Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ตะโกนา (พญาช้างดำ)

ชื่อท้องถิ่น: มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่)/ นมงัว (นครราชสีมา)/ ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ (ภาคเหนือ)/ โก (ภาคอีสาน)/ ตองโก (เขมร) 

ชื่อสามัญ: Ebony

ชื่อวิทยาศาสตร์: Diospyros rhodocalyx Kurz

ชื่อวงศ์: EBENACEAE

สกุล:  Diospyros  

สปีชีส์: rhodocalyx

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ตะโกนา thai-herbs.thdata.co | ตะโกนา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นตะโกนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา


ตะโกนา thai-herbs.thdata.co | ตะโกนา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ และรูปป้อม ปลายใบมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนคดไปมามองเห็นได้ทางด้านหลังใบและขึ้นเด่นชัดทางด้านท้องใบ เส้นร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนเส้นกลางใบออกเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และก้านใบสั้นยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร


ตะโกนา thai-herbs.thdata.co | ตะโกนา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามกิ่งหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม โดยกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อง ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนหลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวและมีขนแน่น ปลายหลอดแยกเป็นแฉก 2 แฉก มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซมอยู่


ตะโกนา thai-herbs.thdata.co | ตะโกนา สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัด ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

สภาพนิเวศวิทยา:  สำหรับประเทศไทยพบขึ้นได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และตามทุ่งนา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 40-300 เมตร

ถิ่นกำเนิด: พม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน 

การกระจายพันธุ์: อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ 

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ผล รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง  ตกโลหิต  แก้มวนท้อง ขับพยาธิ แก้กระษัย แก้ฝีเน่าเปื่อย

*เปลือกลูก เผาเป็นถ่าน แช่น้ำรับประทาน ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ

*เปลือกต้นและเนื้อไม้ รสฝาดติดขม สรรพคุณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน

*เปลือกต้น เผาเป็นด่างแช่น้ำรับประทาน ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ ต้มกับเกลือรักษารำมะนาด แก้ปวดฟัน เป็นยาอายุวัฒนะ

องค์ประกอบทางเคมี:

-สารสำคัญที่พบ ได้แก่ Betulin, B-sitosterol, Lupenone, Taraxerone, Stigmast-4-en-3-one, Stigmast4-en-3-one 1 –O-ethyl-B-D-glucopyrahoside, Lupeol, Stigmast-4-en-3-one 1-O-ethyl-B-D-glucoside, Stigmasterol, Taraxerol, Betulinic acid และ Taraxerol acetate

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดหยาบด้วยเอทานอลจากเปลือกต้นตะโกนา พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของมนุษย์ชนิด PC-3 ซึ่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์คิดเป็นค่า IC50 เท่ากับ 911.22 μg/ml

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดด้วยเอทานอลของเปลือกตะโกนาพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยจากการทำ DPPH radical scavenging activities ได้ค่า IC50 เท่ากับ 120.81 ± 7.25 μg/mL

-ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ เอนไซม์ acetylcholinesterase สารสกัดด้วยเมทานอลของเปลือกตะโกนามีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ acetylcholinesterase โดยคิดเป็นร้อยละ 15.52 ± 3.67 ซึ่งอาจมีผลในการป้องกันและรักษาโรค Alzheimer ได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารสกัดหยาบตะโกนา (Diospyros rhodocalyx Kurz.) พบว่าสกัดตะโกนาความเข้มข้น 20, 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนูขาวเพศผู้พบว่าค่าเม็ดเลือดเเดงอัดแน่น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P≤0.05) แต่ค่า AST, ALT, BUN และจำนวนเม็ดเลือดขาวโดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารสกัดที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนneutrophil เพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตะโกนาความเข้มข้น 20, 200 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมแต่ lymphocyte ลดลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตะโกนาความเข้มข้น 200 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมการให้สารสกัดหยาบตะโกนาเป็นระยะเวลานาน พบว่า ALT ลดลง แต่น้ำหนักม้ามและจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจำนวน neutrophil แต่จำนวนของ lymphocyte ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P≤0.05) สรุปได้ว่าการใช้ตะโกนาอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับ, ไต, ม้าม และระบบภูมิคุ้มกัน

การใช้ประโยชน์:

-ผลสุก สามารถใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานฝาด บ้างว่านำผลมารับประทานโดยนำมาทำเหมือนกับส้มตำ โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลตะโกนาต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 99 แคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 24.5 กรัม, น้ำ 73.6 กรัม, เส้นใย 1.5 กรัม, โปรตีน 0.3 กรัม, วิตามินบี 2 1.37 มิลลิกรัม, วิตามินซี 79 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 19 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม และธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม 

-ต้นตะโก จะออกผลดกทุกปี จึงเป็นอาหารให้แก่สัตว์ได้จำนวนมาก

-ผลอ่อนหรือผลดิบ ใช้สำหรับย้อมสีผ้า แห อวน มาตั้งแต่โบราณ โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาล แต่คุณภาพจะไม่ดีมากนัก เพราะสีของเส้นไหมจะตกและไม่ทนทานต่อแสง และคุณภาพที่ได้จะไม่ดีเท่ากับมะพลับ โดยยางของลูกตะโกที่นำมาละลายน้ำใช้สำหรับการย้อมแหและอวนนั้น จะมีราคาถูกกว่ายางมะพลับ จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของผลตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก"

-เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือออกสีน้ำตาลอ่อน มีความแข็งแรง มีความเหนียว เนื้อค่อนข้างละเอียด สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตร เช่น ทำเสา รอด ตง คาน ฯลฯ

-นิยมปลูกเพื่อใช้นำมาทำไม้ดัดมากที่สุด ใช้ปลูกเพื่อตกแต่งสวนหรือสนามหญ้า เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการเพาะเลี้ยงและบำรุงรักษา

-ต้นตะโก เป็นไม้ที่มีอายุยืน และทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี เชื่อว่าเป็นไม้มงคล หากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศใต้ จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความอดทนเหมือนต้นตะโก



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง