinosa D.Dietr.

Albrandia timorensis D.Dietr.

Calius lactescens Blanco

Cudrania crenata C.H.Wright

Diplothorax tonkinensis Gagnep.

Epicarpurus asper (Lour.) Steud.

Epicarpurus gaudichaudii Steud.

Epicarpurus orientalis Blume

Morus tatarica Mill.

Streblus lactescens Blume

Trophis aspera Retz.

Trophis cochinchinensis Poir.

Vanieria crenata (C.H.Wright) Chun

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นข่อย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบ ๆ ต้นหรือเป็นพูเป็นร่องทั่วไป ซึ่งอาจจะขึ้นเป็นต้นเดียวหรือเป็นกลุ่ม เปลือกต้นมีสีเทาอ่อน บาง ขรุขระเล็กน้อย แตกเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางสีขาวข้นเหนียวซึมออกมา แตกกิ่งก้านมีสาขามาก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มทึบ 


ข่อย thai-herbs.thdata.co | ข่อย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดเล็ก แผ่นใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนากรอบ ผิวใบสากคล้ายกระดาษทรายทั้งสองด้าน ลักษณะใบคล้ายรูปรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร


ข่อย thai-herbs.thdata.co | ข่อย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ดอก สีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้เป็นกระจุกกลม มี 5-15 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6-10 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกยาว 3-15 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย หรือเกลี้ยง มีใบประดับเล็กๆ 1-2 ใบ ที่โคนก้านใบ บางครั้งพบมีอีก 1 ใบ บนก้าน และมีใบประดับเล็กๆ อีก 2-3 ใบ ที่ปลายก้าน ดอกเพศผู้มีก้านสั้น กลิ่นหอม มีส่วนต่างๆจำนวน 4 วงกลีบรวม ยาว 1 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย เกสรเพศผู้สีขาว ดอกเพศเมียออกเดี่ยว มีก้านยาว กลีบดอกสีเขียวปนเหลือง  มีก้านดอกเล็ก ยาว 1-4 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับมี 2 ใบ รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร แนบไปกับวงกลีบรวม วงกลีบรวมยาว 2 มิลลิเมตร รูปไข่แหลม มีขนเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มิลลิเมตร และยาวขึ้นถึง 6-12 มิลลิเมตร เกลี้ยง


ข่อย thai-herbs.thdata.co | ข่อย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล สด รูปกลม หรือรูปไข่  ขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร มีเมล็ดเดียว ผลแก่สีเหลืองหรือส้ม ฉ่ำน้ำ เมื่อแรกรวมอยู่กับวงกลีบรวมที่ใหญ่ขึ้น ยาว 5-8 มิลลิเมตร ต่อไปเมื่อแก่จะโผล่จากวงกลีบรวม และวงกลีบรวมจะงอพับ มีกลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้ม ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียคล้ายเส้นด้ายติดอยู่ ก้านผลยาว 7-27 มิลลิเมตร  ผลแก่มีมีรสหวาน และเป็นที่ชื่นชอบของพวกนกเป็นอย่างมาก

เมล็ด ลักษณะกลม กว้าง 4-5 มิลลิเมตร สีขาวแกมเทา

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: จีนทางตอนใต้ ไปจนถึงเอเชียเขตร้อน

การกระจายพันธุ์: หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนตอนใต้ - กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้, หิมาลายาตะวันออก, ไหหลำ, อินเดีย, จาวา, ลาว, เกาะซุนดา, มาลายา, มาลูกู, เมียนมาร์, เกาะนิโคบาร์, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา , สุมาตรา, ไทย, เวียดนาม, หิมาลัยตะวันตก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการใช้รากปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*กิ่งสด ขนาดเล็กนำมาทุบใช้สีฟัน ทำให้เหงือกและฟันทน 

*เปลือกต้น รสเมาฝาดขม นำมาต้มใส่เกลือให้เค็มใช้รักษาโรครำมะนาด แก้โรคฟัน รักษาฟันให้แข็งแรง แก้ปวดฟัน ดับพิษในกระดูกในเส้น แก้พยาธิผิวหนัง เรื้อน มะเร็ง ดับพิษทั้งปวง หุงเป็นน้ำมันทาหัวริดสีดวง ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง 

*เปลือก ใช้มวนสูบรักษาริดสีดวงจมูก เปลือกต้นต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล และโรคผิวหนัง 

*แก่น รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้แมงกินฟัน แก้ริดสีดวงจมูก

*ราก รสเมาฝาดขม ปรุงเป็นยารักษาแผลเรื้อรัง แก้โรคคอตีบ เป็นส่วนผสมในยารักษากระดูก ปวดเส้นประสาทและปวดเอว ฆ่าพยาธิ 

*เปลือกราก  รสเมาขมบำรุงหัวใจ พบมีสารบำรุงหัวใจ ใบ รสเมาเฝื่อน น้ำต้มแก้โรคบิด 

*ใบ คั่วชงน้ำดื่มก่อนมีประจำเดือน สำหรับสตรีที่มักมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือน 

*ใบ คั่วกินแก้โรคไต ขับน้ำนม แก้บิด ใช้ภายนอกแก้โรคริดสีดวงทวาร ตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ทำให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้อนดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อย บำรุงธาตุ ยาระบายอ่อนๆ ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ  

*ทั้งต้น ต้มใส่เกลือ แก้ฟันผุ กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคน 

*เยื่อหุ้มกระพี้ รสเมาฝาดเย็น ขูดเอามาใช้ทำยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก 

*ผล รสเมาหวานร้อน บำรุงธาตุ แก้ลม แก้กระษัย ขับลมจุกเสียด เป็นยาอายุวัฒนะ 

*เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุเจริญอาหาร ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้โลหิตและลม ขับลมในลำไส้

-ชาวล้านนา  ใช้  ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน

-ประเทศพม่า  ใช้  เปลือกต้นแก้ท้องร่วง แก้ปวดฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง ต้มน้ำกินแก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องเสีย และแก้มะเร็ง เป็นยาอายุวัฒนะ

องค์ประกอบทางเคมี:

-ผล จะมีน้ำมันระเหย 1-1.4% ไขมัน 26% และในน้ำมันนี้จะประกอบด้วยสารพวก เทอปีน (terpenes) อยู่หลายชนิด และพวกเจอรานิออล (geranilo) พวกแอลกอฮอล์การบูน (camphor) ฯลฯ และนอกจากนี้ยังมีน้ำตาลอ้อย (sucrose) น้ำตาลผลไม้ (fructose) น้ำกลูโคส

-ทั้งต้น มีสารพวก ลินาโลออล (linalool โนนานาล (nonanal) ดีคาลนาล (decanal) และวิตามินซี 92-98 มก.%

-เมล็ด จะมีสารประกอบพวกไนโตรเจน 13-15% และสารอนินทรีย์ 7% มีน้ำมันระเหย 1% ซึ่งมีสารส่วนใหญ่ในน้ำมันระเหยนั้นเป็น d-linalool ประมาณ 70%

-ราก พบสารที่มีฤทธิ์ต่อหัวใจ Cardiac glycoside มากกว่า 30ชนิด เช่น asperoside, strebloside, glucostreblolide

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อสเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์ การศึกษาสารสกัดจากใบข่อยจากการสกัดด้วยเอธานอล พบว่า สารสกัดสามารถยับยั้งเชื้อสเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus mutans) และเชื้อสเตรบโตคอคคัส ซาริวาเรียส (Streptococcus salivarius) เป็นสาเหตุของโรคฟันผุได้

การศึกษาประสิทธิภาพของไม้ข่อย และไม้สีฟันคนทาต่ออนามัยช่องปากของเด็ก พบว่า การใช้ไม้สีฟันจากข่อย และไม้สีฟันคนทามีประสิทธิภาพดีไม่แตกต่างจากการใช้แปรงสีฟัน

การศึกษาผลของยาสีฟันที่ผสมสารสกัดจากใบข่อยต่อการยับยั้งเชื้อสเตรบโตคอ คคัส มิวแทนส์ พบว่า เมื่อใช้สารสกัดจากใบข่อยความเข้มข้น 0.1% และ 0.2% โดยน้ำหนัก ผสมในยาสีฟัน และใช้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง สามารถลดจำนวนเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษาสารสกัดจากใบข่อยต่อเชื้อจุลชีพชนิดต่างๆในจานเลี้ยงเชื้อ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลชีพได้ และมีฤทธิ์ทำลายเชื้อในกลุ่มสเตรบโตคอคคัสได้ดี โดยเฉพาะเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ (สเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์) และการใช้สกัดจากใบข่อยโดยการให้ทางปากแก่หนูทดลอง ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้งทุกวัน ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า ไม่มีความแตกต่างด้านพฤติกรรม ผลเลือด และผลทางเนื้อเยื่อระหว่างกลุ่มหนูที่ได้รับสาร และกลุ่มหนูที่ไม่ได้รับสารแต่อย่างใด

การทดสอบใช้น้ำบ้วนปากผสมสารสกัดจากใบข่อย พบว่า การสารสกัดจากใบข่อยผสมที่ความเข้มข้น 80 มก./มล. สามารถลดปริมาณเชื้อสเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับการบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น และไม่ทำให้ปริมาณเชื้อจุลชีพโดยรวมในช่องปากเปลี่ยนแปลง รวมถึงไม่มีผลต่อปริมาณแคลเซียม ความเป็นกรด-ด่าง ในช่องปาก

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-สารสกัดจากข่อยที่ทดสอบความเป็นพิษด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดแมวมีค่า LD50 = 10.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว และพบว่า สารสกัดจากข่อยของสารอัลฟา และเบต้า อันแซททูเรเตตแลคโตน เมื่อทดลองฉีดให้หนูมีค่า LD50 = 4.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และความดันเลือด ทำให้หนูมีอาการชักกระตุก และเสียชีวิต

การใช้ประโยชน์: 

-ยาง มีน้ำย่อยที่ชื่อว่า milk (lotting enzyme) มีประโยชน์ในการช่วยย่อยน้ำนม

-กิ่งข่อย สามารถนำมาใช้แปรงฟันแทนการใช้แปรงสีฟันได้ และยังทำให้ฟันแข็งแรงอีกด้วย แต่ต้องนำมาทุบให้นิ่ม ๆ ก่อนนำมาใช้ (กิ่งข่อย)

-ยาง สามารถนำมาใช้กำจัดแมลงได้

-ไม้ นำมาใช้ทำกระดาษ ทำเป็นสมุดไทยหรือสมุดข่อยได้

-เปลือก นำมาใช้ทำปอหรือใช้ทำเป็นกระดาษได้สมุดข่อยเ พราะเนื้อไม้มีความแข็งแรงคงทน

-นิยมปลูกเพื่อทำรั้ว หรือปลูกไว้เพื่อดัดปรับแต่งเป็นรูปต่าง ๆ ที่เรียกว่าไม้ดัด (ต้นข่อยดัด)

-ต้นข่อย คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้ผู้อาศัยเกิดความมั่นคง มีความแข็งแกร่ง อดทนได้ดีเยี่ยม ช่วยป้องกันศัตรูจากภายนอก ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายที่เกิดจากผู้ที่ไม่หวังดีหรือศัตรูที่อาจมาทำอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน และใบข่อยยังนำมาใช้โบกพัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านได้อีกด้วย และเพื่อความเป็นสิริมงคลจะนิยมปลูกต้นข่อยในวันเสาร์และปลูกไว้ทางทิศตะวันออก



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง