Select your language TH EN
เภสัชวัตถุ พืชวัตถุ  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



ชื่อไทย: บุนนาค (บุนนาคบ้าน, บุนนาคป่า)

ชื่อท้องถิ่น: สารภีดอย (เชียงใหม่)/ ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน)/ ปะนาคอ ประนาคอ (ปัตตานี)/ นาคบุตร นากบุต รากบุค (ภาคใต้)

ชื่อสามัญ: Iron wood, Indian rose chestnut

ชื่อวิทยาศาสตร์: Mesua ferrea L.

ชื่อวงศ์: CALOPHYLLACEAE

สกุล:  Mesua 

สปีชีส์: ferrea

ชื่อพ้อง: 

-Calophyllum nagassarium Burm.f.

-Mesua nagana Gardner

-Mesua nagassarium (Burm.f.) Kosterm.

-Mesua pedunculata Wight

-Mesua roxburghii Wight

-Mesua salicina Planch. & Triana

-Mesua sclerophylla Thwaites

-Mesua speciosa Choisy

-Mesua walkeriana Planch. & Triana

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ต้นบุนนาค เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ำ ๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้น ๆ หลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ำเป็นมันเลื่อม 


บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีเทา มีเส้นใบข้างมากแต่ไม่เห็นชัด ใบห้อยลงเป็นพู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ออกพร้อมกันทั้งต้นช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี


บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มกลีบจะแผ่กว้างออก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกราว 5-10 เซนติเมตร ดอกบุนนาคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกจะห้อยลง ก้านดอกยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน เกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีสีขาว ก้านยาว มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายรูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม และกลีบเลี้ยงจะแข็งหนาและอยู่คงทน เมื่อเป็นผลก็ยังคงติดกับผลอยู่ และดอกมีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นไปได้ไกล และดอกบุนนาคจะออกดอกในช่วงระหว่างฤดูร้อนถึงฤดูฝน

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลแข็งมาก ส่วนปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก เปลือกผลมีรอยด่างสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลมีสีส้มแก่หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยห่อหุ้มอยู่ และมีหยดยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับอยู่ 4 กลีบติดอยู่ และจะขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล ภายในผลมีเมล็ด 1-4 เมล็ด ส่วนเมล็ดบุนนาคมีลักษณะของเมล็ดแบนและแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม

สภาพนิเวศวิทยา: พบได้มากในป่าดิบชื้น

ถิ่นกำเนิด: อินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงค์โปร์

การกระจายพันธุ์: หมู่เกาะอันดามัน, อัสสัม, บังกลาเทศ, บอร์เนียว, กัมพูชา, หิมาลัยตะวันออก, อินเดีย, จาวา, ลาว, ซุนดา, มาลายา, เมียนมาร์, นิโคบาร์อิส, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, ไทย, เวียดนาม

การปลูกและการขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณ:

-ตำรายาไทย

*ใบ รสฝาด สรรพคุณ แก้บาดแผลสด สมานแผล

*เปลือกต้น รสฝาดร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ กระจายหนอง

*กระพี้ รสขื่น สรรพคุณ แก้เสมหะในลำคอ

*แก่น รสขื่น สรรพคุณ แก้เลือดออกตามไรฟัน

*ราก รสร้อน สรรพคุณ ขับลมในลำไส้

*ดอก รสหอมเย็น สรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงผิวกายให้สดชื่น แก้ร้อนกระสับกระส่าย ชูกำลัง แก้ลมกองละเอียด หน้ามืดวิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย ใจหวิว

-พิกัดยา ประกอบด้วย

1.“พิกัดทเวคันธา” (ทเวสุคนธ์) ได้แก่ รากบุนนาค ขับลมในลำไส้ รากมะซาง แก้โลหิต แก้กำเดา

2.“พิกัดทเวติคันธา” ได้แก่ ดอกบุนนาค บำรุงโลหิตแก้กลิ่นเหม็นสาบสางในร่างกาย แก่นบุนนาค แก้รัตตะปิตตะโรค รากบุนนาค ขับลมในลำไส้ ดอกมะซาง ทำใจให้ชุ่มชื่นชูกำลัง แก่นมะซาง แก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้ไข้สัมประชวร รากมะซาง แก้โลหิต แก้กำเดา

3.“พิกัดเกสรทั้ง 5” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลังบำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน แก้น้ำดี ให้เจริญอาหารและแก้โรคตา

4.“พิกัดเกสรทั้ง 7” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ไข้จับ แก้ลมวิงเวียน ให้เจริญอาหารแก้โรคตา  แก้ไข้เพื่อเสมหะและโลหิต แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ แก้น้ำดี

5.“พิกัดเกสรทั้ง 9” ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา ดอกกระดังงา ดอกลำเจียก ดอกลำดวน สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อลม แก้ไข้เพื่อปถวีธาตุ ให้เจริญอาหาร แก้โรคตา

-บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้บุนนาค ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่

1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมทิพโอสถ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน “ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) “ยาหอมแก้ลมวิงเวียน” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ “ยาหอมอินทจักร์” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด

2.ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาสตรีหลังคลอด” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ขับน้ำคาวปลา บำรุงเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วในหญิงหลังคลอด

3.ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาเขียวหอม” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส) “ยาประสะจันทน์แดง” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ “ยาประสะเปราะใหญ่” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ถอนพิษไข้ตานซางสาหรับเด็ก

4.ยาบำรุงโลหิต ปรากฏตำรับ “ยาบำรุงโลหิต” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บำรุงโลหิต

5.ยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ปรากฏตำรับ “ยากษัยเส้น” มีส่วนประกอบของบุนนาคร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย

องค์ประกอบทางเคมี: 

-ต้น พบ oleoresin ดอกพบ น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม คือ mesuol และ mesuone ผลพบแทนนิน เมล็ดพบ mesuol และ mesuone มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

-ฤทธิ์ต้านการอักเสบข้อ สารสกัดจากเมล็ดบุนนาค ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ทดสอบด้วยวิธี Complete Freund’s Adjuvant (CFA)-induced arthritis โดยใช้ CFA ซึ่งเป็นเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (strain H37Ra, ATCC-25177) ที่แห้ง และตายด้วยความร้อน ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบในหนู สังเกตผลในวันที่ 21 หลังให้สารทดสอบ ในขนาด 300 mg/kg  พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเอทานอลของเมล็ดบุนนาค สามารถยับยั้ง CFA โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 60.42, 58.65  และ 54.89% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Diclofenac sodium ขนาด 50 mg ยับยั้งได้เท่ากับ 62.68% (Jalalpure, et al., 2010)

-ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน และฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดสอบในหนู โดยสกัดสารฟลาโวนอยด์ จากน้ำมันในเมล็ดบุนนาคชื่อ mesuol แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าเมื่อให้ mesuol ร่วมกับ cyclophosphamide ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ใช้ในการรักษาเนื้องอกและมะเร็ง พบว่าการให้ยา cyclophosphamide  ทำให้เกิดอนุมูลอิสระโดยเฉพาะอนุมูล superoxide ซึ่งอนุมูลเหล่านี้มีผลกดระบบภูมิคุ้มกันในหนู ผลการทดสอบพบว่า mesuol สามารถป้องกันการเหนี่ยวนำของ cyclophosphamide ในระบบมิคุ้มกัน และป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันได้ (oxidative stress) ได้ในวันที่ 9 และ 16 โดย mesuol ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ GSH, CAT เพิ่มขึ้นได้ และมีผลต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยวิธีทางเคมีในการจับอนุมูลอิสระ  DPPH (56.67 mmol/100 g), ABTS (35.22 mmol/100 g) และวิธี FRAP (เป็นการวัดความสามารถรวมในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็ก Fe3+)(8.99 μmol/g) ดังนั้น mesuol จึงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Chahar, et al., 2012)

-ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ปกป้องตับ สารสกัดเมทานอลจากดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 และ 200 mg/kg ในหนูเม้าส์เพศเมียสายพันธุ์วิสตาร์ โดยให้หนูดื่มน้ำที่ผสมเชื้อแบคทีเรีย  Staphylococcus aureus  เป็นเวลา 1 วัน  หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ติดตามผลค่าต่างๆ ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ตรวจการทำงานของไต โดยตรวจวัดระดับ creatinine phosphorkinase (CPK), alkaline phosphatase (ALKP), creatinine, urea ตรวจวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ super oxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidise (GPX) และ glutathione reductase (GR) ผลการทดสอบพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ SOD และ AST พบการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ CAT,GPX, GR และ AST และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการทำงานของ CPK และ Creatinine ดังนั้นสรุปได้ว่ามีการเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้บางชนิด ส่วนการทำงานของตับและไต ยังมีผลทั้งในทางที่ดีขึ้นและลดลงได้ นอกจากนี้การทดสอบสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 μg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของ nitric oxide ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดการอักเสบได้ 96.03% (Chahar, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านการชัก การป้อนสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg แก่หนูเมาส์ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยวิธี Maximum electroshock seizure (MES) ผลการทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกบุนนาคสามารถยับยั้งการชักได้ และลดระยะเวลาที่เกิดการชักได้อย่างมีนัยสำคัญดังนี้  สารสกัดความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg ยับยั้งได้ 100% (p < 0.01), 60% (p < 0.01) และ 100% (p < 0.001) ตามลำดับ (Chahar, et al., 2013)

-ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเมทานอลของดอกบุนนาคในหนูเมาส์ติดเชื้อ S. typhimurium ATCC 6539.2 พบว่าสารสกัดขนาด 4 mg/mouse สามารถลดอัตราการตาย และลดเชื้อแบคทีเรียในเลือด ตับ และม้าม ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบในหลอดทดลองเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียพบว่าสารสกัดความเข้มข้น 50 μg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ 30 สายพันธุ์, Bacilllus spp., Salmonella spp., Pseudomonas spp., Streptococcus pneumonia, Sarcina lutea, Proteus mirabilis และ Lactobacillus arabinosus สารสกัดความเข้มข้น 100 และ 200 μg/ml สามารถยับยั้ง Staphylococcus ได้ 1 และ 2 สายพันธุ์ ตามลำดับ แต่มีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อสารสกัดจำนวน  8 สายพันธุ์  และมีผลน้อยในการยับยั้ง Klebsiella, Vibrio cholera,  Escherichia coli  และ Shigella spp.

การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจากสารสกัดไดคลอโรมีเทนและเมทานอล (1:1 v/v) ของดอกบุนนาค ความเข้มข้น 500 และ 1000 μg/ml ทำการทดลองด้วยวิธี agar dilution-streak พบว่าสามารถต้านเชื้อได้แก่ B. cereus varmycoides, B. pumilus, B. subtilis, Bordetella bronchiseptica, Micrococcus luteus, Sta. aureus, Sta. epidermidis, E. coli, K. pneumoniae, P. aeruginosa, Str. faecalis, Candida albicans, Aspergillus niger และ Saccharomyces cerevisiae (Chahar, et al., 2013)

การศึกษาทางพิษวิทยา:

-การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเพศเมียสายพันธุ์ Swiss albino โดยให้สารสกัดใบบุนนาคที่สกัดด้วย methanol ขนาด 50 mg/kg, 500 mg/kg และ 2000 mg/kg ป้อนให้หนูเพียงครั้งเดียว บันทึกผลภายใน 24 ชั่วโมง และสังเกตผลต่ออีก 14 วัน โดยบันทึกค่าน้ำหนัก, พฤติกรรม, ค่าชีวเคมีในเลือด การกินน้ำและอาหาร อัตราการตาย ผลการทดลองพบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบการเกิดพิษ (Udayabhanu, et al., 2014)

การใช้ประโยชน์:

-ยอดอ่อน สามารถนำมาใช้เป็นผักสด แกล้มกับน้ำพริก หรือจะนำมายำหรือแกงก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าหากไม่อยากรับประทานแบบดิบก็สามารถนำไปลวกก่อนนำมารับประทานก็ได้ ก็จะได้รสชาติที่แปลกและอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง

-กิ่งบุนนาค สามารถนำมาทำฐานรองพานดอกไม้ไหว้พระ ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวไทใหญ่

-เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้อแข็ง แก่นมีสีแดงเข้ม แข็งแรงทนทาน ขัดเงาได้ดี เหมาะสำหรับใช้ทำหมอนรถไฟ สิ่งก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสาสะพาน ต่อเรือน ต่อเกวียน ไม้เท้า ด้ามร่ม ทำสายพานท้ายปืน ฯลฯ

-เปลือกลำต้น นำมาบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูปได้

บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย บุนนาค thai-herbs.thdata.co | บุนนาค สรรพคุณ สมุนไพร ไทย

-ดอก สามารถนำมาใช้กลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ในการอบเครื่องหอมได้เป็นอย่างดี และยังใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่อีกด้วย

-น้ำมันเมล็ด ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่าง ๆ และนำมาใช้จุดตะเกียงให้กลิ่นหอม

-ต้นบุนนาค ในปัจจุบันมีการนำมาเพาะปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีดอกหอมและสวยงาม มีทรงพุ่มสวย ใบเขียวเข้มตลอดปี ให้ร่มเงาได้

-ต้นบุนนาค กับความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ (พ้องกับความหมายของชื่อ) และคำว่านาคยังหมายถึง พญานาคที่มีแสนยานุภาพ ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองภัย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ จากภายนอกได้ด้วย เนื่องจากใบของบุนนาคสามารถช่วยรักษาพิษต่าง ๆ ได้ โดยจะนิยมปลูกต้นบุนนาคไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน และปลูกกันในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ







ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง