Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สลอด

ชื่อท้องถิ่น: บะกั้ง (แพร่)/ มะข่าง มะคัง มะตอด หัสคืน หมากทาง (ภาคเหนือ)/ สลอดต้น หมากหลอด ต้นหมากหลอด ลูกผลาญศัตรู (ภาคกลาง)/ หมากยอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)/ ปาโต้ว (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Croton oil plant, Purging Croton

ชื่อวิทยาศาสตร์: Croton tiglium Linn.

ชื่อวงศ์: EUPHORBIACEAE

สกุล: Croton

สปีชีส์: tiglium 

ชื่อพ้อง: 

-Croton acutus Thunb.

-Croton arboreus Shecut

-Croton birmanicus Müll.Arg.

-Croton camaza Perr.

-Croton himalaicus D.G.Long

-Croton jamalgota Buch.-Ham.

-Croton muricatus Blanco

-Croton officinalis (Klotzsch) Alston

-Croton pavana Buch.-Ham.

-Croton tiglium var. tiglium

-Halecus verus Raf.

-Kurkas tiglium (L.) Raf.

-Oxydectes birmanica (Müll.Arg.) Kuntze

-Oxydectes blancoana Kuntze

-Oxydectes pavana (Buch.-Ham.) Kuntze

-Oxydectes tiglium (L.) Kuntze

-Tiglium officinale Klotzsch

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสลอด เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม มีเส้นร้อย ตรงกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวและมีขนปกคลุม ยอดอ่อนเป็นสีแดง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปหอก หรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกว้าง ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ หรือจักเป็นซีฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-14 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือหน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน แต่พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและร่วงไป หน้าใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนหลังใบเรียบ มีเส้นใบประมาณ 3-5 เส้น ที่ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม มีก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเดี่ยว ๆ หรืออกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกันและอยู่ในช่อเดียวกัน หรืออยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะอยู่ช่วงล่าง ส่วนดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงบน ดอกเพศผู้จะมีมีขนเป็นรูปดาว มีกลีบรองดอก 4-6 กลีบ ปลายกลีบมีขน และมีกลีบดอก 4-6 กลีบ ขอบกลีบดอกมีขน ฐานดอกมีขน มีต่อมจำนวนเท่ากัน และอยู่ตรงข้ามกับกลีบรองกลีบดอก เกสรเพศผู้จะมีจำนวนมาก ลักษณะของก้านเกสรไม่ติดกัน เมื่อดอกยังอ่อนอยู่ ก้านเกสรจะโค้งเข้าไปข้างใน ส่วนดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอกหรือมีแต่จะมีขนาดเล็กมาก มีกลีบรองดอกเป็นรูปไข่ มีขนที่โคนกลีบ รังไข่มี 2-4 ช่อง โดยดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็กมาก วางสับหว่างกัน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะงองุ้มไปด้านหลัง

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปรี รูปกลมยาว หรือกลมรูปไข่ แบ่งเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ผิวผลขรุขระเล็กน้อยและสากมือ ผลแห้งจะออกเป็น 3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี กลมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เมล็ดแบนเล็กน้อย เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และหนาประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันเงา

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตร 

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: พบในเขตร้อน จากอินเดีย ศรีลังกา จีนและมาเลเซีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสฝาดเมาเย็น สรรพคุณ แก้ลมอัมพฤกษ์ ดับเตโชธาตุมิให้เจริญ (ทำให้ตัวเย็นชืด) กลากเกลื้อน  คุดทะราด

*ดอก รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ถ่ายอย่างแรง ถ่ายพิษต่างๆ เป็นยาอันตราย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เมล็ด เนื้อในเมล็ด และยาง พบสาร (สารพิษ) Crotin, Resin, Croton oil, Taxalbumins (phytotoxins), Toxic albuminous substance crotin

-เมล็ดสลอด พบน้ำมัน Croton oil ประมาณ 40-60% ในน้ำมันพบสารหลายชนิด เช่น Croton resin, Crotonic acid, Phorbol และยังพบโปรตีน 18% และเป็นพิษโปรตีน เช่น Crotin (มีฤทธิ์คล้ายกับพิษโปรตีนจากเมล็ดละหุ่ง) ยังพบสาร Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Crotonside, Ricinine อีกทั้งยังพบสาร Cocarcinogen A1 (สารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง)

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์เป็นยาถ่าย ภายในเมล็ดสลอดมีน้ำมัน Croton oil ประมาณ 40-60% ในน้ำมันพบสารหลายชนิด เช่น Croton resin, Crotonic acid, Phorbol และยังพบโปรตีน 18% และเป็นพิษโปรตีน เช่น Crotin (มีฤทธิ์คล้ายกับพิษโปรตีนจากเมล็ดละหุ่ง) ยังพบสาร Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Crotonside, Ricinine อีกทั้งยังพบสาร Cocarcinogen A1 (สารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง)

-ภายในเมล็ดสลอดมีน้ำมัน 56% นอกนั้นจะเป็นสารจำพวก Toxic albuminous substances ชื่อ Crotin มีน้ำตาลและไกลโคไซด์ชื่อว่า Crotonoside และยังมีสารจำพวกที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายและทำให้เกิดอาการระคายเคืองแก่ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่สารจำพวก Terpenoid เป็นพวก Phorbals ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดมะเร็งได้เร็วขึ้น

-สาร Croton resin, Crotonic acid และ Phorbol ที่พบในเมล็ดสลอดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง

-ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Columbacilus น้ำเกลือที่แช่กับใบสลอด มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Columbacilus จากลำไส้ใหญ่ในหลอดทดลองได้หลายชนิด

-ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 สารสกัดชั้นเมทานอลสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 (IC100 : 0.04 mcg/ml) และยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 protease

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการทดสอบความเป็นพิษ กับส่วนสกัดที่แยกได้จากเมล็ด Resin พบว่ามีคุณสมบัติเป็นตัวที่ทำให้เกิดเนื้องอก (Tumour) และน้ำมันสลอดเพียง 10 หยด ก็สามารถฆ่าสุนัขได้ เพราะสลอดมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (แต่สำหรับคนใช้เพียง 1 หยดก็มากพอที่จะทำให้ไปนอนหยอดน้ำเกลือที่โรงพยาบาลแล้ว)

การใช้ประโยชน์:

-ใบ ใช้เป็นยาฆ่าแมลงวันได้

-น้ำมันเมล็ด ที่ได้จากการบีบหรือสกัดเมล็ดสลอดเรียกน้ำมันสลอด เป็นของเหลวหนืดสีเหลืองจาง เรืองแสงได้เล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง