Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ชิงชี่

ชื่อท้องถิ่น: กระดาดขาว กระดาษขาว กระโรกใหญ่ จิงโจ้ พญาจอมปลวก แสมซอ (ภาคกลาง)/หนวดแมวแดง (เชียงใหม่)/ แส้ม้าทลาย (เชียงราย)/ ซิซอ (ปราจีนบุรี)/ คายซู (อุบลราชธานี)/ น้ำนอง (สุโขทัย)/ ชายชู้ หมากหมก (ชัยภูมิ)/ พุงแก (ชัยนาท)/ ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์)/ ค้อนฆ้อง (สระบุรี)/ กระดาดป่า กระดาษป่า (ชลบุรี)/ ราม (สงขลา)/ พวงมาระดอ เม็งซอ (ปัตตานี)/ ชิงชี ชิงวี่ ชินซี่ ซาสู่ต้น แซ่สู่ต้น แซ่ม้าลาย แส้ม้าทะลาย น้ำนองหวะ ปู่เจ้าสมิงกุย

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Capparis micracantha DC.

ชื่อวงศ์:  CAPPARACEAE-CAPPARIDACEAE

สกุล: Capparis 

สปีชีส์: micracantha

ชื่อพ้อง: 

-Capparis bariensis Pierre ex Gagnep.

-C. billardieri DC.

-C. callosa Blume

-C. donnaiensis Pierre ex Gagnep.

-C. forsteniana Miq.

-C. hainanensis Oliv.

-C. liangii Merr. & Chu

-C. myrioneura Hallier f.

-C. odorata Blanco

-C. petelotii Merr.

-C. roydsiifolia Kurz

-C. venosa

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ชิงขี่ thai-herbs.thdata.co | ชิงขี่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นชิงชี่ เป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนเป็นสีเขียว กิ่งคดไปมา ผิวเรียบเกลี้ยง มีหนามยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ลักษณะตรงหรือโค้งเล็กน้อย ส่วนลำต้นเป็นสีเทา ผิวเปลือกต้นเป็นกระสีขาว ๆ แตกระแหง 


ชิงขี่ thai-herbs.thdata.co | ชิงขี่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยและเป็นติ่ง ส่วนขอบใบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9.5-24 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา มัน และเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร


ชิงขี่ thai-herbs.thdata.co | ชิงขี่ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก โดยจะออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองหลุดร่วงได้ง่าย มี 2 กลีบ ด้านนอกสีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอย ๆ สีขาวคล้ายหนวดแมวยื่นยาวออกมา มีประมาณ 20-35 อัน ก้านยาว มีรังไข่เป็นรูปไข่ เกลี้ยง ส่วนกลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ผล ลักษณะเป็นผลสด ลักษณะของผลค่อนข้างกลมหรือรี ผิวผลเรียบแข็งเป็นมัน มี 4 ร่องตามยาวของผลหรือไม่มี  ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 3.5-4 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือแดง หรือดำ มีเมล็ดภายในผล

เมล็ด ลักษณะเป็นรูปไต สีแดงหรือดำเป็นมันอัดแก่นอยู่เป็นจำนวนมาก

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: พบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ขึ้นได้ตามสภาพดินแห้ง เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้กับทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป 

การกระจายพันธุ์: พม่า ไทย อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน อันดามัน และไฮหนาน

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ต้น รสขื่นปร่า สรรพคุณ แก้ฟกบวม 

*ลูก รสขื่นปร่า สรรพคุณ แก้เจ็บคอ ลำคออักเสบ

*ดอก รสขื่นเมา สรรพคุณ แก้โรคมะเร็ง

*ราก รสขมขื่น สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อลม ขับลมในท้องให้ซ่านออกมา แก้ไข้ร้อนในทุกชนิด 

*ใบ รสเฝื่อนเมา สรรพคุณ ต้มเอาน้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ไข้ฝีกาฬ สันนิบาต ตะคริว

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดเบญจโลกวิเชียร” ได้แก่ รากชิงชี่ รากหญ้านาง รากคนทา รากเท้ายายหม่อม รากมะเดื่อชุมพร มีสรรพคุณ ใช้กระทุ้งพิษต่างๆ หรือถอนพิษต่างๆ แก้ไข้ต้นมือ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ชิงชี่ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

1.ยาแก้ไข้ ปรากฎตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของชิงชี่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

องค์ประกอบทางเคมี: -

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สารสกัดจากรากชิงชี่ด้วยเอทานอล นำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ด้วยวิธี disc diffusion method โดยใช้สารสกัดขนาด 10 mg/disc พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อ β-streptococcus group A และ Pseudomonas aeruginosa ได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณที่เชื้อไม่เจริญ เท่ากับ 18.2 และ 13.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ เชื้อ β-streptococcus group A ทำให้เกิดการเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้รูมาติก ช่องหูอักเสบ ไตอักเสบเฉียบพลันตามมาหลังการติดเชื้อ เป็นต้น  เชื้อ Pseudomonas aeruginosa  ทำให้ปอดอักเสบ ปอดบวม ช่องหูอักเสบ เป็นต้น (อารีย์รัตน์ และคณะ, 2531)

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์: 

-ผลสุก มีรสหวาน ใช้รับประทานได้

-นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นชิงชี่เป็นไม้เล็กใช้พื้นที่ปลูกแคบ ตัดแต่งได้ง่าย ออกดอกดก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และดูแปลกตา มองดูเหมือนมีการเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นสีแดงเข้ม แต่แท้จริงแล้วเป็นแหล่งน้ำหวานที่เปลี่ยนสีได้ อีกทั้งก้านเกสรก็มีจำนวนมาก โค้งได้รูปดูแปลกตา จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง