Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: เทียนดำ

ชื่อท้องถิ่น: เทียนดำหลวง, เฮยจ๋งเฉ่า (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Nigella, Black cumin, Black caraway, Fennel flower, Nutmeg flower, Love in the mist, Roman coriander, Wild onion seed

ชื่อวิทยาศาสตร์: Nigella sativa L.

ชื่อวงศ์:  RANUNCULACEAE

สกุล: Nigella 

สปีชีส์: sativa

ชื่อพ้อง: 

-Nigella cretica Mill.

-Nigella indica Roxb.

-Nigella truncata Viv.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

เทียนดำ thai-herbs.thdata.co | เทียนดำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นเทียนดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ลำต้นกลมและตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณกลางลำต้น ต้นมีขนสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุม


เทียนดำ thai-herbs.thdata.co | เทียนดำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ขอบใบหยักลึก ใบบนใหญ่กว่าใบล่าง มีก้านใบสั้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปสามแฉก ลักษณะเป็นเส้น ปลายแหลม มีขนขึ้นปกคลุมช่วงล่าง ใบย่อยกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร


เทียนดำ thai-herbs.thdata.co | เทียนดำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเดี่ยว ออกดอกบริเวณมซอกใบหรือปลายยอด มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่ากลีบดอกมาก ดอกอาจเป็นสีขาวหรือสีฟ้าอ่อนอมม่วง กลีบดอกมีหลายกลีบ ขนาดเล็ก เป็นสีเหลืองอมเขียว ที่ปลายกลีบมีเส้นคาดเป็นสีม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองจำนวนมาก ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร


เทียนดำ thai-herbs.thdata.co | เทียนดำ สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ผล (เทียนดำ) ผลแก่จะแตกออก มีลักษณะคล้ายกับผลฝิ่น มีความยาวประมาณ 8-15 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมถึงห้าเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 1.4-1.8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีดำสนิทผิวหยาบหรือขรุขระ ไม่มีขน มีกลิ่นเล็กน้อย ส่วนเนื้อในเมล็ดเป็นสีขาว เมล็ดค่อนข้างแข็ง หากใช้มือถูที่เมล็ดหรือนำไปบดจะได้กลิ่นหอมฉุน มีรสชาติขม เผ็ด ร้อน คล้ายกับเครื่องเทศ

สภาพนิเวศวิทยา: พบที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,300 เมตร

ถิ่นกำเนิด: โรมาเนียไปถึงอิหร่านตะวันตก-ตะวันตกเฉียงใต้

การกระจายพันธุ์: บัลแกเรีย, ไซปรัส, อิหร่าน, อิรัก, คอเคซัสเหนือ, โรมาเนีย, ทรานคอเคซัส, ตุรกี, อัฟกานิสถาน, แอลจีเรีย, อัสสัม, บังกลาเทศ, มาตุภูมิยุโรปกลาง, เชโกสโลวะเกีย, ทะเลอีเจียนตะวันออก, อียิปต์, เอธิโอเปีย, ฝรั่งเศส, กรีซ, อินเดีย, อิตาลี, คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, คริม, ลิเบีย, โมร็อกโก, เมียนมาร์, โซมาเลีย, ซูดาน,ทาจิกิสถาน, ตูนิเซีย , ตุรกีในยุโรป, ยูเครน, อุซเบกิสถาน, ยูโกสลาเวีย

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*เมล็ด  รสเผ็ดขม สรรพคุณ ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร ขับลมในลำไส้ แก้อาเจียน บำรุงโลหิต

*ใบและต้น รสจืดเฝื่อน สรรพคุณ แก้หนอนใน(กามโรค)

*เปลือกต้น รสจืดเฝื่อน สรรพคุณ ขับระดูขาว

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดตรีสัตกุลา” (รัตตกุลา) ได้แก่ เทียนดำ ลูกผักชีลา เหง้าขิงสด สรรพคุณ บำรุงไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ 10 ประการ แก้อาเจียน

2.“พิกัดเบญจเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน สรรพคุณ แก้ลม เสมหะ และดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว  แก้มุตกิด  บำรุงธาตุ  บำรุงกำลัง

3.“พิกัดสัตตะเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี สรรพคุณ แก้ลม เสมหะและดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อง แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

4.“พิกัดเนาวเทียน” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณ แก้ลม เสมหะแบะดีระคนกัน แก้พิษโลหิต แก้ทางปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลมในท้อ  แก้พรรดึก แก้ลมครรภ์รักษา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เทียนดำในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด 

2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ “ยามันทธาตุ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ “ยามหาจักรใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมซาง บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ  “ยาธรณีสันฑะฆาต” มีส่วนประกอบของดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บาบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น  “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น “ยาริดสีดวงมหากาฬ” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการริดสีดวงทวารหนัก

3.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการระดูมาไม่สม่าเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ อาการปวดประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

4.ยาแก้ไข้  ปรากฏตำรับ “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ 

5.ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ  ปรากฏตำรับ “ยาปราบชมพูทวีป” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรก และอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ  

6. ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต 

7.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยาสหัศธารา” มีส่วนประกอบเทียนดำร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

องค์ประกอบทางเคมี: 

-น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) เช่น linoleic acid, oleic acid, palmitic acid ประมาณ 30%

-น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณ 0.5-1.5% โดยมีองค์ประกอบหลักของน้ำมันระเหยง่ายเป็นอนุพันธ์ของควิโนน คือ thymoquinone คิดเป็น 54% ของน้ำมันระเหยง่ายที่พบทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบ p-cymene, dithymoquinone, thymohydroquinone, thymol, trans-anethole,  limonene, carvone, carvacrol, 4-terpineol

-สารอัลคาลอยด์ เช่น nigellidine, nigellimine, nigellicine   

-สารซาโปนิน  เช่น  alpha-hederin

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ระบบทางเดินหายใจ น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. เพิ่มแรงดันภายในหลอดลม (Gali-Muhtasib, et al., 2006) สาร nigellone ป้องกันภาวะหลอดลมตีบที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารฮีสตามีนในหนู ลดการหดเกร็งของหลอดลม (Duke, et al., 2002)

-ระบบหัวใจ และหลอดเลือด น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 4-32 ไมโครลิตร/กก. หรือสาร thymoquinone ในขนาด 0.2-1.6 มก/กก. ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต สารสกัดไดคลอโรมีเทนเมื่อให้หนูที่เป็นความดันกินในขนาด 0.6 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นเวลา 15 วัน เมื่อวัดความดันโลหิตเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน nifedipine พบว่าสารสกัดลดความดันได้ 22% ในขณะที่ nifedipine ลดความดันได้ 18%  และยังทำให้การขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น และเพิ่มการขับ โซเดียม คลอไรด์ โปแตสเซียมอิออน และยูเรียทางปัสสาวะ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากเมล็ด ยับยั้ง fibrinolytic activity ทำให้ระยะเวลาที่เลือดไหลลดลงในกระต่าย (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ของเทียนดำต่อกระเพาะอาหาร เมื่อให้น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ แก่หนูขาวเพศผู้ พบว่าจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งของสารเมือก, glutathione และลดปริมาณ histamine ที่บริเวณเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร และจากการทดลองในหนูที่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำก่อนที่จะถูกชักนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอลพบว่า น้ำมันจากเมล็ดเทียนดำสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 53.56% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับน้ำมันจากเมล็ดเทียนดำ โดยคาดว่าเกิดจากการเพิ่มระดับ glutathione ซึ่งเป็น cofactor ในการสังเคราะห์ให้ได้ PGE2 ซึ่งเป็นพรอสตาแกลนดินชนิดปกป้องกระเพาะอาหารจากกรด (El-Dakhakhny, et al, 2000)

-ฤทธิ์ต้านจุลชีพ สารสกัดไดเอทิลอีเทอร์จากเมล็ดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก Staphylococcus aureus, เชื้อแบคทีเรียกรัมลบ Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli, เชื้อยีสต์ Candida albican นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเมล็ดยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ: การทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำในการยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ หรือทางเดินอาหารอักเสบ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผล และการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ การทดสอบนี้ใช้เชื้อแบคทีเรีย Vibrio 28 สายพันธุ์ ทดสอบด้วยวิธี agar disc diffusionและหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ด้วยวิธี agar dilution พบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำ สามารถยับยั้งเชื้อ V. parahaemolyticus ได้ทุกสายพันธุ์ และออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งสายพันธุ์ Dahv2 โดยมีขนาดของโซนใสในการยับยั้งเท่ากับ 23.9 มิลลิเมตร ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml มีค่า MIC เท่ากับ 100 μg/ml  ผลการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มซึ่งเป็นโครงสร้างยึดเกาะกับพื้นผิว สร้างโดยกลุ่มของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่รวมกัน ประกอบด้วยสารต่างๆ หลายชนิด ทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายใน รวมทั้งสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ภายในไบโอฟิล์ม ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันระเหยง่ายจากเมล็ดเทียนดำสามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ที่ความเข้มข้น 101.2 μg/ml  การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธี beta-carotene bleaching พบว่าที่ความเข้มข้น 70 μg/ml  สามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน linoleic acid ได้เท่ากับ 64.47±2.00% (Manju, et al., 2016)

-ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ ทดสอบในเด็กที่เป็นพยาธิ เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากเมล็ด โดยการรับประทานในขนาด 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถลดจำนวนไข่พยาธิในอุจจาระ  การให้น้ำมันจากเมล็ดแก่หนูที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ Schistosoma mansoni เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดจำนวนพยาธิที่ตับ และลดจำนวนไข่พยาธิในตับ และลำไส้ได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ต้านไวรัส การให้น้ำมันจากเมล็ด โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อเฮอร์ปีส์ ที่ตับ และม้าม ได้ในวันที่ 3 ของการติดเชื้อ โดยในวันที่ 10 ไม่พบเชื้อ และสามารถเพิ่มระดับ interferon gamma เพิ่มจำนวน CD4 helper T cell  ลดจำนวน macrophage ได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร thymoquinone และน้ำมันจากเมล็ด ยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น thromboxane B2, leucotrein B4, cyclooxygenase, lipoxygenase เป็นต้น, สาร nigellone ยับยั้งการปลดปล่อยฮีสตามีน จากช่องท้องหนู (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ต้านมะเร็ง สาร thymoquinone และ dithymoquinone มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับอ่อน มดลูก เต้านม รังไข่ และลำไส้ได้ในหลอดทดลอง สารสกัดเอทิลอะซีเตต ยับยั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนูได้  สารซาโปนิน alpha-hederin ยับยั้งการเกิดเนื้องอกในหนูได้ 60-70% (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน: สาร  thymoquinone  มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยา lipid peroxidation สาร trans-anethole, carvacrol, 4-terpineol ออกฤทธิ์ดีในการจับ superoxide anion

-ฤทธิ์ปกป้องตับ และไต: สาร thymoquinone ป้องกันตับจากสารพิษคาร์บอนเตตราคลอไรด์  และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation  และป้องกันไตจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) โดยการจับกับ superoxide และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพ และการทำงานของไต การศึกษาผลของสารสกัดเทียนดำต่อพยาธิสรีรวิทยาของไต ในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยสารสเตรปโตโซโทซิน  ทำการทดลองในหนู 4 กลุ่ม คือ หนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้สารสกัดเทียนดำ (CON), หนูกลุ่มควบคุมที่ให้สารสกัดเทียนดำ (CON-BC), หนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ) และหนูกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานที่ให้สารสกัดเทียนดำ (STZ-BC) ทำการป้อนสารสกัดเทียนดำแก่หนูกลุ่ม CON-BC และ STZ-BC ทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เพื่อศึกษาผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด  ระบบไหลเวียนเลือดภายในไต การทำงานของโกลเมอรูลัส และหลอดไตฝอย ศึกษาพยาธิสภาพของโกลเมอรูลัส โดยการย้อม periodic acid-schiff เพื่อดูการสะสมของสารพวก collagen ใน mesangium และดูการหนาตัวของผนังหลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัส ผลการทดลองพบว่าหนูที่เป็นเบาหวานเมื่อได้รับสารสกัดเทียนดำ มีแนวโน้มในการลดระดับกลูโคสในเลือด มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ของค่าความดันโลหิต systolic pressure และอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการกรองของไต อัตราการไหลของเลือด และพลาสมาเข้าสู่ไต มีการลดลงของค่า filtration fraction และความต้านทานของหลอดเลือดภายในไต หลอดไตฝอยมีการขับทิ้งของน้ำ และแมกนีเซียมไอออนลดลง ผลด้านพยาธิสภาพของไตพบว่าจำนวนโกลเมอรูลัสที่ผิดปกติลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับค่าดัชนีชี้วัดการเกิดพยาธิสภาพของไตซึ่งมีแนวโน้มลดลง  และประสิทธิภาพการทำงานของไตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปว่าสารสกัดเทียนดำสามารถลดการเกิดพยาธิสภาพของไต และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไต และระบบไหลเวียนเลือดภายในไต ของหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดยใช้สเตรปโตโซโทซิน (มาเรียม และศุภางค์, 2553)

-ฤทธิ์ยับยั้งอาการปวด สารสกัดน้ำจากเมล็ด ลดปวดในหนูที่ทดสอบด้วยวิธี hot plate แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด การทดสอบสารสกัดส่วนที่ละลายในเมทานอลของเมล็ดเทียนดำ ซึ่งเตรียมด้วยวิธีบีบเมล็ดเทียนดำ และแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเมทานอล 3 ชนิด ได้แก่ 2-(2-methoxypropyl)-5-methyl-1,4-benzenediol, thymolและ carvacrol นำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ในหลอดทดลอง โดยใช้เลือดกระต่าย การเหนี่ยวนำการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วย arachidonic acid  ผลการทดสอบของสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด และอนุพันธ์ชนิด acetate ของสารทั้งสาม แสดงฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.7, 7.0, 11.7, 62.1, 2.6 และ 6.8 M ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งได้มากกว่ายามาตรฐานแอสไพริน (IC50 เท่ากับ 343.6 M) (Enomoto, et al, 2001)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-สาร thymoquinone และ thymohydroquinone เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนู พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 10 และ 25 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตามลำดับ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-สาร thymoquinone ทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดผื่นแพ้สัมผัสที่ผิวหนังได้ (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-ปริมาณน้ำมันระเหยยากที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 28.8 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เมื่อป้อนทางปาก และมีค่าเท่ากับ 2.06 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

-สารสกัดเมล็ดด้วย 50% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร มีขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้เท่ากับ 250 มก./กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 70% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่ามีขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 0.561 ก/กก. สารสกัดเมล็ดด้วย 95% เอทานอล ไม่มีพิษเมื่อผสมลงในอาหารหนูขาว 0.5%  การทดลองให้กระต่ายกินเมล็ดขนาด 2-8 ก/กก ไม่พบพิษ (นันทวัน และอรนุช, 2541)

-น้ำมันจากเมล็ดเมื่อให้หนูกินในขนาด 1 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่เป็นพิษ โดยพบว่าทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ในตับ และเนื้อเยื่อตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนไม่เปลี่ยนแปลง  ค่าระดับคลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์  ระดับกลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง (Gali-Muhtasib, et al., 2006) (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)

-ถึงแม้จะพบว่าการบริโภคเมล็ดเทียนดำปลอดภัยในรายงานหลายฉบับ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (Gali-Muhtasib, et al., 2006)

-การศึกษาความเป็นพิษและความปลอดภัยของน้ำมันเทียนดำ และสารสกัด ในหนูขวสายพันธุ์ Sprague Dawley ที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานโดยใช้ streptozotocin ทำการทดลองในหนูเพศผู้ อายุ 6-7 สัปดาห์ จำนวน 30 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองได้รับสารสกัดเทียนดำส่วนที่เป็น lipid fraction 4%และกลุ่มที่สามได้รับสารสกัดเทียนดำจากส่วน volatile fraction 0.3% เมื่อผ่านไป 56  วัน ของการศึกษา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเทียนดำทั้งสองกลุ่ม ไม่มีการเกิดพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมและลดอาการต่างๆที่เกิดจากภาวะเบาหวานให้บรรเทาลง ได้แก่ ภาวะไตเป็นพิษ ความไม่สมดุลของค่าทางชีวเคมีต่างๆในเลือด โดยเฉพาะสารสกัดเทียนดำจากส่วนvolatile fractionออกฤทธิ์อย่างมีนัยสำคัญ ได้ดีกว่าส่วนที่เป็น lipid fraction จากการศึกษานี้จึงสรุปว่าสารสกัดจากเทียนดำไม่ก่อให้เกิดพิษในหนูที่เป็นเบาหวานจึงมีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นอาหารเสริมประจำวันแก่คนที่เป็นเบาหวาน (Sultan, et al., 2014)  

-การศึกษาพิษเฉียบพลันของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำในหนูถีบจักร โดยป้อนน้ำมันเทียนดำเข้าทางปากและฉีดเข้าทางหน้าท้อง ผลการศึกษาพบว่า ค่า LD50 เมื่อให้ทางปาก และฉีดเข้าหน้าท้อง เท่ากับ  28.8และ 2.06 mL/kg ตามลำดับ การศึกษาพิษเรื้อรังในหนูขาวโดยการป้อนน้ำมันเทียนดำขนาด 2 mL/kg เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ aspartate-aminotransferase, alanine-aminotransferase และ gamma-glutamyl transferase และเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ไต และตับอ่อน ไม่เปลี่ยนแปลง ระดับ serum cholesterol, triglyceride กลูโคส จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด leukocyte และเกล็ดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ระดับฮีมาโตคริต และฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสรุปน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ มีพิษในระดับต่ำ ค่า LD50 สูง ค่าเอนไซม์ตับยังคงเดิม แต่ต้องพิจารณาจำนวน เม็ดเลือดขาว leukocyte และเกล็ดเลือด  การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันระเหยยากจากเมล็ดเทียนดำ ด้วยวิธี TLC พบองค์ประกอบได้แก่ myristic, palmitic, stearic, oleic, linoleic, linolenic, arachidic acids, triterpenes และsaponosides (Zaoui, et al, 2002)

การใช้ประโยชน์:

-พบมีประวัติการใช้เมล็ดเทียนดำตั้งแต่สมัยโรมัน และยังปรากฏอยู่ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย โดยนำมาใช้ทำเป็นยาและนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร 

-ชาวมุสลิม จะนิยมใช้น้ำมันจากเมล็ดทั้งในพิธีกรรมทางศาสนา ใช้เป็นยา ทำอาหาร โดยนิยมใช้ผสมในขนมปังและน้ำผึ้ง น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้

-ยุโรป จะใช้ผสมกับพริกไทยหรือใช้แทนพริกไทยดำ 

-เอธิโอเปีย จะใช้ผสมลงในซอสพริก และในแถบอาหรับนำมาบดผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ผสมทำลูกกวาด

-เมล็ด ใช้เป็นเครื่องเทศในอาหารอินเดียและอาหารตะวันออกกลาง มีรสชาติคล้ายหอมใหญ่ พริกไทยดำและออริกาโน เมล็ดแห้งใช้ปรุงรสแกง ใช้แต่งกลิ่นขนมปัง ใช้เป็นเครื่องเทศในอาหารเบงกอลรวมทั้งนาน

-เมล็ด มีกลิ่นหอม ฉุน เผ็ด ร้อน คล้ายกับเครื่องเทศ ซึ่งบางครั้งมีการนำมาใช้แทนพริกไทย โดยใช้โปรยเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร ทำให้รู้สึกร้อนที่เพดานปาก และในแถบตะวันออกกลาง จะใช้เมล็ดเทียนดำผสมกับเมล็ดงา ให้กลิ่นเฉพาะตัว จึงใช้ปรุงกลิ่นและรสของขนมปังและขนมเค้ก รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากมีรสชาติขม ส่วน

-รักษาสิวสิว เมล็ดนำมาให้บดละเอียด น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ และข้าวสาลีบดละเอียด นำมาผสมกันใช้ทาให้ทั่วใบหน้าก่อนเข้านอน แล้วล้างออกด้วยสบู่และน้ำอุ่นในตอนเช้า โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์

-ทำให้ใบหน้าเต่งตึงและสวยงามขึ้น โดยใช้เมล็ดเทียนดำบดละเอียดผสมกับน้ำมันมะกอก ใช้ทาบริเวณใบหน้าตามต้องการ และควรระวังอย่าให้ถูกแดดทุกวัน






ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง