Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: ระย่อม

ชื่อท้องถิ่น: ละย่อม (สุราษฎร์ธานี)/ ปลายข้าวสาร (กระบี่)/ เข็มแดง ย่อมตีนหมา (ภาคเหนือ)/ กะย่อม ระย่อมน้อย (ภาคใต้)/ กอเหม่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)/คลาน ตูมคลาน มะโอ่งที สะมออู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี)/ เสอเกินมุ อิ้นตู้หลัวฟูมุ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญ: Rauwolfia , Serpent wood, Indian Snake Root

ชื่อวิทยาศาสตร์: Rauvolfia serpentina (L.) Benth. ex Kurz

ชื่อวงศ์:  APOCYNACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย RAUVOLFIOIDEAE

สกุล:  Rauvolfia

สปีชีส์: serpentina

ชื่อพ้อง: 

-Ophioxylon album Gaertn.

-Ophioxylon obversum Miq.

-Ophioxylon salutiferum Salisb.

-Ophioxylon serpentinum L.

-Ophioxylon trifoliatum Gaertn.

-Rauvolfia obversa (Miq.) Baill.

-Rauvolfia trifoliata (Gaertn.) Baill.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ต้นระย่อม จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง แล้วจะผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝน ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกลำต้นเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอมเทา มียางสีขาว รากใต้ดินแตกสาขามาก มีรอยแผลใบอยู่ตามลำต้น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันหนาแน่นที่ปลายยอด หรือออกเรียงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ใบเรียงคู่จะมีน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกเข็ม โดยจะออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 1-50 ดอก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดง พอดอกโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นสีแดง ออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาว

ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือรูปทรงรี บางครั้งติดกันเป็นผลแฝดตรงโคนด้านใน ผิวผลเรียบเป็นมันและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

สภาพนิเวศวิทยา: พบขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร

ถิ่นกำเนิด: อินเดียไปจนถึงตอนใต้ของจีนกลาง และมาเลเซียตะวันตก

การกระจายพันธุ์: เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีนตอนใต้-กลาง, จีนตะวันออกเฉียงใต้,ไหหลำ, หิมาลายาตะวันออก, อินเดีย, จาวา, เกาะแลกคาดีฟ, ลาว, ซุนดา, มาลายา, พม่า, เนปาล, ศรีลังกา, ไทย, เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ราก รสขมเมานิดหน่อย สรรพคุณ แก้ปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูง แก้คลุ้มคลั่ง เนื่องจากดีและโลหิต ช่วยย่อยอาหารและระงับประสาท ถ้ากินจะมีอาการข้างเคียง คือ หน้าแดง ตัวแดง แน่นจมูก และง่วงนอน (ก่อนใช้ต้องคั่วให้เหลืองเสียก่อน อาการแทรกซ้อนจะน้อยลง

องค์ประกอบทางเคมี: 

-สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารในกลุ่ม indole alkaloids ชนิดที่สำคัญ คือ reserpine, ajmaline, ajmalinimine, raurolfia alkaloid G, rescinnamidine, sarpagine, serpentine, serpentinine, sitosterol, stigmasterol, vinorine, yohimbine เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต สงบระงับประสาท กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกและลำไส้เล็กบีบตัว ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้เล็ก ปิดกั้น adrenergic receptor , dopamine receptor และ GABA receptor ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ มีฤทธิ์ต่อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดคลายตัว เป็นพิษต่อเซลล์ ต้าน adrenaline, acetylcholine, histamine, ต้านไวรัส, เชื้อรา, ยับยั้งพยาธิไส้เดือน แก้คลื่นไส้อาเจียน ยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของพืช มีผลต่อต่อมไทรอยด์และต่อมใต้สมอง มีผลต่อการทำงานของไต กระตุ้นกล้ามเนื้อลาย ทำให้เกิดการชักง่ายขึ้น เพิ่มน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เหมือน estrogen เพิ่มคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในเลือด เร่งการสลายโปรตีนในการสลายตัวเองของเซลล์และเนื้อเยื่อ

-จากการทดลองพบว่าสาร Reserpine มีฤทธิ์ความดันโลหิตในแมวหรือสุนัขทดลอง โดยพบว่าสารดังกล่าวนั้นสามารถลดความดันโลหิตได้เป็นเวลานานตามที่พอใจ

-เมื่อนำสารที่สกัดได้จากรากมาทดลองกับหนูขาว พบว่าทำให้หนูขาวมีการเคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้หนูขาวมีอาการสงบขึ้น มีระยะเวลาในการหลับยาวนานขึ้น

-สารรวมที่สกัดได้จากระย่อม เมื่อนำมาทดลองในคนและสัตว์ที่มีความดันโลหิตสูง พบว่ามีประสิทธิภาพทำให้ความดันและการเต้นของหัวใจลดลง จากการทดลองจึงเห็นว่าสารกลุ่มนี้มีความหมายต่อผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง

-รากระย่อมมีสาร Rauhinbine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงความกำหนัด

-เมื่อปี ค.ศ.1958 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมในคนธรรมดาและคนไข้เบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของคนได้

-เมื่อปี ค.ศ.1960 ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการทดลองใช้สารสกัดจากรากระย่อมทดลองในแมว ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของแมวได้

การศึกษาทางพิษวิทยา: -

การใช้ประโยชน์:

-ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงเลียง แกงส้ม

-ในอินเดียจะบดรากเตรียมเป็นยาเม็ดลดความดันโลหิต

-ในยุโรปและอเมริกาจะเตรียมสารสกัดระย่อมทำเป็นยาฉีดลดความดันโลหิตและกล่อมประสาท



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง