Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: คำฝอย (คำ, ดอกคำ)

ชื่อท้องถิ่น: คำ คำฝอย ดอกคำ (ภาคเหนือ)/คำยอง คำหยอง คำหยุม คำยุ่ง (ลำปาง)/ หงฮัว (จีน)/ ดอกคำฝอย คำทอง

ชื่อสามัญ: Safflower, False saffron, Saffron thistle

ชื่อวิทยาศาสตร์: Carthamus tinctorius L.

ชื่อวงศ์:  ASTERACEAE-COMPOSITAE

สกุล:  Carthamus

สปีชีส์:  tinctorius

ชื่อพ้อง: 

-Calcitrapa tinctoria (L.) Röhl.

-Carduus tinctorius (L.) Falk

-Carthamus glaber Burm.f.

-Carthamus tinctorius var. spinosus Kitam.

-Centaurea carthamus E.H.L.Krause

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

คำฝอย thai-herbs.thdata.co | คำฝอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นคำฝอย เป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชที่มีอายุสั้น ทนแล้ง      

ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรี ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ใบมีความกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร


คำฝอย thai-herbs.thdata.co | คำฝอย สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก     ออกดอกรวมกันเป็นช่ออัดแน่นบนฐานดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกคำฝอยมีลักษณะกลมคล้ายดอกดาวเรือง เมื่อดอกคำฝอยบานใหม่ ๆ จะมีกลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่จัดดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ที่ดอกมีใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอกอยู่

ผล ลักษณะคล้ายรูปไข่หัวกลับ ผลเบี้ยว ๆ มีสีขาวงาช้างปลายตัด มีสัน 4 สัน ขนาดของผลยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ด้านในผลมีเมล็ด เมื่อผลแก่แห้งเมล็ดจะไม่แตกกระจาย

      เมล็ด ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวรี เปลือกแข็ง มีสีขาว ขนาดเล็ก

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร 

ถิ่นกำเนิด: ตะวันออกกลาง

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ดอก ขับระดู บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ตกเลือด แก้ดีพิการ ขับเหงื่อ ระงับประสาท แก้ไข้ในเด็ก แก้ดีซ่าน แก้ไขข้ออักเสบ แก้หวัด น้ำมูกไหล แก้โรคฮิสทีเรีย อาการ รักษาอาการบวม รักษาท้องเป็นเถาดาน ใช้เป็นยาระบาย รักษาอาการไข้หลังคลอด ระงับอาการปวดในสตรีที่รอบเดือนมาไม่เป็นปกติ เป็นยาสามัญประจำบ้าน รักษาอาการป่วยไข้ในเด็ก  บำรุงคนเป็นอัมพาต ดอกเป็นยาชงใช้ดื่มร้อนๆแก้ดีซ่าน โรคไขข้ออักเสบ เป็นหวัดน้ำมูกไหล ต้มอาบเวลาออกหัด รักษาอาการคันตามผิวหนัง เกสร บำรุงโลหิตระดู ขับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้ปกติ แก้ดีพิการ แก้แสบร้อนตามผิวหนัง

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ดอก พบสารสี carthamin, isocarthamin เป็นสีแดงสดไม่ละลายน้ำ และ safflower yellow ละลายน้ำได้ สีจากดอกคำฝอยใช้บริโภคได้อย่างปลอดภัย

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ป้องกันการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคน พบว่า เมล็ด น้ำมันดอกคําฝอยช่วยทําให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้จริง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรดไลโนเลอิกจะไปทําปฏิกิริยากับโคเลสเตอรอลในเลือด ได้เป็นโคเลสเตอรอลไลโนเลเอท (choloesterol linoleate) และยังมีรายงานว่า น้ำมันดอกคําฝอยทําให้ ฤทธิ์ของเอนไซม์ ที่ใช้ใน การสังเคราะห์กรดไขมันลดลงอีกด้วย จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่า น้ำมันดอกคําฝอยจะช่วยให้ การอุดตันของไขมันในหลอดเลือดลดลง และช่วยป้องกันการอุดตันของ ไขมันในเลือดได้ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากน้ำมันดอกคําฝอยมีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด

-ฤทธิ์เสริมสร้างกระดูก Kim และ คณะ ได้ทำการศึกษาสารสกัดเมล็ดคำฝอยในประเทศเกาหลี (Carthamus tinctorious L.) ต่อการเสริมสร้างกระดูกในหนูทดลอง พบว่า ผลของการใช้สารสกัดจากดอกคำฝอยสามารถเสริมสร้างกระดูก ด้วยการกระตุ้นกระบวนการสร้าง และซ่อมแซมกระดูกในหนูทดลองได้

-ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์ Moon และคณะ ได้ทำการศึกษาการใช้สารสกัดเมล็ดคำฝอยต่อปริมาณคอเลสเทอรอลในหนูทดลองพบว่า การให้สารสกัดเมล็ดคำฝอยที่สกัดด้วยน้ำ และเอธานอล ในช่วง 5 สัปดาห์ สามารถลดระดับคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

-ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเทอรอล Rallidis และคณะ ได้ทำการทดลองให้อาหารที่ผสม alpha linolenic acid (ALA, 18:3n-3) จากน้ำมันลินสีด (linseed oil) และ linoleic acid (LA, 18:2n-6) จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยแก่ผู้ป่วย dyslipidaemic patients พบว่า อาหารที่ผสม ALA จากน้ำมันลินสีดสามารถลด C-reactive protein (CRP), interleukin-6 (IL-6) และ serum amyloid A (SAA) อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอาหารที่ผสม LA จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยไม่มีผลต่อความเข้มข้น CRP, IL-6 และSAA แต่สามารถลดระดับคอเลสเทอรอลได้

-ฤทธิ์ลดระดับไตรเอซิลกลีเซอรอลในเลือด Koji และคณะ ได้ทำการศึกษาผลของ conjugated linoleic acid (CLA) จากน้ำมันคำฝอยต่อเมทาบอลิซึม (metabolism) ในหนูทดลองด้วยอาหารที่มีน้ำมันคำฝอยร้อยละ 9 ผสมกับร้อยละ 1 ของ CLA เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอล (triacylglycerol) ในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดย CLA ช่วยเพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจน และการใช้พลังงาน ส่วนการทดลองที่ 2 ที่ให้อาหารร้อยละ 9 ของน้ำมันคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 9c,11t-CLA-rich oil หรือ 10t,12c-CLA และอาหารร้อยละ 9 น้ำมันดอกคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 10t,12c-CLA-rich oil พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอลในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ 10t,12c-CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ 9c,11t-CLA

-ฤทธิ์ลดเพิ่มอัตราการดูดซึมไขมัน Nishizono และคณะ ได้ทำการศึกษาการสะสม triacylglycerols ในลำไส้หนูทดลองด้วยการเก็บอุจจาระหนูทดลองก่อน และหลังการให้อาหาร AIN-76 ที่ผสมน้ำมันดอกคำฝอยร้อยละ 5 ที่เลี้ยงประมาณ 4 เป็นเวลา 1, 3, และ 6 เดือน พบว่า อัตราการดูดซึมไขมันของหนูทดลองดีขึ้นร้อยละ 95

-ฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตและระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอล ค.ศ. 1976 ประเทศอเมริกา ได้ทำการทดลองในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง (ชาย 122 คนและหญิง 19 คน) ด้วยการให้รับประทานน้ำมันดอกจากดอกคำฝอยทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ (วันละ 57 กรัม) ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตและระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ และยังมีผลการสร้าง Prostaglandin ที่เป็นผลให้ High Density Lipoprotein เพิ่มขึ้น

-ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ค.ศ. 1989 ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองน้ำมันดอกคำฝอยในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิด Mild hypertension โดยให้รับประทานน้ำมันจากดอกฝอยทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (วันละ 5.9 กรัม) ผลการทดลองพบว่า ค่าความดัน Systolic ลดลงมา 6.5 mm.Hg และค่าความดัน Diastolic ลดลงมา 4.4 mm. จึงสรุปได้ว่าน้ำมันดอกคำฝอยมีผลในการช่วยลดความดันโลหิตได้จริง

-ฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นขน การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการงอกของผมของสารสกัด 50% เอทานอลจากดอกคำฝอยซึ่งอุดมไปด้วยสาร hydroxysafflor yellow A ในเซลล์ dermal papilla และ human keratinocytes (HaCaT) พบว่าสารสกัด ความเข้มข้น 0.005-1.25 มก./มล. จะกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ทั้งสองชนิดได้ 166.02 ± 4.89% และ 114.83 ± 6.83% ตามลำดับ สารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25-1.00 มก./มล. มีฤทธิ์เพิ่มการแสดงออกของ vascular endothelial growth factor mRNA และ keratinocyte growth factor mRNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการงอกของผม และลดการแสดงออกของ transforming growth factor-β1 mRNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของผม สารสกัดดอกคำฝอย ความเข้มข้น 50-200 มคก./มล. ยังมีผลเพิ่มความยาวของเซลล์รากผม (hair follicles) ของหนูเม้าส์ได้เทียบเท่ากับยา minoxidil (50 มคก./มล.) และเมื่อทาสารสกัด ขนาด 0.05, 0.1 และ 0.5 มก./มล. ลงบนผิวหนังที่ถูกโกนขนของหนูเม้าส์ เป็นเวลา 15 วัน พบว่าความเข้มข้น 0.1 มก./มล. สารสกัดสามารถกระตุ้นการงอกของเส้นขนของหนูได้เทียบเท่ากับยา minoxidil ที่ความเข้มข้นเดียวกันและไม่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของเส้นขน สรุปว่าสารสกัดจากดอกคำฝอยมีศักยภาพในการที่จะนำมาใช้เป็นสารกระตุ้นการงอกของผมได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกย่อยด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 2,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

การใช้ประโยชน์:

-ดอก ตากแห้งสำหรับชงน้ำร้อนดื่มแทนชา หรือ ต้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย ให้กลิ่นหอม

-ดอก ตากให้แห้ง และบด เพื่อสกัดเป็นสีย้อมผ้าที่ได้จากสีเหลืองของสารคาร์ทามีดีน (carthamidine)สีแดงสารคาร์ทามีน (carthamine) สามารถย้อมติดได้ดีในเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยจากพืช นอกจากนั้นยังใช้ผสมในอาหาร และ เครื่องสำอาง

-น้ำมันจากเมล็ด และกลีบดอก สามารถนำมารับประทาน บำรุงเส้นผม บำรุงผิว เสริมสุขภาพ

-น้ำมันจากเมล็ด น้ำมันจากเมล็ดที่สกัดโดยผ่านความร้อน สามารถใช้ผสมสีทาบ้าน ทำสบู่ น้ำมันชักเงา น้ำยาเคลือบผิว เคลือบหนังไม่ให้เปียกน้ำได้

-น้ำมันจากเมล็ด มีคุณสมบัติที่ทนความร้อนได้สูง จึงได้มีการนำน้ำมันดอกคำฝอยมาใช้ในการทอดอาหารและใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ ได้

-น้ำมันจากเมล็ด ใช้เป็นวัตถุดิบผลิต Alkyd resins สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสี และกาวเหนียว

-น้ำมันจากเมล็ด ใช้เป็นน้ำมันเคลือบผิววัสดุให้มีความมันเงา ป้องกันสนิม เช่น งานไม้ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น 

-น้ำมันจากเมล็ด ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า เป็นต้น

-ดอก ทำมาชงน้ำร้อนดื่มเพื่อสุขภาพได้แบบเก็กฮวยหรือน้ำชาได้อีกด้วย

-กากเมล็ด จากดอกคำฝอยที่เหลือจากการบีบน้ำมัน สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์และทำเป็นปุ๋ยได้

-ในอินเดียใช้เคลือบรักษาคุณภาพหนังสัตว์ เสื้อผ้าผลิตภัณฑ์เครื่องทอป้องกันการเปียก



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง