Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: จันทน์เทศ

จันทน์เทศ thai-herbs.thdata.co | จันทน์เทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ชื่อท้องถิ่น: จันทน์บ้าน (ภาคเหนือ เงี้ยว-ภาคเหนือ)/ โย่วโต้วโค่ว โร่วโต้วโค่ว (จีนกลาง)/ เหน็กเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว)/ ปาลา (มาเลเซีย)

ชื่อสามัญ: Nutmeg

ชื่อวิทยาศาสตร์: Myristica fragrans Houtt.

ชื่อวงศ์: MYRISTICACEAE-จันทน์เทศ

สกุล: Myristica 

สปีชีส์: fragrans

ชื่อพ้อง: 

-Aruana silvestris Burm.f.

Myristica aromatica Sw.

Myristica moschata Thunb.

Myristica officinalis L.f.

Palala fragrans

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นจันทน์เทศ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย 


จันทน์เทศ thai-herbs.thdata.co | จันทน์เทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร


จันทน์เทศ thai-herbs.thdata.co | จันทน์เทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ดอกเพศผู้จะเกิดเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว และดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้


จันทน์เทศ thai-herbs.thdata.co | จันทน์เทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล เป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเป็นสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อน เมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ด จำนวน 1 เมล็ดต่อผล


จันทน์เทศ thai-herbs.thdata.co | จันทน์เทศ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย



เมล็ด มีลักษณะกลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อและเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร 

ถิ่นกำเนิด: เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อไม้และแก่น รสขมหอมร้อน สรรพคุณ แก้ไข้ดีเดือด ดีพลุ่ง แก้กระสับกระส่าย ตาลอยเผลอสติ บำรุงตับ ปอด น้ำดี

*เมล็ดใน รสหอมฝาดหวานสุขุม สรรพคุณ แก้กระหายน้ำ บำรุงกำลัง แก้ลม แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้ปวดขัดมดลูก ขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้บิด บำรุงธาตุ

*รกหุ้มเมล็ด (ดอกจันทน์) รสหอมฝาดร้อน สรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงผิวเนื้อให้เจริญ

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร มี 3 อย่างคือ ผลจันทน์เทศ ผลผักชีล้อม และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต 

2.“พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลจันทน์เทศ ผลเร่วใหญ่ และกานพลู สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

-บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ดอกจันทน์ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย 

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

  2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ, ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ,

3.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา

4.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ดอกจันทน์ พบสาร กลุ่มน้ำมันระเหยง่ายราว ร้อยละ 7-14  มีองค์ประกอบทางเคมีคือ alpha-pinene (18-26.5%), beta-pinene (9.7-17.7%), sabinene (15.4-36.3%), myrcene (2.2-3.7%), limonene (2.7-3.6%),  myristicin, elemicin, safrole

-ลูกจันทน์ พบสาร กลุ่มน้ำมันหอมระเหย 5-15%  ประกอบด้วย  d-camphene 60-80%, myristicin 4-8%, elemicin 2%, alpha และ beta-pinenes 35%, safrole (1-2.1%), กลุ่มน้ำมันระเหยยาก 20-40%  ประกอบด้วย  myristic  acid 60%, สารกลุ่ม  lignans  และ  neolignans

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

*ดอกจันทน์ (รก)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากผลจันทน์เทศสด ด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธี beta-carotene/linoleic acid bleaching assay และวิธี reducing power ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ เป็นการศึกษา โดยใช้วิธี  ex vivo rat aortic assay ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley จากผลการศึกษาพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากรกจันทน์เทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของ linoleic acid จึงยับยั้งการที่ beta-carotene จะถูกออกซิไดส์ได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 88.68±0.1% ใกล้เคียงกับสารมาตรฐาน BHT (93.2 ±0.1%) วิธี reducing power พบว่าน้ำมันหอมระเหยมีสมบัติการรีดิวส์ที่แรง แสดงถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 181.4 μg/mL แต่ออกฤทธิ์ต่ำกว่าสารมาตรฐานวิตามินซี (EC50 เท่ากับ 36.1 μg/mL) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ พบว่าน้ำมันหอมระเหย สามารถยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 77.64 μg/mL (สารมาตรฐาน suramine มีค่า IC50 เท่ากับ 16.6 μg/mL)  ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากรกจันทน์เทศ จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคสัมพันธ์กับการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่น การเจริญของเนื้องอก โรคมะเร็ง โรคอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น (Piaru, et al, 2012)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน การทดสอบสาร lignans ที่อยู่ในส่วนสกัดน้ำของรกจันทน์เทศสด ทดสอบในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ และสามารถปกป้อง DNA จากการถูกทำลายด้วยรังสี โดยสามารถลดการแตกหักของ DNA ได้ สามารถยับยั้งการตอบสนองของ gene  ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการ transcription ของ IL-2 และ IL-4 ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นในระบบภูมิคุ้มกัน สาร lignans สามารถปกป้องเซลล์ม้ามจากรังสีที่เหนี่ยวนำให้เกิดการผลิตอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฎิกิริยา(ROS) มาทำลายเซลล์ได้ จากการศึกษาสรุปได้ว่าสาร lignans ในจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายด้วยรังสี และมีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน (Checker, et al, 2008)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดรกจันทน์เทศที่สกัดด้วยเมทานอล, อีเทอร์ และเฮกเซน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ทำการทดลองด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทด้วยคาราจีแนน และการเหนี่ยวนำให้เกิดการซึมผ่านของสารที่หลอดเลือด (vascular permeability)ด้วยกรดอะซีติกในหนูเมาส์ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดรกจันทน์เทศ ได้แก่ สารสกัดเมทานอล (1.5 g/kg), สารสกัดอีเทอร์ (0.9 g/kg), สารสกัดเฮกเซน (0.5g/kg), ส่วนสกัดย่อย Fr-II (0.19 g/kg) และ ส่วนสกัดย่อย Fr-VI (0.17 g/kg) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน indomethacin (10 mg/kg) และเมื่อนำสารสกัดไปแยกด้วยวิธี silica gel column chromatography และ วิธี thin layer chromatography พบสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ  myristicin ดังนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่า สารที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของจันทน์เทศคือ myristicin (Ozaki, et al., 1989) 

*ลูกจันทน์

-ฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ Helicobacter pylori  จำนวน 39สายพันธุ์ โดยใช้สารสกัดเมล็ดจันทน์เทศด้วยตัวทำละลาย dichloromethane และ methanol ในขนาด 500 mg/kg และ 250 mg/kg ทำการทดสอบในหนูแรท ที่เหนี่ยวนำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบด้วยเชื้อ H. pylori ผลการทดลองพบว่าค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดของ สารสกัดเมทานอล ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ (minimum inhibitory concentration (MIC) เท่ากับ 6.25 mg/ml การให้สารสกัดเมทานอล ขนาด 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ofloxacin 400 mg แล้วบันทึกค่าคะแนนความหนาแน่นของแบคทีเรีย H. pylori  ที่ผนังกระเพาะอาหาร พบว่าจากปริมาณเชื้อเริ่มต้น 5.0 ± 7.07 x 108 เมื่อให้สารสกัดจันทน์เทศ และยา ofloxacin ปริมาณเชื้อลดลงเหลือ 1.6 ± 1.4 x 104  และ  3.45 ± 1.4 x 104 CFU/mL (mean ± SD, p < 0.05) ตามลำดับ (Oyedemi, et al., 2014) 

-ฤทธิ์ระงับปวด ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัด alkaloid จากเนื้อในเมล็ดจันทน์เทศในหนูถีบจักรเพศผู้และเพศเมีย โดยวิธี writhing test  โดยการฉีด 0.6% acetic acid เข้าไปในช่องท้องของหนูเพื่อกระตุ้นการปวด และสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู จากการศึกษาพบว่า สารสกัด alkaloids ในเมล็ดจันทน์เทศ ขนาด 1 g/kg มีฤทธิ์ระงับปวด ได้อย่างมีนัยสำคัญในหนูเพศเมีย แต่ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูเพศผู้  ขณะที่สารสกัด alkaloid ในเมล็ดจันทน์เทศขนาด 0.5 g/kg ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูทั้งสองเพศ ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง หรือ LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg จากการสังเกตพฤติกรรมพบว่าเมื่อให้สารสกัดขนาด 4 g/kg หรือสูงกว่า จะทำให้หนูมีกิจกรรมลดลง การเดินไม่มั่นคง เกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังได้รับสารสกัด โดยสรุปสารสกัดอัลคาลอยด์จากเมล็ดในจันทน์เทศมีฤทธิ์ลดปวดได้ โดยมีความเป็นพิษเล็กน้อย (Hayfaa, et al, 2013)

     การศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดอักเสบเรื้อรังของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ทดสอบในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้ Complete Freund s adjuvant (CFA) ซึ่งเป็นเชื้อที่แห้งและตายด้วยความร้อน ใช้เป็นสารเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่ข้อในหนูขาว โดยให้ CFA ภายหลังจากที่หนูแต่ละกลุ่มได้รับน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ในขนาดต่ำ 10 mg/kg ต่อวัน หรือขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 30 mg/kg ต่อวัน ทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบโดยดูจากการบวมที่อุ้งเท้าหนู และประเมินฤทธิ์ลดอาการปวดจากพฤติกรรมการเดินของหนูในระยะทางที่กำหนด (pain score test) บันทึกผลทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าในสัปดาห์ที่ 3 หลังให้น้ำมันลูกจันทน์เทศ ในขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน มีผลลดการบวม และการปวดได้มากกว่ายามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันลูกจันทน์เทศ และยามาตรฐาน diclofenac sodium ลดการบวมได้เท่ากับ 41.90 และ 35.52% ตามลำดับ (p<0.05) โดยมีคะแนนการปวด (pain score) เท่ากับ 1.46±0.19 และ 1.625±0.25 ตามลำดับ (p<0.05) และทำให้การแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงในสัปดาห์ที่ 2 และสามารถลด substance P (สารที่สร้างเมื่อมีการอักเสบ) ในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาน้ำมันลูกจันทน์เทศให้เป็นยาระงับอาการปวดเรื้อรังได้ (Zhang, et al., 2016)

-ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มฟีนอลิคที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ทำการทดสอบฤทธิ์ต่อการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ ที่ถูกกระตุ้นโดยไลโปโพลีแซคค์คาไรด์ (LPS) ในเซลล์ของแมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ผลการศึกษาพบว่าสาร 1-(2,6-dihydroxyphenyl)-9-(3,4-dihydroxyphenyl)-1-nonanone (malabaricone C) ที่แยกได้จากจันทน์เทศ ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO)โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.3±0.4 µM  นอกจากนี้สารบริสุทธิ์ 3 ชนิดได้แก่ สารชนิดที่ 1 คือ (+)-erythro-(7S,8R)-∆8-7-acetoxy-3,4,3,5-tetramethoxy-8-O-4-neolignan สารชนิดที่ 2 คือ erythro-(7S,8R)-7-(4-hydroxy-3-methoxypheny1)-8-[2-methoxy-4-(E)-propenyl) phenoxy] propan-7-ol และสารชนิดที่ 3 คือ ((8R,8S)-7-(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-8-methylbutan-8-yl)-3-methoxybenzene-4,5-diol ออกฤทธิ์ในระดับปานกลาง ในการยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 24.5±2.5, 25.0±3.1 และ 32.5±2.2 µM  ตามลำดับ (สารมาตรฐาน celastrol มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.1 µM ) จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ  (Cuong, et al., 2011)

การทดสอบสารในกลุ่ม neolignans ชนิด dihydrobenzofuran จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ licarin B (1), 3҆-methoxylicarin B (2), myrisfrageal A (3), isodihydrocainatidin (4), dehydrodiisoeugenol (5) และ myrisfrageal B (6) ซึ่งแยกได้จากเมล็ดแห้งสุกของจันทน์เทศ ผลการทดสอบพบว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 6 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 53.6, 48.7, 76.0, 36.0, 33.6 และ 45.0 ไมโครโมล ตามลำดับ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin และ L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 65.3 และ 27.1 ไมโครโมล ตามลำดับ นอกจากนี้สาร 3, 5 และ 6 สามารถยั้บยั้งการทำงานของ nitric oxide synthase (iNOS) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ได้ ซึ่งจะยับยั้งการสร้าง nitric oxide ในปริมาณที่มากเกินไป ด้วยวิธีการยับยั้งการแสดงออกของ  iNOS mRNA จากการศึกษา จึงสรุปได้ว่า สารประกอบ (1)-(6) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Cao, et al, 2013)

สาร neolignans ชนิด 8-O-4҆   จำนวน 5 ชนิด คือ myrifralignan A–E (1–5) และอนุพันธ์อีก 5 ชนิด (6-10) แยกได้จากเมล็ดของจันทน์เทศ โดยสาร 3-10 แสดงฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นโดย lipopolysaccaride โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 47.2 ± 1.1, 49.0 ± 1.0, 32.8 ± 2.7, 48.3 ± 1.4, 21.2 ± 0.8, 48.0 ± 1.2, 49.8 ± 1.9 และ 18.5 ± 0.5 µM ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน  L-N6-(1-iminoethyl)-lysine เท่ากับ 27.1 ± 2.2 µM และ indomethacin เท่ากับ 65.3 ± 6.7 µM สาร myrislignan (7) และ machilin D (10) มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง  nitric oxide (NO) สูงที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 21.2 และ 18.5 µM ตามลำดับ ซึ่งสารทั้งสองมีฤทธิ์ยับยั้งที่สูงกว่าสารมาตรฐาน L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งเป็น selective inhibitor ของ nitric oxide synthase (IC50 = 27.1 ไมโครโมล) นอกจากนี้ สาร neolignans ยังสามารถยับยั้งการแสดงออกของ  nitric oxide synthase ใน mRNA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นสาร neolignans ชนิด 8-O-4҆   มีแนวโน้มเป็นสารยับยั้งการอักเสบได้ (Cao, et al, 2015)

-ฤทธิ์ระงับความกังวล สารสกัดเฮกเซน (MF), สารสกัดส่วนที่ไม่ละลายในอะซิโตนที่แยกจากสารสกัดเฮกเซน (AIMF) และสารบริสุทธิ์  trimyristin (TM) ที่ได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ถูกนำมาทดสอบฤทธิ์คลายความกังวล โดยใช้ MF ในขนาด 10 และ 30 mg/kg, AIMF ในขนาด 30, 100 และ 300 mg/kg และ TM ในขนาด 10, 30 และ 100 mg/kg ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรเพศผู้ เพื่อดูฤทธิ์คลายกังวล โดยใช้วิธี elevated plus-maze (EPM), open-field test และ hole-board test จากการทดสอบ EPM test ซึ่งเป็นการทดสอบความกลัวและวิตกกังวลของหนู เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายในอุปกรณ์ที่จัดทำขึ้น ภายหลังการได้รับสารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นประเมินระยะเวลาที่หนูเข้าไปใน open arm หรือใช้เวลาใน open arm ภายในเวลา 5 นาที ผลการทดสอบพบว่า MF, AIMF และ TM มีฤทธิ์ระงับความกังวล ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน diazepam (ฉีดเข้าช่องท้องหนู ในขนาด 1 mg/kg) โดย TM ออกฤทธิ์สูงสุด ส่วนการทดลอง open-field test และ hole board apparatus ที่เหนี่ยวนำให้หนูมีความวิตกกังวล ด้วยวิธีนำหนูใส่กล่องไม้ในพื้นที่จำกัด และมีแสงขนาด 40 วัตต์ และวิธีนำหนูใส่ในกล่องไม้เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3  ซม. จำนวน 16 รู  บันทึกเวลาที่หนูใช้ในการออกจากกล่อง จำนวนครั้งที่หนูโผล่ศีรษะออกมา และพฤติกรรมต่างๆ โดยให้สารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นจึงนำหนูใส่ในกล่องทดสอบ พบว่า AIMF และ TM สามารถลดความวิตกกังวลของหนูได้ (Sonavane, et al, 2002)

-ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มนีโอลิกแนน erythro-(7S,8R)-7-acetoxy-3,4,3`,5`-tetramethoxy-8-O-4`-neolignan (EATN) ที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศต่อเกล็ดเลือดของคน ผลการทดสอบพบว่า สาร EATN มีฤทธิ์ในการยับยั้ง thrombin (thrombin ทำหน้าที่เปลี่ยน fibrinogen ไปเป็น fibrin ซึ่งจะมีบทบาทในการสร้างลิ่มเลือดในขั้นตอนการแข็งตัวของเลือด) และ platelet activating factor (PAF) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.2±0.4 และ 3.4±0.3 µM ตามลำดับ นอกจากนั้นยังยับยั้งการหลั่ง ATP, serotonin และ thromboxane B2 ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย thrombin โดยผ่านกลไกการเพิ่มระดับ cyclic AMP (cAMP) ส่งผลต่อการยับยั้ง Ca2+ ที่จะเคลื่อนที่เข้าไปภายในเซลล์ และลดการกระตุ้นการรวมตัวของเกล็ดเลือดตามมา โดยสรุปสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศสามารถนำไปศึกษาเชิงลึกถึงกลไกการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเพื่อนำไปพัฒนายาที่ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ต่อไป (Kang, et al., 2013)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 12,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

-การศึกษาการเกิดพิษของ myristicin ที่พบในผลจันทน์เทศพบว่ามีรายงานการเกิดอาการประสาทหลอนอาการผิดปกติทางระบบประสาท ขนาดที่ทำให้เกิดพิษ คือผงจันทน์เทศ 5 กรัม เทียบเท่ากับสาร myristicin1-2 กรัม อาการจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับขนาดยาดังกล่าวภายใน 3-6 ชั่วโมง และอาการคงอยู่ถึง 72 ชั่วโมง และหากได้รับในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่าการเกิดพิษดังกล่าวเกิดจากสารที่ได้จากระบวนการเมตาบอลิซึม คือ 3-methoxy-4,5- methylendioxyamphetamine (MMDA)(Rahman, et al., 2015)

-การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ จากลูกจันทน์เทศ (สกัดใน 70% ethanol : distilled water ) ในขนาด 2, 3, 4, 5 และ 6 g/kg ทางปาก พบว่า มีค่า LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg หนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 4 g/kg ขึ้นไป จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป 72 ชั่วโมง โดยจะมีอาการเคลื่อนไหวได้ช้า เดินเซ ปวดศีรษะ ส่วนหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 3 g/kg ลงไป ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติแต่อย่างใด (Hayfaa, et al, 2013)

-การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท  เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ประสามหลอน การบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก อาจถึงตายได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท  ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

-น้ำมันจันทน์เทศจากลูกจันทน์ มีสาร safrole เป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับได้ จึงควรระวังในการใช้ไม่ให้มีสาร safrole เกิน 1% เพราะทำให้เกิดพิษได้

-สาร  safrole มีผลก่อมะเร็งตับในหนู น้ำมันหอมระเหยทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย แต่ไม่ระคายเคืองในคน สาร  myristicin ขนาด 10 มิลลิกรัม / กิโลกรัม ไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่จะมีผลต่อระะบบประสาท

-การรับประทานดอกจันทน์ปริมาณมาก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แขนขาไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจตายได้ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

-หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจาก myristicin สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S-transferase ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอก

การใช้ประโยชน์:

-ดอกจันทร์และลูกจันทน์ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดศรีษะ ร้อนใน ผื่นคัน ลมจุกเสียด เลือดกำเดาออก ท้องร่วง บำรุงปอด หัวใจ ตับ น้ำดี ช่วยให้เจรฺญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ และกระจายเลือดลม 

-เนื้อจันทน์เทศ มีรสเปรี้ยวฝาด กลิ่นหอม เนื้อผลแก่นิยมนำไปแปรรูปเป็นของขบเคี้ยว ให้รสหอมสดชื่น เผ็ดธรรมชาติ หวานชุ่มคอ และมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้บิด 

-ดอกตัวผู้ตากแห้ง เป็นส่วนผสมในเครื่องยาจีน มีฤทธ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ธาตุอาหารพิการ นำมาชงน้ำร้อนดื่มช่วยย่อยอาหาร 

-น้ำมันลูกจันทร์ นำมาทำเป็นยาดม 

-ในปัจจุบันจันทน์เทศใช้ในอุตสาหกรรมที่อเมริกามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตามโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง เครื่องหอม เครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม สุรา ลูกอมลูกกวาด




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง