Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: พลูทองหลาง

ชื่อท้องถิ่น: -

ชื่อสามัญ: Betel Piper

ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper betle Linn.

ชื่อวงศ์: PIPERACEAE

สกุล:  Piper 

สปีชีส์:betle 

ชื่อพ้อง: -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นพลูทองหลาง เป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นทองหลาง ลำต้นเป็นปล้องและมีข้อ ขนาดลำต้นประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีร่องเล็กๆสีน้ำตาลอมแดงตามแนวยาวของลำต้น สันร่องมีสีเขียว โดยลำต้นส่วนปลายจะมีสีเขียว ส่วนลำต้นส่วนต้นจะมีสีเขียวอมเทา 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีรูปไข่หรือรูปวงกลมแกมรูปไข่ ใบกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มมากกว่าด้านล่าง ใบเป็นร่องบุ๋มด้านใบ มีเส้นใบประมาณ 5-7 เส้น โคนใบมีลักษณะกลมเบี้ยวหรือมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม มีเส้นใบนูนเด่น ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง เนื้อใบบาง เป็นมัน รสเผ็ดมากและมีกลิ่นฉุน ใบด้านล่างมักมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านบน

ดอก ออกรวมกันเป็นช่อสีขาว มีช่อดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละต้น ประกอบด้วยช่อดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้ มีใบประดับดอกขนาดเล็กรูปวงกลม ช่อดอกตัวผู้ยาวประมาณ 2-12 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 2 อัน มีขนาดสั้นมาก ส่วนช่อดอกตัวเมียมีความยาวเท่ากับช่อดอกตัวผู้ แต่มีก้านช่อดอกยาวกว่า ดอกมักบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ไม่ค่อยพบเห็นผลของพลู เพราะมีโอกาสผสมเกสรน้อย

ผล ลักษณะอัดแน่นที่เกิดจากดอกในช่อดอก ผลของพลูมีลักษณะลักษณะผลเป็นผลสด รูปกลม ออกเป็นพวง มีก้านยาว เรียงตัวค่อนข้างแน่น ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง ผลค่อนข้างนุ่ม ด้านในประกอบด้วย 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม ขนาดยาวประมาณ 2.25-2.6 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 2 มิลลเมตร

สภาพนิเวศวิทยา: -

ถิ่นกำเนิด: -

การกระจายพันธุ์: -

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยกาปักชำ

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ปากเหม็น แก้ปวดฟัน ขยี้กับสุราทาแก้ลมพิษ ใช้ลนไฟปิดหน้าอก แก้ปวดแสบปวดร้อน ลนไฟนาบท้องเด็ก แก้ปวดท้องและแก้อัณฑะยาน

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ใบ พบน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่  chavicol, chavibetol, eugenol , estragole methlyeugnol และ hydroxycatechol  สารกลุ่มโมโนเทอร์ปีนส์ เช่น 1,8-cineol, carvacrol, camphene, limonene สารกลุ่มเซสควีเทอร์ปีนส์ เช่น cadinene, caryophyllene นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ อีก เช่น β-carotene, β-sitosterol, stigmasterol  และในส่วนของต่างๆของพลูสดยังพบสาร Fluoride , tectrochrysin, adunctin A, yangonin, fargesin, pluviatilol, sesamin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา: 

-ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial activity) จากการศึกษาฤทธิ์การยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียของสารสกัดจากใบพลูที่สกัดด้วยน้ำ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans โดยพบว่าที่ความเข้มข้น 1 มก./มล. ของสารสกัดจากใบพลูมีผลทำให้เซลล์แตก นอกจากเชื้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีการศึกษาเกี่ยวกับพลูว่าเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์กว้างขวางในการยับยั้งการเจริญของเชื้อได้หลายชนิด เช่น Ralstonia sp., Xanthomonas sp. และ Erwinia sp., เป็นต้น โดยองค์ประกอบหลักที่พบในสารสกัดจากใบพลูที่สกัดด้วยน้ำคือ hydroxychavicol, fatty acid และ hydroxybenzenacetic acid และยังพบว่าสารสกัดใบพลูที่สกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ S, aureus, B. cereus, K. pneumonia และ E. coli

-ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา (Antifungal activity) มีการศึกษาพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากใบพลูมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้หลายชนิดเช่น Colletotrichum capsici, Fusarium pallidoroseum, Botryodiplodia theobromae, Altemaria altemate, Penicilium citrinum, Phomopsis caricae-papayae และ Aspergillus niger ซึ่งทดสอบโดยใช้วิธี disc diffusion method  พบว่าสารสกัดใบพลูจากเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราดังกล่าวข้างต้นได้ดีกว่า prochloraz 2.5 มก./มล. หรือ clorimazole 10 มก.มล นอกจากนั้นมีการศึกษาเพื่อพัฒนาครีมพลูเพื่อใช้ในการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสามารถติดต่อสู่กันระหว่างคนและสัตว์ โดยเตรียมครีมพลูที่ประกอบด้วย สารสกัดพลูจากเอทานอล 10 % เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketoconazole cream 20% ด้วยวิธี disc diffusion method ผลการศึกษาพบว่าให้ค่าการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา microsporum canis, microporum gypreum และ Trichophyton mentagrophyte ใกล้เคียงกับ ketosporum canis, microsporum gypreum และ trichophyton mentagrophyte ใกล้เคียงกับ ketoconazole cream เมื่อทำการอ่านผลที่ 96 ชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพของครีมพลูเริ่มลดลงภายหลังจาก 96 ชั่วโมง และหมดไปในวันที่ 7 ของการทดสอบ

-ฤทธิ์การต้านอักเสบ (Anti-inflammatory activity) การศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการอักเสบจากสารสกัดที่ได้จากพลู พบว่าสารสกัดจากใบพลูอบแห้งทีสกัดด้วยเอทานอล 95% มีสาระสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอับเสบคือ allylpyrocatechol โดยมีการศึกษาในหนู Sprague Dawley rat เพศผู้มีขนาดน้ำหนักตัว 100 – 120 ก. ผลจาการทดลองพบว่าการฉีด allypyrocatechol ขนาด 10 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังบริเวณ sub-plantar มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบที่เกิดขึ้นในหนู โดย allylpyrocaate-chol จะลดการแสดงออกของ mRNA ของ inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase-2 (COX-2), interleukin-12p40 (IL-12p40) และ tumor necrosing factoralpha (TNF-α) ซึ่ง allylpyocatachol จะป้องกันการทำลาย kappa B inhibitor (IKB) มีผลยับยั้งการทำงานของ transcription ขึ้น ส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำงานของ macrophage น้อยลง ทำให้เกิดการอักเสบลดลง

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Free radlcal scavenging activity) การศึกษาผลของสารสกัดใบพลูด้วยเอทานอลต่อการต้านอนุมูลอิสระในหนู Swiss albino mice โดยศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเกิดอนุมูลอิสระ ผลจาการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบพลูมีผลในการยับยั้งการเกิดกระบวนการ lipid peroxidation ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยรังสีแกมมา และนอกจากนี้พบว่าเมื่อทำการป้อนสารสกัดพลูในขนาด 1,5 และ 10 มก./กก. ให้หนูกินทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงนำตับของหนูมาวิเคราะห์พบว่าไม่มีการเปลี่ยนระดับของ lipid peroxidation และยังพบว่าสารสกัดจากใบพลูมีผลทำให้ปริมาณของ glutathione เพิ่มขึ้น ซึ่ง glutathione มีส่วนสำคัญในกระบวนการ detoxification โดยจะไปทำการควบคุมและรักษาระดับของปฏิกิริยา redox และ thiol homeostasis ในตับ ซึ่งมีผลในการควบคุมการเกิดปฏิกิริยา cellular oxidative และยังพบว่าสารสกัดใบพลูมีผลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซน์ superoxide dismutase (SOD) แต่ในทางตรงกันข้ามพบว่า การทำงานของเอนไซน์ catalase ลดลง นอกจากการศึกษาปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะเครียดของสัตว์ทดลองที่เกิดหลังจากการให้สารสกัดจากใบพลู โดยศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับ glyoxalase system (Gly l และ Gly ll) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะเครียดของหนู ซึ่งจากการทดลองพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ Gly l และ Gly ll) หลังจากการให้สารสกัดใบพลูกับหนู

-ฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (lmmunomodulating Activity) การศึกษาผลของสารสกัดพลูด้วยเอทานอลต่อการสร้าง histamine และ granulocyte macrophage colony stimulating factor (GM-CSF) จาก bone marrow mast cells ของหนูแรท (murine rat) และการหลั่งของ eotaxin และ IL-8 โดย human lung epithelial cell line (BEAS-2B) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดพลูด้วยเอทานอล มีผลลดการหลั่ง histamine และ GM-CSF ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นของ lgE  ที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยา hypersensitive อย่างมีนัยสำคัญ และสารสกัดพลูจากเอทานอลยังมีผลในการยับยั้งการหลั่ง eotaxin และ IL-8 ซึ่งมาจากจากการกระตุ้นของ TNF-αและ IL-4 ในปฏิกิริยา allergic reaction นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีผลต่อการกระบวนการ phagocytosis ของ macrocytes ในหนูถีบจักร และน้ำมันหอมระเหยจากพลูยังมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของ lymphocytes จากม้าม ไขกระดูก และต่อม thymus ในหนูถีบจักรด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การทดสอบความเป็นพิษ (Toxicity test) ขนาดของสารสกัดพลูที่ป้อนให้หนูถีบจักรกินแล้วตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 3.22 ก./กก. หนูที่ได้รับสารสกัดต่ำกว่า 2 ก./กก. มีอาการซึมและหลับ ไม่มีผลต่อการหายใจและกลับเป็นปกติได้ ถ้าได้รับสารสกัดมากกว่า 2.5 ก./กก. พบว่าหนูมีอาการซึมและหลับมากขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย หลังจากนั้นมีอาการซึมและตายเนื่องจากหายใจไม่ออก และนอกจากนี้ยังพบว่า chavicol และ chavibetol เป็นสารในใบพลู ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ phenol เป็นพิษกับเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ทำให้เกิด hypopigmentation ในส่วนของ basal cell layeres ของผิวหนังชั้นกำพร้า

-ทดสอบความเป็นพิษเมื่อฉายแสง (Phototoxicity) ของขี้ผึ้งพลู 4% ซึ่งทำจากสารสกัดใบพลูด้วยอีเทอร์ใน modified polyethylene glycol ointment ต่อผิวหนังหนูตะเภา ไม่พบผื่นแดง หรืออาการระคายเคืองใดๆ ทั้งก่อนฉายและหลังฉายแสงอุลตราไวโอเล็ต ขณะที่ยาเตรียมขึ้ผึ้งใบพลูที่ใช้ base เป็น hydrophilic petrolatum จะเป็นพิษต่อผิวหนังหนูตะเภา โดยมีสีแดงเด่นชัด

-ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดอะซีโตนและสารสกัดน้ำจากใบ ความเข้มข้น 200 ไมโครกรัม/เพลท ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98, TA100 ,TA1535,  TA1537 และ TA1538 สารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัด 50% เอทานอล สารสกัด 95% เอทานอล และสารสกัดน้ำจากใบ ความเข้มข้น 1.41 37.5 50 และ 153.8 มก./ เพลท ตามลำดับ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ ต่อเชื้อ S.typhimurium TA98, TA100

-พิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากช่อดอก ความเข้มข้น 800 ไมโครกรัม/มล. เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ oralmucosal fibroblasts และสารสกัดเดียวกันนี้ เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ gingival keratinocytes สารสกัด 95% เอทานอลจากใบ ความเข้มข้น 20 ไมโครกรัม/มล. เป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ 9KB

-พิษต่อยีน สารสกัดน้ำจากช่อดอก เป็นพิษต่อยีนเมื่อทดลองในเซลล์ oral mucosal fibroblasts และเซลล์ gingival keratinocytes สาร hydroxychavicol จากช่อดอกเป็นพิษต่อยีน ทำให้โครโมโซมของเซลล์ Chinese hamster ovary (CHO-K1) แบ่งตัวผิดปรกติ เมื่อให้สารสกัดน้ำจากใบพลูร่วมกับสารสกัดน้ำจากหมากและยาสูบ ขนาด 9.4 ก./กก. แก่หนูถีบจักรเป็นเวลา 10 เดือน พบว่าทำให้โครโมโซมของเซลล์ไขกระดูกของหนูเปลี่ยนแปลงและมีการแบ่งตัวผิดปกติ

-ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ สารสกัด 95% เอทานอลจากก้านใบขนาด 30 มก./กก. มีผลคุมกำเนิดในหนูขาวทั้ง 2 เพศ ให้หนูถีบจักรเพศผู้กินสารสกัด 95% เอทานอลจากใบและลำต้น ขนาด 50 มก./กก. ใน 30 วันแรก และขนาด 1000 มก./กก. ใน 30 วันหลัง พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้โดยลดการปฏิสนธิ (ferility) ได้ถึง 0% ขณะที่สารสกัด 95% เอทานอล สารสกัดน้ำ และสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบและราก (ไม่ระบุขนาดที่ใช้) ไม่มีผลต่อการคุมกำเนิดในหนูถีบจักรและไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนที่มดลูกในหนูขาวที่ได้รับสารสกัดนี้ ใบและรากแห้งไม่ระบุสารสกัดและขนาดที่ใช้ ก็ไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน เมื่อให้โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาว

-ฤทธิ์ก่อเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในชายที่เคี้ยวหมากในประเทศไต้หวัด โดยศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะเริ่มต้น (esophageal squamous-cell-carcinoma) จำนวน 126 ราย โดย 65 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติว่าเคี้ยวหมาก และ 61 ราย ในนั้นเป็นผู้ป่วยที่เคี้ยวหมากกับดอกพลู (Piper betle infloesence) และ 4 ราย เคี้ยวหมากกับดอกและใบพลู (Piper betle inflorecence and betel leaf) พบว่าผู้ชายที่เคี้ยวหมาก มีโอกาสที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้เคี้ยวหาก 4 เท่า และจากการศึกษาเพิ่มเติบพบว่า คนที่เคี้ยวหมากกับดอกพลูมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่าคนที่เคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือเคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือเคี้ยวหมากกับใบพลูอย่างเดียวถึง 24 เท่า (ไม่พบผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในคนที่เคี้ยวหมากกับใบและดอกพลู หรือเคี้ยวหมากกับใบพลูอย่างเดียว) ซึ่งผลจากการทดลองในครั้งนี้คาดว่าในดอกของพลูมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogens) และในใบพลูมีสารต้านมะเร็ง (anticarcinogenic)

การใช้ประโยชน์:

-อาการปวดฟัน รำมะนาด ช่วยให้ฟันทน ใช้ใบสด 1-2 ใบ  (ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่) เคี้ยวอมในปากแล้วคายทิ้ง ช่วยลดอาการปวดฟัน

-อาการคัน เนื่องจากลมพิษหรือแมลงกัดต่อย ใช้ใบสด 1-2 ใบ (ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่) ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็น (ห้ามใช้กับแผลเปิดเพราะจะทำให้แสบมาก) หรือใช้ใบพลูขยี้ทาบริเวณที่เป็นก็ได้

-โรคผิวหนัง กลาก ใช้ใชสด 3-4 ใบขยี้หรือตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อย คั้นเอาน้ำทา หรือใช้ทั้งน้ำและกากทาบริเวณที่คันหรือเป็นกลากทาอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง นาน 3-4 อาทิตย์ เมื่อทายาไม่ควรให้โดนลมควรใส่เสื้อปิดไว้

-เล็บขบ ปวดบวมจนเล็บถอด ใช้ใบพลูสด 1-2 ใบ ตำกับเกลือ 1-2 หยิบมือ ใส่น้ำพอชุ่มพอกแผล (ถ้าแผลปิดปากตกสะเก็ดมีหนองข้างในต้องล้างหรือขูดหนองออกก่อน)

-น้ำมันหอมระเหยจากใบ ใช้ปรับอากาศ ช่วยดับกลิ่นเหม็นคาว กลิ่นเหม็นอับ

-สารสกัดจากใบ ใช้กำจัด และป้องกันแมลงศัตรูพืช



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง