Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: คันทรง

ชื่อท้องถิ่น: ก้านตรง (สุรินทร์)/ ก้านถึง ก้านเถิ่ง ก้านเถิง ผักก้านเถิง (ภาคเหนือ)/ คันซง คันซุง คันชุง คันทรง (ภาคกลาง), กะทรง ทรง (ภาคใต้)/ เพลโพเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ ผักหวานต้น (ลั้วะ)/ ก้านเถง ผักก้านตรง ผักก้านถึง ผักคันทรง

ชื่อสามัญ: -

ชื่อวิทยาศาสตร์: Colubrina asiatica (L.) Brongn.

ชื่อวงศ์: RHAMNACEAE

สกุล: Colubrina 

สปีชีส์: asiatica 

ชื่อพ้อง: 

Ceanothus asiaticus L.

C. capsularis G.Forst.

Colubrina capsularis G. Forst.

Pomaderris capsularis (G. Forst.) G. Don

Rhamnus acuminata Colebr. ex Roxb.

R. asiatica (L.) Lam. ex Poir.

R. splendens Blume

Sageretia splendens (Blume) G. Don

Tubanthera katapa

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

คันทรง thai-herbs.thdata.co | คันทรง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นคันทรง เป็นไม้พุ่มขนาดกลางกึ่งไม้เลื้อย ลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 1-9 เมตร แตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้น กิ่งก้านมีขนาดเล็กกลมสีเขียว กิ่งก้านสีเขียวเข้มเป็นมัน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ถี่ ๆ และตามลำต้นจะมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่าง ๆ 


คันทรง thai-herbs.thdata.co | คันทรง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ส่วนท้องใบเรียบมีขนที่เส้นใบ ผิวใบทั้งสองด้านมันเงา โดยมีเส้นใบ 3 เส้นออกจากโคนใบ เส้นใบข้างอีก 3-4 เส้นออกจากเส้นกลางใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร มีหูใบขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร


คันทรง thai-herbs.thdata.co | คันทรง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกเล็ก ๆ ตามซอกใบตามกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านเรียงเป็นแถวเป็นช่อเล็ก ๆ ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 8-14 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนปนเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในดอกย่อยจะประกอบไปด้วยดอกสมบูรณ์เพศประมาณ 2-3 ดอก และดอกเพศผู้อีกหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปจาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียวมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม ส่วนโคนกลีบดอกติดกันที่ฐานดอก จานรองสีเหลืองส้ม มีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้องหลอมรวมกับจานรอง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนก้านดอกสั้น มีความยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร


คันทรง thai-herbs.thdata.co | คันทรง สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล เป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ เรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง ปลายผลเว้าเข้าแบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลเป็นสีเขียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน มีก้านผลที่ยาวประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 3 เมล็ด   

เมล็ด มีลักษณะแบนและเป็นสีดำหรือเป็นสีน้ำตาลเทา มีขนาด 0.5-0.6 x 0.4-0.5 เซนติเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นเองตามป่าราบ ป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือที่รกร้างข้างทางทั่วไป โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือ บ้างว่าพบได้มากตามชายทะเลหรือชายหาดหินปูน

ถิ่นกำเนิด: ตะวันออกเฉียงใต้ของเคนยาไปจนถึงโมซัมบิกและแปซิฟิก

การกระจายพันธุ์: อัลดาบรา, เกาะอันดามัน, หมู่เกาะบิสมาร์ก, เกาะบอร์เนียว, กัมพูชา, แคโรไลน์ไอส์, จีนตะวันออกเฉียงใต้, เกาะคุก, ฟิจิ, ไหหลำ, ฮาวาย, อินเดีย, จาวา, คาซานเรตโต, เคนยา, เกาะลัคคาไดฟ์, เกาะซุนดาา, มาดากัสการ์, มาลายา, มัลดีฟส์,มัลดีฟส์, มาลูกู, โมซัมบิก, พม่า, นาอูรู, นิวแคลิโดเนีย, นิวกินี, เกาะนิโคบาร์, นีอูเอ, ฟิลิปปินส์, ควีนส์แลนด์, ซามัว, เซเชลส์, เกาะโซไซตี, เกาะโซโลมอน, ทะเลจีนใต้, ศรีลังกา, สุลาเวสี, สุมาเตรา, ไต้หวัน, แทนซาเนีย, ไทย, โทเคอเลา - มานิฮิกิ, ตองกา, ทูอาโมตู, วานูอาตู, เวียดนาม, เกาะวัลลิส - ฟุตูนา

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำลำต้น

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสฝาดเฝื่อน แก้อาการบวม น้ำเหลืองเสีย กินแก้ร้อนในกระหายน้ำ 

*ใบและเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ต้มน้ำอาบแก้เม็ดผื่นคัน แก้บวมทั้งตัว เนื่องจากโรคไตหรือโรคหัวใจพิการ น้ำเหลืองเสีย และเหน็บชา 

*ใบ ปรุงยาต้มทาบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด                -ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ฝนกับน้ำมะพร้าว กินแก้บวม ตานขโมย (โรคพยาธิในเด็กอายุ 5-13 ปี มีอาการซูบผอม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องเสีย)

-ประเทศมาเลเซียใช้ต้น ต้มกินบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร ใบ มีรสขม ช่วยเจริญอาหาร ยาต้มจากใบ ทาแก้อาการแพ้ ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบ ฝี ผล ทำให้แท้งบุตร น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคข้อรูมาติก แก้อาการชา แก้ปวดตามตัว และศีรษะ แก้ไข้ บรรเทาปวด

องค์ประกอบทางเคมี: 

พบสารกลุ่มซาโปนิน colubrine, colubrinoside มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน, สารแลคโตน ebelin สารกลุ่มฟลานอยด์ เช่น kaempferol-3-O-rutinoside, rutin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:-

การศึกษาทางพิษวิทยา:-

การใช้ประโยชน์: 

-ใบอ่อนและยอดอ่อน นำมานึ่งหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ตาแดง หรือใช้เป็นผักรองห่อหมก และยังนำมาใส่ในแกงแคร่วมกับผักอื่น ๆ ใช้ทำแกงกับปลาย่าง ใส่ในแกงขนุน ใช้ทำแกงผักคันทรงกุ้งสด นำมาทำแกงส้ม แกงเลี้ยง หรือนำมาผัดกับน้ำมัน

-ผล ใช้เป็นยาเบื่อปลา



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง