Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนต้น (เทียนย้อมมือ)

ชื่อท้องถิ่น: เทียนขาว เทียนแดง เทียนไม้ เทียนต้น เทียนข้าวเปลือก เทียมป้อม เทียนย้อม (ภาคกลาง)/ ต้นกาว ต้นกกกาว (อีสาน) ฮวงกุ่ย โจนกะฮวยเฮี๊ยะ (จีน) 

ชื่อสามัญ: Henna, Alcana, Cypress shrub, Egyptian Rrivet, Henna Tree, Inai, Kok khau, Krapin, Madayanti, Mehadi, Mignonotte tree, Mong Tay, Lali, Reseda, Sinamomo

ชื่อวิทยาศาสตร์: Lawsonia inermis L.

ชื่อวงศ์: LYTHRACEAE

สกุล: Lawsonia 

สปีชีส์: inermis

ชื่อพ้อง: Lawsonia alba Lam.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เทียนต้น thai-herbs.thdata.co | เทียนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเทียนต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อยขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มกว้าง ลักษณะของกิ่งก้านเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวนวล กิ่งเมื่อแก่จะมีหนาม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมสีเทา ผิวขรุขระ 


เทียนต้น thai-herbs.thdata.co | เทียนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว มีขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมโค้ง โคนใบแหลมเรียวสอบเข้าหากันหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง ก้านใบสั้น


เทียนต้น thai-herbs.thdata.co | เทียนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกระจุกยาว โดยจะออกตามยอดกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก แบ่งเป็นสองสายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกขาวและพันธุ์ดอกแดง[3] ดอกมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ช่อดอกยาวประมาณ 9-14 เซนติเมตร พันธุ์ดอกขาวดอกจะเป็นสีเหลืองอมสีเขียว กลีบดอกแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ ปลายกลีบมน มีรอยย่นยับ กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ที่ฐานดอกที่มีกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ที่กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้านและเกสรเพศเมีย 1 ก้าน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกร่วงได้ง่าย


เทียนต้น thai-herbs.thdata.co | เทียนต้น สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับเมล็ดพริกไทย ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกหรือแก่เต็มที่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมากอัดกันแน่น ลักษณะของเมล็ดเป็นเหลี่ยม

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: ตอนเหนือของแอฟริกา

การกระจายพันธุ์: ทางตอนเหนือของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย 

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสฝาด สรรพคุณ แก้เล็บถอด อักเสบช้ำ

*ยอดอ่อน รสฝาด สรรพคุณ แก้เด็กท้องร่วงได้ผลดีทุกระยะ

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนต้น ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของใบเทียนร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น 

องค์ประกอบทางเคมี: 

 -สารกลุ่มแทนนิน ได้แก่ gallic acid สารกลุ่ม napthoquinone ได้แก่ lawsone, lawsonadeem, lawsonicin สารกลุ่ม coumarin ได้แก่ p-coumaric acid, fraxetin, scopoletin, esculetin นอกจากนี้ยังพบสาร lalioside และ 2,4,6-trihydroxy acetophenone-2-O-b-D-glucopyranoside เป็นสารกลุ่ม acetophenone,  สาร luteolin-7-O-b-D-glucopyranoside เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, สาร lawsoniaside และ 1,2,4-trihydroxynaphthalene-1-O-b-D-glucopyranoside เป็นสารกลุ่ม naphthalene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัด 50% เมทานอล ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยวิธี disk diffusion method บันทึกผลจากบริเวณพื้นที่ใสที่เชื้อไม่ขึ้น (zone of inhibition) เชื้อที่ใช้ทดสอบเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด ได้แก่ Bacillus cereus และ Staphylococcus aureus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli และ Klebsiella pneumoniae ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด 50% เมทานอล ที่ได้จากใบเทียนกิ่งที่ความเข้มข้น 100 mg/ml มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย B. cereus และ S. aureus ได้โดยมีค่า zone of inhibition เท่ากับ 14.0 และ 9.9 mm ตามลำดับ (สารมาตรฐาน tetracycline ขนาด 5µg/disc มีค่า zone of inhibition เท่ากับ 14.0 และ 15.0 mm ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli และK. pneumoniae ได้โดยมีค่า zone of inhibition เท่ากับ 16.0 และ 10.2 mm ตามลำดับ (สารมาตรฐาน norfloxacinขนาด 5µg/disc มีค่า zone of inhibition เท่ากับ 16.0 และ 20.0 mm ตามลำดับ) (Raja, et al., 2013) โดยสรุปสารสกัด 50% เมทานอล ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดที่ใช้ในการทดสอบ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ B. cereus และ E. coli ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน (เชื้อ B. cereus ก่อโรคฉวยโอกาสได้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ สามารถก่อโรคอาหารเป็นพิษ และตาอักเสบ เป็นต้น เชื้อ E. coli สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Candida albicans ATCC 10231 (เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ในช่องปาก,  บริเวณผิวหนังและเล็บ, เกิดโรคติดเชื้อราที่บริเวณผิวหนัง และเยื่อบุชนิดเรื้อรัง ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ เป็นต้น เชื้อนี้พบมากที่ช่องปาก และช่องคลอด) ทดสอบโดยใช้สารสกัดเอทานอลจากเทียนกิ่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลองโดยใช้วิธี microdilution broth method รายงานผลเป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (MFC) ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดเอทานอลของเทียนกิ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ C. albicans โดยมีค่า MIC และ MFC เท่ากับ 0.910 และ 2.340 mg/ml ตามลำดับ ในขณะที่ ketoconozole ซึ่งเป็นสารมาตรฐาน มีค่า MIC และ MFC เท่ากับ 0.008 และ 0.010 mg/ml ตามลำดับ (Chatchawanchonteera, et al., 2010)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซิเตต, บิวทานอล และสารสกัดน้ำ ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธีทางเคมีคือ DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay เพื่อหาค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอนุมูลอิสระได้ร้อยละ 50 (EC50) โดยใช้วิตามินซีเป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่า EC50 ของสารสกัดเอทิลอะซิเตต, บิวทานอล, น้ำ และวิตามินซี เท่ากับ 4.8±0.2, 9.0±0.3, 7.6±0.1 และ 3.5±0.2 µg/ml ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตตสามารถต้านอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุด รองลงมาคือสารสกัดน้ำ ส่วนสารสกัดเฮกเซน และสารสกัดคลอโรฟอร์มไม่แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH (Hsouna, et al., 2011)

-การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซิเตต, บิวทานอล และสารสกัดน้ำ ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี β-carotenebleaching method เพื่อดูความสามารถของสารทดสอบในการปกป้อง β-carotene โดยการ neutralize linoleate free radical ที่เกิดขึ้นในระบบ ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันได้ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตต, บิวทานอล และสารสกัดน้ำ สามารถปกป้อง β-carotene (ยับยั้งอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นได้) โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 11.8±0.3, 38.7±0.7, 52.0±3.0 และ 16.5±1.5 µg/ml ตามลำดับ ส่วนสารสกัดคลอโรฟอร์มไม่ออกฤทธิ์ โดยสรุปสารที่มีความเป็นขั้วต่ำคือเฮกเซนสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระด้วยวิธี β-carotene bleaching ได้ดีที่สุด (Hsouna, et al., 2011)

-ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay และวิธี β-carotene bleaching method ของสารบริสุทธิ์ 5 ชนิด ที่แยกได้จากสารสกัดบิวทานอลของใบเทียนกิ่ง ได้แก่ Lalioside (1), Lawsoniaside (2), Luteolin-7-O-β-D-glucopyranoside (3)    2,4,6-trihydroxy acetophenone-2-O-β-D-glucopyranoside (4) และ 1,2,4-trihydroxynaphthalene-1-O-β-D-glucopyranoside (5) โดยสาร 1 และ 4 เป็นสารกลุ่ม acetophenone, สาร 3 เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, สาร 2 และ 5 เป็นสารกลุ่ม naphthalene ผลการทดสอบพบว่าสาร 1-5 สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 10.0 ± 0.5, 8.0 ± 0.6, 17.0 ± 0.7, 54.0 ± 1.2 และ 6.5 ± 0.8 µg/ml ตามลำดับ (สารมาตรฐาน ascorbic acid มีค่า EC50 เท่ากับ 3.5 ± 0.2 µg/ml) สาร 1-5 สามารถปกป้อง β-carotene โดยมีค่าร้อยละของการยับยั้งอนุมูลอิสระได้เท่ากับ 0, 18.5 ± 0.1, 61.5 ± 0.4, 14.0 ± 0.1 และ 12.0 ± 0.5% (สารมาตรฐาน BHT ยับยั้งได้เท่ากับ 79.0 ± 0.5%) โดยสรุปสาร 5 ยับยั้งอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay ได้ดีที่สุด และสาร 3 ยับยั้งอนุมูลอิสระด้วยวิธี β-carotenebleaching method ได้ดีที่สุด (Hsouna, et al., 2011)

-การทดสอบหาปริมาณของสารฟีนอลรวม ของสารสกัดเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทิลอะซิเตต, บิวทานอล และสารสกัดน้ำ ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี Folin–Ciocalteu method ในการหาปริมาณสารฟีนอลทั้งหมด รายงานผลในหน่วยมิลลิกรัมของกรดแกลลิคต่อกรัมของตัวอย่างแห้ง (mg GAE/g) ผลการทดสอบพบว่าปริมาณของสารฟีนอลรวม ที่ได้จากใบเทียนกิ่ง มีค่าเท่ากับ 50±5.0, 73±4.0, 367±19, 286±8.0 และ 444±38 mg GAE/g ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดน้ำมีปริมาณทั้งหมดของสารฟีนอลมากที่สุด รองลงมาคือสารสกัดเอทิลอะซิเตต (Hsouna, et al., 2011)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-สาร Lawsone มีความปลอดภัยสูง มีรายงานว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และก่อมะเร็ง และได้มีการทดสอบความเป็นพิษของใบกับคน โดยให้รับประทานใบคนละ 30 กรัม ผลการทดลองไม่พบว่าเป็นพิษ แต่หากใช้ไปนาน ๆ จะมีอาการเบื่ออาหาร ลำไส้มีอาการเคลื่อนไหวมาก และเมื่อทดลองในสุนัขก็ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ

การใช้ประโยชน์:

-ในประเทศอินเดีย จะใช้ใบสดของต้นเทียนกิ่งเป็นสีย้อมผ้า ย้อมสีผม ย้อมขน คิ้ว หนวดเครา เล็บมือ ใช้เขียนลายบนฝ่าเท้า ผิวหนังได้อย่างปลอดภัย ไม่มีพิษ ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง และยังใช้ในการย้อมขนสัตว์และเส้นไหมได้อีกด้วย โดยใช้ Ferrous sulphate, Potassium dichromate, Stannous chloride หรือ Alum ซึ่งใช้วิธีย้อมด้วยการแช่ ก็จะทำให้สีย้อมนั้นติดทนนาน โดยสีที่ได้จากใบเทียนกิ่งจะเป็นสีส้มแดง ซึ่งชาวอียิปต์ได้มีการเทียนเป็นสีย้อมผมมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว (ลอโซนจะติดผมได้ไม่แน่นเท่ากับสารสกัดจากเฮนน่า ดังนั้นการย้อมสีผมโดยใช้ผงใบเทียนกิ่ง จึงประหยัดและติดทนได้ดีกว่าสารลอโซนบริสุทธิ์) หากใช้สีของเทียนกิ่งผสมสีของดอกอัญชัน ซึ่งได้จากการสกัดด้วยน้ำ เมื่อนำมาย้อมผมจะได้สีผมเป็นสีน้ำตาลเกือบเข้มหรือดำ ซึ่งเป็นสีผมที่เหมาะกับคนไทย และยังพบว่าสีผมหลังการย้อมนั้นติดทนทาน

-ผงจากใบแห้ง นำมาใช้ทำเป็นยาย้อมสีผมและบำรุงเส้นผม โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแดง หรือสีแดงปนสีส้ม และยังสามารถช่วยป้องกันเส้นผมจากแสงแดดได้อีกด้วย โดยสารที่ออกฤทธิ์คือสาร Lawsone

-ผงจากใบแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมัน (Liliac-scented oil) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม

-นิยมนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับตามวัด ปลูกเป็นไม้ประธาน ปลูกเป็นแนวรั้วบังสายตาตามสวนสาธารณะ ริมถนนทางเดิน ริมทะเล หรือตามบ้านเรือนต่าง ๆ แต่เนื่องจากผลเป็นพิษจึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่น

-ใบสด ต้มรวมกับเหง้าขมิ้นชันใช้รักษาเล็บขบ 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง