Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: สำรอง

ชื่อท้องถิ่น: จอง หมากจอง (อุบลราชธานี)/ บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน)/ ท้ายเภา (ภาคใต้)/ พุงทะลาย ฮวงไต้ไฮ้ (จีน)/ พ่างต้าห่าย (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Malva nut, Jelly nut

ชื่อวิทยาศาสตร์: Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G.Planch.

ชื่อวงศ์: MALVACEAE

สกุล: Scaphium 

สปีชีส์: scaphigerum 

ชื่อพ้อง: 

-Scaphium linearicarpum (Mast.) Pierre

-Scaphium macropodum Beaum 

-Scaphium lychnophorum (Hance) Pierre

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นสำรอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 30-40 เมตร และอาจสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกรอบต้น เรียงกันเป็นชั้น ๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ ลักษณะของใบมีหลากหลายรูปร่าง เช่น รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปคล้ายรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ และใบมีรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึกประมาณ 2-5 แฉก ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักประมาณ 3-5 หยักและมีก้านใบยาวมาก

ดอก ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ โดยจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร กลีบดอกปลายแหลม เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายทรงบอก มีขนปกสีแดงปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-15 ก้านและเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน

ผล  ลักษณะของผลเป็นรูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย ผลจะออกตามปลายกิ่ง กิ่งหนึ่งจะมีผลประมาณ 1-5 ผล เมื่อแก่จะแตกออก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมรีเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกับลูกสมอ ผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น แห้ง และขรุขระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 18-25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปมนรี มีเยื่อหุ้มอยู่ เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกเมล็ดมีสารเมือก (Mucilage) ที่สามารถพองตัวได้ดีในน้ำ 

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เนื้อหุ้มเมล็ด รสเปรี้ยวหวาน สรรพคุณ ทำให้ใจคอชุ่มชื่นบาน แก้กระหายน้ำ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-เมล็ด พบสาร Bassorin,   Glucorine  และ Pentose  นอกจากนี้ยังพบสารคาร์โบไฮเดรตที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม monosaccharide เช่นMannose ,   Arabinose, Rhamnose , Xylose ,Glucose , Galactose

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ระงับปวด ลดไข้และต้านการอักเสบ การศึกษาฤทธิ์การประเมินการลดปวด ลดไข้และต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลและไดคลอโรมีเทนจากผลลูกสำรองในสัตว์ทดลอง พบว่า สารจากผลสำรองที่สกัดด้วยเอทานอลสามารถระงับปวด ลดไข้และต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลสิสระ การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลสิสระของสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรอง ในการลดอนุมูลอิสระชนิด DPPH และ lipid peroxide สารสกัดเมทานอลจากเมล็ดสำรองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อ lipid peroxide 

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การศึกษาคุณสมบัติของสารละลายน้ำโพลีแซคคาไรด์ของลูกสำรองและฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านการอักเสบในหนู พบว่า ได้สารสกัด 2 ชนิด คือ acidic polysaccharide (ASP) กับ neutral polysaccharide (NSP) ซึ่งจากการทดลองสารสกัด acidic polysaccharide (ASP) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง 

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาผลจากการบริโภคน้ำลูกสำรองต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ในสัปดาห์ที่4 และ 8 กลุ่มทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือด และระดับ HbA1c ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนทำการทดลอง และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาบำบัดร่วมกับการบริโภคน้ำลูกรอง ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-จากการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ พบว่าสมุนไพรชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งอาหารเสริมจากสำรองจะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีภูมิที่ไว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น และการรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพรชนิดนี้ (ชนิดแคปซูล) ควรรับประทาน 7 วัน แล้วเว้นไปอีก 7 วัน เนื่องจากในปริมาณดังกล่าวสมุนไพรนี้จะมีฤทธิ์ต่อเนื่องไป 7 วัน (ฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว.)

การใช้ประโยชน์:

-ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม ใช้วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ดมาพอกบริเวณตา โดยวุ้นสำรองเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อน ๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา 

-อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง หรือจะใช้เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ 

-ช่วยในการลดน้ำหนัก เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่น ๆ ได้น้อยลง และวุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่าง ๆ (รวมถึงสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง 

-ช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง) 

-ผลสำรอง นำมาประกอบอาหาร เช่น ใช้แทนสาหร่ายในแกงจืด ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก รวมถึงใช้ทำน้ำสำรองพร้อมดื่มและสำรองผง เป็นต้น

-ในประเทศอินเดียมีรายงานการใช้สมุนไพรสำรองเพื่อการรักษาอาการอักเสบ แก้ไข้ และขับเสมหะ ส่วนในประเทศจีนจะใช้สำรองร่วมกับชะเอมนำมาจิบบ่อย ๆ เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดอาหารปวด และบำรุงไต



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง