Select your language TH EN
อื่นๆ ความรู้ทั่วไป  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



วิตามินซี (Vitamin C, Ascorbic Acid)

วิตามินซี (Vitamin C) มีชื่อทางเคมีซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์เองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับโดยการรับประทานอาหาร ซึ่งการเสริมวิตามินซีอาจทำได้โดยการเพิ่มการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ เช่น ส้ม กีวี มะละกอ แตงโม องุ่น แคนตาลูป บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หรือรับประทานวิตามินซีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement) 


ปัจจุบันมีการนำมาวิตามินซีมาใช้ในทางคลินิกอย่างแพร่หลาย ทั้งการป้องกันและการรักษาโรคต่าง ๆ ในบทความนี้จะมากล่าวถึงประโยชน์ของวิตามินซีทางการแพทย์กันอย่างละเอียดตามงานวิจัย รวมถึงผลเสียและข้อควรระวังของการใช้วิตามินซี


แหล่งอาหาร 


วิตามินซี-VitaminC-Ascorbic-Acid thai-herbs.thdata.co | วิตามินซี-VitaminC-Ascorbic-Acid สรรพคุณ สมุนไพร ไทย


รวมผักและผลไม้ที่ให้วิตามินซีมากที่สุดต่อ 100 กรัม จากมากไปน้อย ตามข้อมูลของ USDA FoodData Central และข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่ 

  • คาคาดูพลัม (Kakadu plum) เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ใน 100 กรัม จะให้วิตามินซี 2,907 มก. 

  • อะเซโรลาเชอร์รี่ (Acerola Cherry) 100 กรัม ให้วิตามินซี 1,680 มก.

  • โรสฮิป (Rose Hips) หรือ ผลกุหลาบป่า 100 กรัม ให้วิตามินซี 426 มก. 

  • มะขามป้อม 100 กรัม ให้วิตามินซี 276 มก. 

  • ฝรั่ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 228 มก. 

  • พริกหวานสีเหลือง 100 กรัม ให้วิตามินซี 184 มก. 

  • แบล็กเคอร์แรนต์ (Blackcurrant) 100 กรัม ให้วิตามินซี 181 มก. 

  • ผักคะน้า 100 กรัม ให้วิตามินซี 147 มก. 

  • พาร์สลีย์ (Parsley) 100 กรัม ให้วิตามินซี 133 มก. 

  • ผักปวยเล้ง 100 กรัม ให้วิตามินซี 120 มก. 

  • เงาะโรงเรียน 100 กรัม ให้วิตามินซี 97 มก. ad 

  • ผักเคล (Kale) 100 กรัม ให้วิตามินซี 93.4 มก. 

  • พริกหวานสีเขียว 100 กรัม ให้วิตามินซี 80.4 มก. 

  • กีวี 100 กรัม ให้วิตามินซี 74.7 มก. 

  • ลิ้นจี่ 100 กรัม ให้วิตามินซี 71.5 มก. 

  • ลูกพลับ 100 กรัม ให้วิตามินซี 66 มก. 

  • บรอกโคลี 100 กรัม ให้วิตามินซี 64.9 มก. 

  • กะหล่ำดาว (Brussels sprouts) 100 กรัม ให้วิตามินซี 62 มก. 

  • มะละกอ 100 กรัม ให้วิตามินซี 60.9 มก. 

  • ส้ม 100 กรัม ให้วิตามินซี 59.1 มก. (ส้ม 1 ผล หนักประมาณ 140 กรัม ให้วิตามินซีประมาณ 82.7 มก.) 

  • สตรอว์เบอร์รี 100 กรัม ให้วิตามินซี 58.8 มก (สตรอว์เบอร์รี 1 ถ้วย ให้วิตามินซีประมาณ 84.7 มก.) 

  • มะนาว 100 กรัม ให้วิตามินซี 53 มก. 

  • ถั่วลันเตา 100 กรัม ให้วิตามินซี 40 มก. 

  • มะม่วง 100 กรัม ให้วิตามินซี 36.4 มก. 

  • เกรปฟรุต 100 กรัม ให้วิตามินซี 31.2 มก. 

  • มะเขือเทศ 100 กรัม ให้วิตามินซี 13.7 มก. 

  • แคนตาลูป 100 กรัม ให้วิตามินซี 10.9 มก. 

  • กล้วย 100 กรัม ให้วิตามินซี 8.7 มก. 

  • แครอท 100 กรัม ให้วิตามินซี 5.9 มก. 

  • แอปเปิ้ล 100 กรัม ให้วิตามินซี 4.6 มก.


โทษของวิตามินซี

การขาดวิตามินซี

1. โรคลักปิดลักเปิดมีเหตุจากการขาดวิตามินซี เพราะเมื่อไม่มีวิตามิน คอลลาเจนที่ร่างกายผลิตจะไม่เสถียรพอเพื่อใช้งาน โรคทำให้มีจุดน้ำตาลบนผิวหนัง เหงือกยุ่ย และเลือดออกตามเยื่อเมือก จุดดังว่าเกิดมากสุดที่ขา คนไข้จะดูซีด ซึมเศร้า และอ่อนล้า ถ้าเป็นมาก แผลจะไม่ค่อยหาย ฟันร่วง จนถึงเสียชีวิตได้ ร่างกายมนุษย์สามารถเก็บสะสมวิตามินซีเป็นปริมาณจำกัดเท่านั้น ดังนั้น ก็จะหมดไปถ้าไม่ได้เพิ่ม แต่การปรากฏอาการของผู้ใหญ่ที่ไม่ขาดวิตามินแล้วทานอาหารที่ไม่มีวิตามินซีเลย อาจกินเวลาตั้งแต่เดือนหนึ่งจนถึงมากกว่า 6 เดือนขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินซีสะสมก่อนหน้านี้

  • มีงานศึกษาเด่นที่ทดลองก่อโรคในผู้ปฏิเสธไม่ยอมเป็นทหารโดยอ้างมโนธรรมในประเทศอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และในนักโทษรัฐไอโอวา (สหรัฐ) ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 จนถึง 1980 งานศึกษาทั้งสองพบว่า อาการโรคลักปิดลักเปิดต่าง ๆ ที่ปรากฏเพราะทานอาหารที่มีวิตามินซีน้อยมากสามารถแก้ได้ทั้งหมดโดยเสริมวิตามินซีเพียงแค่ 10 มก./วัน ในงานทดลองเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่างทางคลินิกระหว่างชายที่ได้วิตามิน 70 มก./วัน (ซึ่งทำให้มีความเข้มข้นวิตามินในเลือด 0.55 มก./ดล. อันเป็น 1/3 ของระดับอิ่มตัวในเนื้อเยื่อโดยประมาณ) กับชายที่ได้ 10 มก./วัน นักโทษในงานศึกษาเกิดอาการโรคประมาณ 4 สัปดาห์หลังเริ่มทานอาหารปลอดวิตามินซี เทียบกับงานศึกษาในอังกฤษที่ต้องใช้เวลา 6-8 เดือนโดยน่าจะเป็นเพราะการเร่งให้ทานอาหารเสริมขนาด 70 มก./วันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนให้ทานอาหารขาดวิตามิน

  • ชายในงานทั้งสองที่ทานอาหารเกือบไร้วิตามิน มีวิตามินซีในเลือดต่ำกว่าที่จะวัดได้อย่างแม่นยำเมื่อเริ่มเกิดอาการโรค ในนักโทษรัฐไอโอวา ได้ประเมิน (โดยวิธี Carbon-14 labeled l-ascorbic acid) ในช่วงปรากฏโรคนี้ว่า มีปริมาณสะสมในร่างกายน้อยกว่า 300 มก. โดยใช้ต่อวันลดลงเหลือเพียงแค่ 2.5 มก


การได้รับวิตามินซี เกินขนาด

1. ผลต่อระบบย่อยอาหาร เป็นผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้เมื่อเสริมวิตามินซีในขนาดสูงตั้งแต่ 2,000 มก. ขึ้นไป โดยอาจทำให้มีอาการแสบท้อง ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องเสีย ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกได้ โดยเป็นผลมาจากระบบย่อยอาหารไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดจากการอิ่มตัวของการดูดซึมและทำให้วิตามินซีที่ไม่ได้ดูดซึมมีปริมาณมากขึ้นและอยู่ในทางเดินอาหารจนทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา อย่างไรก็ตาม ขนาดของวิตามินซีที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวมักจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลตั้งแต่วันละ 2,000-10,000 มก. 


2. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L สัมพันธ์การความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่านี้ 

  • การศึกษาเชิงสังเกตในผู้ใหญ่เกือบ 10,000 คน (อายุเฉลี่ย 46 ปี) ในสหรัฐอเมริกาที่ติดตามมาประมาณ 10 ปี พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงประมาณ 60 µmol/L หรือมากกว่า (ใกล้เคียงกับระดับอิ่มตัว) จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเพิ่มขึ้น 33%, และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่านี้

  • การเสริมวิตามินซีด้วยอาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีบริโภควิตามินซีจากอาหารในปริมาณมากอยู่แล้ว โดยมีการศึกษาเชิงสังเกตในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 10 ปี ในผู้หญิง 57,403 คน พบว่าผู้หญิงที่บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติปริมาณมากจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในวัยหมดประจำเดือนลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อย แต่ในผู้หญิงที่บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติในปริมาณมากอยู่แล้วและรับวิตามินซีจากอาหารเสริมด้วย พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในวัยหมดประจำเดือน (ไม่ได้ช่วยลด)


3. อาจทำให้ DNA เสียหาย มีหลักฐานในหลอดทดลอง (in-vitro) ที่พบว่าวิตามินซีอาจทำให้เกิดการผลิตสารพันธุกรรมที่สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ (DNA-damaging genotoxins) และพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ (หลายคนเชื่อว่าอาหารเสริมวิตามินซีอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ แต่ความเชื่อนี้กลับให้ผลตรงกันข้ามและไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นจริงในหลอดทดลอง) [69] นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน British journal Nature (โดย Dr.Victor Herbert) ที่พบว่าการเสริมวิตามินซีแบบอาหารเสริมวันละ 500 มก. อาจส่งเสริมให้เกิดความเสียหายทางพันธุกรรมหรือทำให้ DNA เสียหาย หรือทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในประเด็นนี้ยังมีความขัดแย้งกับงานวิจัยอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อไป และผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า ในบุคคลปกติทั่วไปที่มีสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินซีเสริม (แต่ถ้าจะเสริมก็ไม่ควรเกินวันละ 500 มก.) และแนะนำให้บริโภควิตามินซีจากอาหารปกติมากกว่า


4. ขัดขวางการฝึกความอดทนและการเพิ่มของมวลกล้ามเนื้อและกระดูกจากการออกกำลังกาย ปริมาณวิตามินซีและอีที่สูงดูเหมือนจะขัดขวางประโยชน์ที่เกิดจากการออกกำลังกาย ในเรื่องของการฝึกความอดทน (Endurance training), การฝึกความแข็งแรง (Resistance (strength) training), การเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อ และการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูก (Bone density) 

  • การศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่มีสุขภาพดีที่เข้าร่วมโปรแกรมฝึกความแข็งแรงเป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ร่วมกับวิตามินอี 400 IU ไม่พบการเพิ่มขึ้นของมวลร่างกายส่วนที่ไร้ไขมัน (Fat-free mass) อย่างกล้ามเนื้อ กระดูก ในขณะที่กลุ่มได้รับยาหลอกพบว่ามีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งนักวิจัยสรุปว่า ผู้หญิงที่ต้องการเพิ่มมวลร่างกายส่วนที่ไร้ไขมัน (เพิ่มกล้ามเนื้อ) ควรหลีกเลี่ยงการเสริมวิตามินซีและอี

  • การศึกษาในประเทศนอร์เวย์ เป็นเวลา 11 สัปดาห์ ในผู้ชายและหญิงที่ฝึกวิ่งและปั่นจักรยาน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ในขณะที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในผู้ที่เสริมวิตามินซี 500 มก. หรือวิตามินอีสังเคราะห์ 260 IU (ส่วนประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนหรือ VO2 max เพิ่มขึ้นเท่า ๆ กันทั้งสองกลุ่ม)

  • การศึกษาในประเทศนอร์เวย์ที่ใช้วิตามินซีและอีสูงแบบเดียวกัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทำการศึกษาในผู้ชายสูงอายุที่มีสุขภาพดีที่เข้ารับการฝึกความแข็งแรง (Strength training) พบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณหลังส่วนล่างเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมากกว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีและอี และยังพบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกที่สะโพกก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่เพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเท่านั้น


5. เสี่ยงต้อกระจก (Cataract) แม้การเสริมวิตามินซีในขนาดไม่เกิน 250 มก. สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคต้อกระจกได้ แต่จากการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงทุกวันอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกแทน โดยการศึกษาในประเทศสวีเดนกับผู้หญิงจำนวน 24,593 คน (อายุ 49-83 ปี) เป็นระยะเวลา 8 ปี พบว่ากลุ่มที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับ ส่วนในผู้ที่เสริมวิตามินซีมาอย่างน้อย 10 ปีก่อนการศึกษาพบว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 46%


6. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตในผู้ชาย (ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก) โดยความเสี่ยงนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชาย แต่การได้รับวิตามินซีจากอาหารปกติไม่พบว่ามีความเสี่ยง การศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่าความเสี่ยงของการเกิดนิ่วจะเพิ่มขึ้น 66% ในผู้ชายที่เสริมวิตามินซีในขนาด 1,000 มก. เป็นครั้งคราว และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 123% ในผู้ที่เสริมวิตามินซีสัปดาห์ละ 7 ครั้งขึ้นไป สอดคล้องกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าความเสี่ยงการเกิดนิ่วจะเพิ่มขึ้น 16% ในผู้ชายที่เสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่าจากอาหารเสริม ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเชิงสังเกต 3 ชิ้น (รวมผู้หญิงมากกว่า 155,000 คน และผู้ชายมากกว่า 40,000 คน) ก็พบผลลัพธ์คล้ายกัน คือ ในผู้ที่เสริมวิตามินซี 1,000 มก. ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบผู้ที่ได้รับวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 90 มก

  • เมื่อวิตามินซีหรือ Ascobic acid เข้าสู่ร่างกาย ก่อนถูกขับออกจากร่างกาย มันจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ก่อน ซึ่งกรดนี้เมื่อรวมกับแคลเซียมที่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ จะทำให้เกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ประกอบกับวิตามินซีอาจเพิ่มการดูดซึมออกซาเลตจากอาหารได้ด้วย ซึ่งเป็นผลึกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะหรือเกิดเป็นก้อนนิ่ว เพราะฉะนั้นในผู้ชาย โดยเฉพาะที่มีประวัติเป็นโรคนิ่วในไต หรือร่างกายมีความบกพร่องในการเผาผลาญออกซาเลต จะเป็นการดีกว่าถ้าจะหลีกเลี่ยงการเสริมวิตามินซีหรือเสริมไม่เกินวันละ 250 มก.

  • อย่างไรก็ตาม วิตามินซีอาจไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดนิ่วในไตเสมอไป เพราะสาเหตุการเกิดยังได้หลายอย่าง เช่น จากอาหารบางชนิด การใช้ยา โรคบางอย่าง ฯลฯ ดังนั้น ในคนทั่วไปที่มีสุขภาพดีจึงยังสามารถเสริมวิตามินซีเพื่อบำรุงสุขภาพต่อไปได้ โดยทาง Medthai แนะนำว่า วิตามินซีวันละ 500 มก. คือขนาดที่เหมาะสม เพียงพอ และปลอดภัย


7. โรคปวดกระเพาะปัสสาวะ (Interstitial cystitis) การเสริมวิตามินซีรวมถึงผลิตภัณฑ์จากส้มอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ในผู้ที่เป็นโรคปวดกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นอาการเรื้อรัง 


8. โรคไตจากผลึกออกซาเลต (Oxalate crystal nephropath) การเสริมวิตามินซีวันละ1,000-2,000 มก. หรือมากกว่า อาจทำให้เกิดโรคไตที่เรียกว่า “Oxalate crystal nephropathy” ซึ่งเป็นภาวะที่ผลึกออกซาเลตสะสมอยู่ในท่อเนื้อเยื่อของไต ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายหรือไตวายได้


9. เพิ่มความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายจากยาพาราเซตามอล โดยพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 3,000 มก. ร่วมกับการใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในขนาดสูง (Tylenol®) ความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายจากยาพาราเซตามอลอาจเพิ่มมากขึ้น 


10. เกิดการสะสมของธาตุเหล็ก เนื่องจากวิตามินซีช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น ถ้าร่างกายได้รับวิตามินซีมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสะสมของธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยบางรายที่ไวต่อวิตามินซีได้ เช่น Thalassemia major หรือ Hemochromatosis ที่อาจทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะได้รับความเสียหายได้ถ้าหากได้รับวิตามินซีในขนาดสูงเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้วิตามินซีในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ส่วนในคนปกติที่มีสุขภาพดีพบว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร


11. อาจลดระดับธาตุทองแดงในร่างกายได้เล็กน้อย การได้รับวิตามินซีในขนาดสูงอาจทำให้ระดับธาตุทองแดงในร่างกายลดลงได้เล็กน้อย โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่เสริมวิตามินซีขนาด 500 มก. วันละสามครั้ง (รวมวันละ 1,500 มก.) ติดต่อกันเป็นเวลาสองเดือน มีระดับโปรตีนที่เก็บและขนส่งธาตุทองแดงในร่างกาย (Ceruloplasmin) และระดับธาตุทองแดงในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการศึกษาอื่นพบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่ลดลง (5-635 มก.) เป็นระยะเวลา 1 เดือน ธาตุทองแดงในเลือดไม่ได้ลดลง (แม้ว่าในขนาด 635 มก. จะลดการทำงานของโปรตีน Ceruloplasmin) 


12. อาจลดประสิทธิภาพของยาต้านไวรัส HIV มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 1,000 มก. อาจลดประสิทธิของยาอินดินาเวียร์ (Indinavir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี 


13. อาจรบกวนการดูดซึมของยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) 


14. อาจลดประสิทธิภาพของยากลุ่มสแตติน (Statins) มีความกังวลว่าการเสริมวิตามินซีอาจลดผลของยาสแตติน โดยมีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น ๆ (วิตามินอี, เบต้าแคโรทีน และซีลีเนียม) มีผลไปลดประสิทธิภาพการลดคอเลสเตอรอลของยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ที่รับประทานร่วมกับไนอะซิน (Niacin) ขนาดสูง 2,000 มก. อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากวิตามินซี, สารต้านอนุมูลอิสระอื่น หรือเกิดจากไนอะซิน 


15. อาจรบกวนผลของยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เคยมีรายงานการศึกษาในผู้ป่วยเมื่อปี 1970 ที่พบว่าการเสริมวิตามินซีอาจทำให้ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดของยาวาร์ฟารินลดลง แต่จากการศึกษาใหม่ ๆ พบว่าการได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับวิตามินซีวันละ 1,000 มก. เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาวาร์ฟารินแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวแนะนำว่าผู้ที่รับประทานยาวาร์ฟาริน/ยาเจือจางเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด ควรควบคุมการทานวิตามินซีไม่ให้เกินวันละ 1,000 ม

 

16. การเสริมวิตามินซีร่วมกับยาพิกโนจีนอล (Pycnogenol®) หรือสารสกัดจากเปลือกสน มีการศึกษาที่พบว่า การใช้ร่วมกันอาจทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 


17. การเสริมวิตามินซีอาจทำให้ผลแล็ปบางอย่างคลาดเคลื่อน เช่น น้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล เลือดแฝงจากการตรวจอุจจาระ การเสริมวิตามินซีและวิตามินรวมที่มีวิตามินซีมากกว่า 250 มก. ขึ้นไป อาจทำให้เกิดผลลบปลอมในการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (gFOBT) จึงควรงดการเสริมวิตามินซีเป็นเวลา 3 วันก่อนทำการเก็บตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธีใหม่ (Fecal Immunochemical Test หรือ FIT) จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเสริมวิตามินซี วิตามินซีอาจมีรบกวนผลการตรวจปัสสาวะด้วย Urine dipstick test สำหรับวัดกลูโคส ฮีโมโกลบิน และเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส 


ประโยชน์ของวิตามินซี

มีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าวิตามินซีอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้ 

1. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต่อต้านและลดระดับอนุมูลอิสระได้ เมื่ออนุมูลอิสระในร่างกายลดลงและกลับมาอยู่ในระดับปกติ ความเสี่ยงของโรคที่มาจากการอักเสบและความเสียหายเรื้อรังของเซลล์ภายในร่างกายก็จะลดลง พูดง่าย ๆ ก็คือ วิตามินซีมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันการถูกทำลายและการตายของเซลล์ต่าง ๆ วิตามินซีจึงอาจส่งผลดีต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันหลายชนิด เช่น LDL, ลดการเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง, ช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน (Endothelia cell) จึงดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น 

  • อนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติในร่างกายร่วมกับการมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น หากร่างกายมีอยู่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของร่างกายหรือภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการอักเสบของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงหรือโรคเรื้อรังไปจนถึงโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง 


2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมความแข็งแรงและป้องกันความเสียหายของเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ โดยรวมจึงทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือสูบบุหรี่ ที่พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ก็จะทำให้เกิดโรคหรืออาการของโรครุนแรงขึ้นได้ 

  • เม็ดเลือดขาวเป็นหนึ่งในสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของร่างกาย มีหน้าที่ในการต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมสำเร็จ เม็ดเลือดขาวก็จะจดจำวิธีการตอบสนองต่อเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น โดยจะช่วยลดความรุนแรง ความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการป่วยจากเชื้อชนิดเดิมได้ 


3. ผลิตคอลลาเจน วิตามินซีช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบโครงสร้างที่สำคัญในผนังหลอดเลือด เหงือก ผิวหนัง และกระดูก ทำให้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ฟื้นตัวจากบาดแผลหรือการผ่าตัด วิตามินซียังช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารเสริมและอาหารจากพืช (คอลลาเจนประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผิวหนัง กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และหลอดเลือด การมีคอลลาเจนเพียงพอไม่เพียงแต่ทำให้ผิวและข้อต่อแข็งแรง แต่ยังช่วยรักษาความดันโลหิตของคุณโดยการรักษาหลอดเลือดแดงและเส้นเลือดของคุณให้แข็งแรง) 


4. อาจช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น (เล็กน้อย) วิตามินซีเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว (Tyrosinase inhibitor) ออกฤทธิ์โดยการไปลดจำนวนของสารควิโนน (Quinones) ที่เป็นตัวเปลี่ยนไปเป็นเม็ดสีผิวที่ทำให้ผิวคล้ำหรือดำ นอกจากนี้วิตามินซียังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิว และช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดที่เป็นตัวทำให้ผิวคล้ำ เพราะฉะนั้นตามหลักการเสริมวิตามินซีจึงน่าจะช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเสริมวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมจะช่วยให้ขาวกระจ่างใสขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป 

  • ขนาดที่แนะนำเพื่อความเปลี่ยนแปลงของผิวคือ ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (หลังอาหารเช้าและเย็น รวมเป็นวันละ 1,000 มก.) ร่วมกับการดูแลผิวอย่างเหมาะสมในทุก ๆ วัน (เช่น การทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงแสงแดด) ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด (มากกว่าการทาน 1,000 มก. ครั้งเดียว) โดยอาจจะเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสีผิวเมื่อทานอย่างต่อเนื่อง 30 วันขึ้นไป เพราะเม็ดสีของเราจะมีอายุได้ประมาณ 30 วัน จึงต้องรอให้เม็ดสีผิวเก่าที่สร้างขึ้นก่อนหน้ามีการเสื่อมสภาพหรือหลุดลอกไปก่อน 


5. ดีต่อสุขภาพผิวและริ้วรอย วิตามินซีมีอยู่ในผิวหนังตามธรรมชาติ มีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจนและช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระได้ (ในวัยชราหรือในผู้ที่ผิวถูกทำลายจากอนุมูลอิสระมักมีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ และงานวิจัยส่วนใหญ่ในประเด็นนี้มักทำการศึกษาในรูปแบบครีมหรือเซรั่มสำหรับทาผิวมากกว่ารูปแบบรับประทาน โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้ 

การเสริมวิตามินซีในรูปแบบรับประทานพบว่า สามารถช่วยปกป้องกันผิวจากรังสียูวี (UV) เมื่อทานร่วมกับวิตามินอี และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือผิวเสียก่อนวัยได้ แต่บางงานวิจัยก็ระบุว่ามีผลน้อย และยังมีข้อสรุปไม่ชัดเจน 

  • การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดความเสียหายต่อผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้เมื่อเทียบกับการใช้ครีมกันแดดเพียงอย่างเดียว ส่วนการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินซีเพียงอย่างเดียวดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันรอยแดงจากรังสียูวีเมื่อเทียบกับสูตรยาหลอก

  • การศึกษาขนาดเล็กในผู้หญิง (อายุเฉลี่ย 55 ปี) พบว่าการใช้เซรั่มวิตามินซี 5% ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหยาบกร้าน ผิวหย่อนคล้อย ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเซรั่มที่ไม่มีวิตามินซี 

  • การวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยใช้หนังสัตว์ พบว่าการดูดซึมของวิตามินซีในรูปแบบทาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผลิตภัณฑ์มีค่า pH น้อยกว่า 3.5 และมีความเข้มข้นของวิตามินซีที่ 10-20% แต่ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ และโปรดทราบว่าวิตามินซีรูปแบบทาไม่สามารถซึมผ่านผิวชั้นบนสุด (Stratum corneum) ได้ง่าย และรูปแบบทาไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวหนังหากว่าร่างกายมีระดับวิตามินซีในเลือดที่อิ่มตัวอยู่แล้ว (ซึ่งเกิดเมื่อรับประทานวิตามินซีวันละ 500 มก.)


6. ป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (Vitamin C deficiency) ภาวะนี้อาจพบได้ในผู้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ หรือพบในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ การสูบบุหรี่ ภาวะแอลกอฮอล์เรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น และภาวะขาดวิตามินซียังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ทำให้แผลหายช้าในผู้ป่วยที่มีแผล (การสมานแผลอาจลดลง) เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วนอาการแรกเริ่มของการขาดวิตามินซีมักจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการปวดตามแขนขา หายใจสั้น ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอต่อวันสามารถช่วยป้องกันโรคหรืออาการเหล่านี้ได้ 

  • เลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) การขาดวิตามินซีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ (27 µmol/L หรือต่ำกว่าในผู้ใหญ่) หรือได้รับวิตามินซีจากการบริโภคอาหารต่ำ (เพียงวันละ 30-60 มก. ในผู้ใหญ่) สัมพันธ์กับการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และการเสริมวิตามินซีเฉลี่ยวันละ 222 มก. เป็นเวลา 41 วัน สามารถช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ (นักวิจัยแนะนำว่าปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 110 มก. ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะเป็นปริมาณที่มากกว่า RDA ที่แนะนำในผู้ใหญ่) อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดอยู่ในระดับปกติ คือ 48-70 µmol/L อาหารเสริมวิตามินซีจะไม่ได้ช่วยลดอาการเลือดออกตามฟัน

  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซีส่งผลต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหากร่างกายขาดธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ วูบหน้ามืด ตัวซีด ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บผิดปกติ ฯลฯ

  • เล็บผิดปกติ การศึกษาพบว่าการขาดวิตามินซีอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเล็บ เช่น ทำให้เล็บเว้าลงจนคล้ายรูปช้อน (Koilonychia), เล็บอ่อนและบางทำให้งอหรือหักได้ง่าย (Hapalonychia)ซึ่งอาจเป็นเพราะวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก และการขาดธาตุเหล็กส่งผลต่อสุขภาพเล็บ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาใดแสดงให้เห็นได้ว่า การเสริมวิตามินซีจะช่วยให้เล็บมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในคนปกติหรือในคนที่ร่างกายขาดวิตามินซีหรือธาตุเหล็ก

  • การอักเสบของข้อ การขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการอักเสบ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 10คน (อายุ 3-20 ปี) ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile arthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำผิดปกติ และการเสริมวิตามินซีวันละ 250-1,000 มก. สามารถช่วยให้ผู้ป่วยทั้ง 10 คนหายจากอาการดังกล่าวได้ สอดคล้องกับอีก 2 การศึกษาที่พบว่าวิตามินซีอาจช่วยหยุดการทำลายของข้อที่อักเสบได้

  • การขาดสารอาหารมีผลลดการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่เหมาะสมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension) โดยมีรายงานเรื่องนี้ในชายอายุ 60 ปีที่มีภาวะการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ขาบวม และอาการอื่น ๆ ของการขาดวิตามินซีที่ระบุไว้ข้างต้น แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการเสริมวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 เดือน อาการดังกล่าวก็หายไป (ระดับวิตามินซีในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 5.7 µmol/L เป็น 85 µmol/L)


7. ลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เล็กน้อย (ส่วนการเสริมเมื่อเป็นหวัดไม่มีประโยชน์) และอาจช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้ในบางกรณี เช่น ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก หรือในช่วงฤดูหนาว (ปริมาณที่ Medthai แนะนำสำหรับไข้หวัดคือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) ส่วนรายละเอียดการศึกษาที่สำคัญดังนี้ 

  • วิตามินซีช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริมวิตามินซีวันละ 250 มก. เป็นอย่างน้อย สามารถช่วยเพิ่ม Neutrophils chemotaxis (เป็นตัวป้องกันหลักของร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ) ได้ประมาณ 20% และผลด้านนี้จะดีขึ้นถ้าทานร่วมกับวิตามินอี

  • การเสริมวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ โดยที่ในเด็กจะมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากกว่าผู้ใหญ่ และการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการเสริมวันละ 1,000 มก. ในการลดความรุนแรงและระยะเวลาการเป็นหวัด แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ขนาดมาตรฐานที่แนะนำสำหรับหวัดคือวันละ 1,000 มก.

  • การทบทวนการศึกษาจำนวน 44 ชิ้น พบว่าการเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัด (โดยปกติคือวันละ 1,000 มก.) สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัดได้เล็กน้อยประมาณ 5% และช่วยให้หายจากอาการหวัดได้เร็วขึ้นประมาณ 8% ในผู้ใหญ่และ 14% ในผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ส่วนการเสริมวิตามินซีหลังจากที่เป็นหวัดไปแล้วพบว่าไม่มีประโยชน์ คือ ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 6,000-8,000 มก. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเป็นหวัด สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ แต่การเสริมวิตามินซีในขนาด 3,000-4,000 มก. พบว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย

  • จากการวิเคราะห์การทดลองทางคลินิก 9 ฉบับ (ระหว่างปี 1950-2001) สรุปได้ว่า การเสริมวิตามินซีเป็นประจำวันละ 1,000 มก. หรือน้อยกว่า หรือการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้นเป็นวันละ 3,000-4,000 มก. ในช่วงที่เป็นหวัด อาจช่วยลดระยะเวลาที่เป็นหวัดลงได้เล็กน้อย (ประมาณครึ่งวัน) และลดอาการหนาวสั่นและเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยให้อาการคัดจมูกหรืออาการเจ็บคอดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

  • การศึกษาทั่วไปพบว่า การเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัดไม่สามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ ยกเว้นในกลุ่มที่มีภาวะความเครียดทางกายภาพ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬามาราธอน นักสกี หรือทหาร จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นหวัดได้ถึง 52% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (หากรับประทานวิตามินซีก่อนเป็นหวัดหลายวัน)

  • การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ (อายุ 18-35 ปี) ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำถึงปานกลาง (น้อยกว่า 45 µmol/L) พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะมีโอกาสเป็นหวัด “ในช่วงฤดูหนาว” น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (7 ต่อ 11 คน) และช่วยลดระยะเวลาการป่วยเป็นหวัดลง 59% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก


8. ลดอาการภูมิแพ้ วิตามินซีสามารถช่วยลดระดับการผลิตฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นตัวการของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. เป็นเวลา 1 เดือนขึ้นไป สามารถช่วยลดระดับฮีสตามีนได้ประมาณ 38% และมีผลช่วยให้ลดการกำเริบและอาการของภูมิแพ้ดีขึ้น สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ให้วิตามินซีสูงในขนาด 7,500 มก. ทางเส้นเลือด แล้วพบว่าระดับฮีสตามีนลดลงประมาณ 50% และยังสัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้ที่ลดลงอีกด้วย เช่น น้ำมูกไหล ตาม คัน กระสับกระส่าย ปัญหาเรื่องการนอนหลับ


9. อาการเมาเรือ วิตามินซีอาจมีประสิทธิภาพในการแก้อาการเมาเรือ (โดยเฉพาะในผูหญิงและผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 27 ปี) โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะระดับฮีสตามีนที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเมาเรือ


10. โควิด 19 (COVID-19) เนื่องจากวิตามินซีมีบทบาทช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อาหารเสริมวิตามินซีจึงได้รับการส่งเสริมโดยแพทย์บางท่านเพื่อใช้ป้องกัน COVID-19 จากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการได้รับวิตามินซีเกินความต้องการในแต่ละวันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 หรือช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคเมื่อป่วยได้ 

  • การศึกษาในผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 214 คน พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 8,000 มก. (แบ่งทานวันละ 2-3 มื้อหลังอาหาร) ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานตามปกติ และผู้ที่ได้รับวิตามินซียังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง และปวดท้องมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง และยังไม่พบประโยชน์เมื่อทำการเสริมวิตามินซีร่วมกับสังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) ในขนาดสูงวันละ 50 มก. หรือเสริมซิงค์เพียงอย่างเดียวก็ตาม

  • สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 98 คน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ที่ป่วยเป็น COVID-19 และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเมื่อให้รับประทานวิตามินซี 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 14 วันหลังมีอาการได้ 6 เดือน ก็ไม่พบว่าวิตามินซีจะช่วยลดระยะเวลาที่ป่วยหรือความรุนแรงของโรคแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

  • การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000-6,000 มก. ก่อนติด COVID-19 ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยกับผู้ป่วยที่ติดโควิดที่มีอาการวิกฤตและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ช่วยลดระยะเวลาในการช่วยหายใจโดยเฉลี่ย 25%) ส่วนอีกการศึกษาในประเทศจีน (อายุเฉลี่ย 66 ปี) พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงมาก ๆ คือวันละ 24,000 มก. (ทางเส้นเลือด) เป็นเวลา 7 วัน ทำให้ออกซิเจนในเลือดดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยลดวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการตายในช่วง 28 วันหลังเข้ารับการรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

  • การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยหนักจากโรค COVID-19 และมีอาการช็อก จำนวน 15 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) พบว่าอัตราการเสียชีวิตก็ยังสูงมากถึง 80% แม้จะให้วิตามินซีวันละ 3,000 มก. เป็นเวลา 2-5 วัน พร้อมกับการรักษาด้วยยามาตรฐานก็ตาม


11. ลดความดันโลหิต จากการทบทวนการศึกษาจำนวน 29 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิตามินซีวันละ 500 หรือ 1,000 มก. พบว่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 3.84 mmHg และความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 1.48 mmHg [33] สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่พบว่า ความดันตัวบนลดลงมากกว่า 4.85 mmHg และตัวล่าง 1.67 mmHg (การศึกษานี้ ไม่พบว่าวิตามินซีมีผลโดยตรงในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ซึ่งอาจเป็นเพราะการทดลองมีระยะสั้นเกินไป) อย่างไรก็ตาม การลดความดันโลหิตด้วยการเสริมวิตามินซีนั้นช่วยได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยามาตรฐานที่จะลดความดันโลหิตได้ประมาณ 10 mmHg 

  • การศึกษาของ Mullan BA และคณะ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. เป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดความดันโลหิตและความแข็งตัวของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้


12. ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาในปี 2018 ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยทั้ง 27 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (1,000 มก./วัน) เป็นเวลา 4 เดือน นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแล้ว (ความดันตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 7 mmHg และความดันตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 5 mmHg)) ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังรับประทานอาหารได้ถึง 36% และมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงน้อยลงไป 2.8 ชั่วโมงในแต่ละวัน (แต่ไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c)

  • การศึกษาในปี 2017 พบว่าในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับวิตามินซีในเลือดน้อยกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติอย่างมีนัยสำคัญ และมีความต้องการวิตามินซีที่มากกว่าตยปกติ และการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็พบระดับวิตามินซีในเลือดต่ำเช่นกัน และร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น

  • การศึกษาที่เก่ากว่าในปี 2007 พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS), ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c), ไตรกลีเซอร์ไรด์ (TG), คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่าง อย่างไรก็ตาม การให้วิตามินซีวันละ 500 มก. ไม่พบการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ 


13. โรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, มีฤทธิ์ลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันชนิด LDL และมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายจากเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน จึงเชื่อว่าการเสริมวิตามินซีอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการศึกษาที่พบว่าการได้รับวิตามินซีจากอาหารน้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาผลของการใช้วิตามินซีในรูปของอาหารเสริมยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันให้ผลขัดแย้งกัน แต่เชื่อว่าการเสริมวิตามินซีน่าจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงนี้ในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินซี

  • การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. สามารถช่วยลดภาวะหลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำอีกหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยวิธี Angioplasty


14. โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease : NAFLD) การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง (มากกว่าวันละ 146 มก.) สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) ที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 75 มก.) [39] การศึกษาในประเทศจีนในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) จำนวน 84 คน ซึ่งไม่มีใครขาดวิตามินซี พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 200, 1,000 หรือ 2,000 มก. ก่อนอาหารเป็นเวลา 12 สัปดาห์ บ่งชี้ว่าการทำงานของตับดีขึ้น (AST, ALT และ/หรือ GGT) โดยกลุ่มที่ให้ในขนาด 1,000 มก. พบว่าได้ประโยชน์สูงสุด 


15. ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การศึกษาในระยะยาว (ประมาณ 14 ปี) พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะต่ำเมื่อมีระดับวิตามินซีในเลือดมากกว่า 15.33 µmol/L และความเสี่ยงจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึง 45.99-59.62 µmol/L โดยที่ระดับวิตามินซีในเลือดที่มากกว่านี้จะไม่ลดความเสี่ยงลงอีก ส่วนความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะยังลดลงได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงขึ้นหรือสูงกว่า 60.19 µmol/L อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่แยกออกมาที่พบว่าระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแทน (แทนที่จะลดลง) เมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่า

  • ผู้สูงอายุที่รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีเสริมมีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม สอดคล้องกับการศึกษาในแคลิฟอร์เนียที่พบว่า ผู้ที่เสริมวิตามินซีมากกว่าวันละ 750 มก. มีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรลดลง 60% 

  • การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 700 มก. ช่วยลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจ 62% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีวันละ 60 มก. หรือน้อยกว่า


16. ลดความเสี่ยงมะเร็ง มีทฤษฎีว่าวิตามินซีอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้จากการศึกษาเมื่อนานมาแล้วที่พบว่าการรับประทานผักและผลไม้ที่ให้ปริมาณวิตามินซีขนาด 200 มก./วัน มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งช่องปาก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งกระเพาะอาหาร (พบประโยชน์ชัดเจนที่สุดในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากวิตามินซีหรือสารอื่น ๆ ที่มีในผักและผลไม้ ส่วนการศึกษาใหม่ ๆ เราพบว่าการใช้วิตามินซีในรูปอาหารเสริมแบบเดี่ยว ๆ ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ (แต่ในรูปของอาหารปกติอาจช่วยได้) เช่น การศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพดีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400 IU (วันเว้นวัน) ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งทั้งหมด

 สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายสูงอายุที่ไม่พบความเกี่ยวข้องใด ๆ ระหว่างการเสริมวิตามินซีทั้งจากอาหารปกติและอาหารเสริมกับอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและระดับความรุนแรงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • การได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง หลอดอาหาร ช่องปาก กล่องเสียง ปอด ต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 3,000 มก. ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และพบว่าการบริโภควิตามินซีมากกว่าวันละ 157 มก. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 50%

  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer) การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. นาน 10 ปีหรือมากกว่าในผู้ชายและหญิงวัยกลางคน พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

  • การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 10,000 มก. ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับวิตามินซีมีชีวิตอยู่นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซี เกิดความเจ็บปวดน้อยกว่า และโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เมื่อเสริมวิตามินอื่น ๆ เข้าไปด้วยในปริมาณมาก คือ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ไนอะซิน วิตามินบีอื่น ๆ และแร่ธาตุบางอย่าง ก็พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการเสริมวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าว มีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เสริม)

  • เชื่อว่าการแพร่กระจายตัวของมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการเสริมวิตามินซีที่มากขึ้น 


17. ต้อกระจกและจอตาเสื่อม ในระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ดูเหมือนว่าการได้รับวิตามินซีในขนาดต่ำ คือ 60-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ ในขณะที่วิตามินซีขนาดสูงไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกแทน นอกจากนี้ วิตามินซีในขนาด 250 มก. ยังเป็นส่วนหนึ่งของสูตร ARED2 ด้วย ซึ่งเป็นสูตรของวิตามินที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยชะลอการลุกลามของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration : AMD) ส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ 

  • การเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสม สามารถช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการลุกลามของโรคต้อกระจกได้ โดยมีการศึกษาในประเทศอังกฤษที่พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารต่ำที่สุด ในผู้ที่บริโภควิตามินซีจากอาหารมากที่สุดจะมีโอกาสเกิดโรคต้อกระจกน้อยลง 19% และโอกาสเกิดต้อกระจกจะน้อยลง 33% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนผู้ที่รับประทานวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมรวมถึงวิตามินรวม ก็มีโอกาสน้อยลงเช่นกันที่จะเป็นโรคต้อกระจก

  • การศึกษาในประเทศแคนาดาในผู้ชายที่มีสุขภาพดี พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. และวิตามินอี 400IU (วันเว้นวัน) ในระยะยาว ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้

  • การศึกษาในระยะยาวอื่น ๆ มากกว่า 10 ปี แนะนำว่าการเสริมวิตามินซีในปริมาณที่เหมาะสมคือ 150-250 มก. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ และการบริโภค

  • การศึกษาในระยะยาวพบว่า การเสริมวิตามินรวมในขนาดที่เหมาะสม (มีวิตามินซีรวมอยู่ด้วย 60 มก.) สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ (แต่ไม่มีผลต่อโรคจอตาเสื่อม (AMD)) ในขณะที่สูตรที่มีวิตามินซีสูง (500 มก.) พบว่าไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก


18. ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด (Shingles) ระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำ (ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 45 µmol/L) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของโรคงูสวัดที่เรียกว่า อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมากในบริเวณที่เป็นผื่น แม้ว่าผื่นจากโรคจะหายไปแล้วก็ตาม แต่การศึกษาพบว่า การฉีดวิตามินซีเข้าเส้นเลือดในขนาดวันละ 2.5-15 กรัม (2,500-15,000 มก.) เป็นเวลา 3-14 วัน ร่วมกับการรักษามาตรฐานตามปกติ จะช่วยลดอาการปวดและความรุนแรงจากอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาว่าการใช้วิตามินซีในรูปแบบรับประทานจะได้ประโยชน์เหมือนวิตามินซีแบบฉีดหรือไม่ 


19. รักษาแผลที่เท้า ดับวิตามินซีต่ำหรือได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ โดยการศึกษานี้ได้ทำการศึกษาในผู้สูงอายุจำนวน 16 คน (อายุเฉลี่ย 60 ปี) ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 โรคหลอดเลือด หรือโรคอื่น ๆ ที่เป็นแผลที่เท้าการทดลองทางคลินิกขนาดเล็กพบว่า การเสริมวิตามินซีอาจช่วยรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานให้ดีขึ้นได้ (รวมถึงโรคหลอดเลือด และสภาวะอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดแผลที่เท้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมีระ โดยกลุ่มแรกให้ทานวิตามินซีแบบออกฤทธิ์ช้าวันละ 500 มก. เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนอีกกลุ่มจะได้รับยาหลอก (ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งของแต่ละกลุ่มมีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ) พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีแผลที่เท้ามีอาการดีขึ้นทุกคน ในขณะกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการดีขึ้น แต่ไม่ทุกคน (มีจำนวน 44% ที่อาการไม่ดีขึ้น)


20. ป้องกันแผลกดทับ การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. พบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญ


22. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ โดยมีงานวิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีจากอาหารเสริมในขนาดวันละ 1,000-1,499 มก. จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซีประมาณ 34% และหากรับประทานวันละมากกว่า 1,500 มก. จะลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเป็น 45% [60] โดยสอดคล้องกับอีกงานวิจัยที่พบว่า การได้รับวิตามินซีเสริมสามารถช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ได้ โดยเมื่อทดลองให้วิตามินซีในหลายขนาดตั้งแต่ น้อยกว่า 90 มก., 90-249, 250-499, 500-999 และ 1000 มก. ขึ้นไป แล้วพบว่าระดับความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดมีค่าเท่ากับ 6.4, 6.1, 6.0, 5.7 และ 5.7 mg/dL ตามลำดับ (การเสริมวิตามินซีวันละ 400-500 มก. ดูเหมือนจะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้ดี และจะไม่ลดลงอีกเมื่อให้วิตามินซีที่สูงขึ้น)


22. อาจดีต่ออารมณ์และอาการซึมเศร้า อีกบทบาทของวิตามินซีที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ วิตามินซีมีบทบาทช่วยในการผลิตและการทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิด ซึ่งรวมถึงนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่การลดลงของสารนี้เเชื่อมโยงกับการเกิดโรคซึมเศร้า แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินซีไม่ได้ช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็มีบางงานวิจัยที่พบว่าการเสริมวิตามินซีอาจช่วยให้อารมณ์หรือสุขภาพจิตดีขึ้นรวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินซี โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

  • การศึกษาแบบสังเกตในประเทศจีนในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 25,895 คน (อายุเฉลี่ย 49 ปี) ที่ประมาณ 2,300 คน (ประมาณ 9%) มีภาวะซึมเศร้า พบว่าการบริโภควิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้น (มากกว่า 92.95 มก. หรือสูงกว่าปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (RDA) เล็กน้อย สำหรับผู้ชาย (90 มก.) และผู้หญิง (75 มก.)) ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจะลดลง 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่บริโภควิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 430 มก.) แต่การให้ในขนาดที่สูงถึงวันละ 126 มก. ไม่พบประโยชน์เพิ่มเติม

  • การศึกษาในผู้ใหญ่ในนิวซีแลนด์จำนวน 128 คน ซึ่งร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 250 มก. เมื่อเทียบกับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่ได้ช่วยปรับปรุงเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความโกรธ หรือความวิตกกังวล แต่พบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อย เช่น ความเหนื่อยล้าลดลง รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอีกการศึกษาในปี 2020 ที่ให้วิตามินซีในผู้ใหญ่วันละ 250 มก. แล้วพบว่ามี Vitality ดีขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน

  • การศึกษาในผู้ที่ขาดวิตามินซีจำนวน 46 คน พบว่าการให้วิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยาหลอกแล้วพบว่าไม่ได้ช่วยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล และความเหนื่อยล้า แต่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มสมาธิ และมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพในงานที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและต้องการสมาธิได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า การขาดวิตามินซีเกี่ยวข้องกับ Vitality ในระดับที่ต่ำ


23. ใช้เสริมในผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะในผู้ที่สูบบุหรี่ร่างกายจะมีการใช้วิตามินซีมากกว่าคนปกติ อีกทั้งในเด็กที่ผู้ปกครองสูบบุหรี่ด้วยก็พบว่าอาจมีปริมาณวิตามินซีในร่างกายที่ลดลงได้ถึง 50% ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่ควรเสริมวิตามินซีจากอาหารปกติให้มากขึ้น 


24. เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก วิตามินซีช่วยเพิ่มดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการผมร่วงที่มีสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็ก รวมถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก 


25. รักษาประสิทธิภาพยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) จากข้อมูลพบว่าวิตามินซีอาจช่วยรักษาประสิทธิภาพของยาในกลุ่มไนเตรท เช่น ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ที่ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกและโรคหลอดเลือดหัวใจ 


26. ลดพิษจากสารเสพติดแอมเฟตามีน (Amphetamine) โดยพบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. จะช่วยลด pH และเพิ่มความเป็นกรดให้แก่ปัสสาวะ จึงมีผลเพิ่มการขับออกแอมเฟตามีนในปัสสาวะได้ (แอมเฟตามีนมีคุณสมบัติเป็นเบสอ่อน) ในทางปฏิบัติจึงมีการนำวิตามินซีมาใช้ในผู้ป่วยที่เกิดพิษจากแอมเฟตามีน เช่น เกิดอาการโรคจิต


27. ลดการดูดซึมนิกเกิล (Nickel) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าวิตามินซีสามารถช่วยลดการดูดซึมนิกเกิลซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายได้



คำแนะนำในการรับประทานวิตามินซี

1. เลือกทานวิตามินซีจากอาหารหรือวิตามินซีแบบสังเคราะห์ ? ทั้งคู่ต่างให้กรดแอสคอร์บิกเหมือนกัน แต่วิตามินซีจากอาหารธรรมชาติจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายที่มากกว่า (นอกเหนือจากวิตามินซี) และไม่มีผลเสียหรือผลข้างเคียงเหมือนวิตามินซีแบบสังเคราะห์ แต่ถ้าไม่สะดวก การทานแบบสังเคราะห์ยังเป็นทางเลือกที่ดีและอาจสลับไปทานจากอาหารธรรมชาติบ้างก็ได้ ส่วนผลิตภัณฑ์วิตามินซีจากธรรมชาติ เช่น โรสฮิป อะเซโรลา คามูคามู ฯลฯ นั้นไม่ได้ดีไปกว่าวิตามินซีแบบสังเคราะห์ธรรมดา ถ้าคุณแค่ต้องการวิตามินซี 


2. ต้องทานวิตามินซีเสริมหรือไม่ ? ถ้าเราทานผักผลไม้ได้วันละ 5 หน่วยบริโภคก็ไม่จำเป็นต้องทานวิตามินซีเสริม (หนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับผักหรือผลไม้ ½ -1 ถ้วย ซึ่ง 5 หน่วยบริโภคจะได้มีวิตามินซีประมาณ 200-250 มก. ซึ่งมีเด็กและผู้ใหญ่ในอเมริกาเพียง 15% ของประชากรทั้งหมดที่รับประทานอาหารได้ในขนาดนี้) แต่คนส่วนใหญ่มักได้รับวิตามินซีจากอาหารที่บริโภคต่อวันไม่เพียงพอ จึงอาจทานวิตามินซีเสริมได้ถ้าต้องการ 


3. ขนาดวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน โดยปกติจะแตกต่างกันไปตามอายุ สภาวะหรืออาการ รวมถึงความต้องการหรือข้อบ่งใช้เฉพาะของแต่ละบุคคล โดยมีขนาดที่แนะนำดังนี้ 

60 มก. เป็นขนาดขั้นต่ำที่ต้องได้รับต่อวันในผู้ใหญ่ 

  • 75-120 มก. เป็นขนาดที่ควรได้รับต่อวัน (RDA) สำหรับผู้ใหญ่เพศชาย คือ 90 มก./วัน, ผู้ใหญ่เพศหญิง 75 มก./วัน, ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี 80 มก./วัน, ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 18 ปี 85 มก./วัน, ผู้หญิงให้นมบุตร 120 มก./วัน และในผู้ที่สูบบุหรี่แนะนำให้เพิ่มปริมาณวิตามินซีอีก 35 มก./วัน (ส่วนในเด็กคือ 15 มก./วัน ในเด็กอายุ 1-3 ปี, 25 มก./วัน ในเด็กอายุ 4-8 ปี, 45 มก./วัน ในเด็กอายุ 9-13 ปี, 75 มก./วัน ในผู้ชายอายุ 14-18 ปี และขนาด 65 มก./วัน ในผู้หญิงอายุ 14-18 ปี) 

  • 100-250 มก. เป็นขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ เพียงพอต่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะถ้าได้จากอาหารปกติในปริมาณ 5 หน่วยบริโภค เพราะให้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่เกิดผลเสียหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ใด 

  • 500 มก. เป็นขนาดที่แนะนำมากที่สุดในรูปอาหารเสริม เพราะคุ้มค่าที่สุดและร่างกายยังดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้ดี เป็นขนาดที่ใช้ในงานวิจัยส่วนใหญ่ ถ้าทานเป็นประจำก็สามารถทำให้ระดับวิตามินซีถึงจุดอิ่มตัวได้ และยังถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างปลอดภัยอยู่ (ถ้าทานวันละ 1 เม็ด) แม้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกก็ตาม 

  • 1,000 มก. คือขนาดสูงสุดต่อวันที่ยังยอมรับได้ แต่จะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต (แนะนำให้ทานขนาด 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง แทนการเลือกทานแบบ 1,000 มก. เพียงครั้งเดียว เพราะร่างกายจะได้ประโยชน์มากกว่า) 

  • 1,500-2,000 มก. ขึ้นไป คือขนาดที่ใช้สำหรับโรคเกาต์ ลดอาการภูมิแพ้ และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด (ส่วนการใช้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ นั้นไม่แนะนำ เพราะประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงต่าง ๆ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น) โดยถ้าต้องทานมากกว่าวันละ 2,000 มก. แนะนำให้เลือกทานวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น 


4. วิตามินซีทานสูงสุดได้วันละเท่าไหร่ ? สำหรับขนาดสูงสุดต่อวันที่ยอมรับได้และน่าจะปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป คือ 

  • ในผู้ใหญ่ คือ 2,000 มก./วัน

  • ในวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี คือ 1,800 มก./วัน 

  • ในเด็กอายุ 9-13 ปี คือ 1,200 มก./วัน 

  • ในเด็กอายุ 4-8 ปี คือ 650 มก./วัน 

  • ในเด็กอายุ 1-3 ปี คือ 400 มก./วัน 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับการบริโภควิตามินซีทั้งหมดจากอาหารปกติด้วย และบุคคลทั่วไปไม่ควรรับประทานเกินขนาดที่แนะนำเหล่านี้ เว้นแต่จะอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ 


5. วิตามินซีทานเวลาไหนดี ? การทานวิตามินซี “หลังอาหารเช้า” ร่างกายจะได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

  • ในระหว่างวันร่างกายของเราจะมีการทำกิจกรรมหรือทำงานอยู่ตลอดเวลาที่จะมีการสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้นเป็นปกติ การทานวิตามินซีในตอนเช้าจึงเกิดประโยชน์มากกว่าเวลาอื่น ๆ เพราะวิตามินซีมีจะออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการต้านอนุมูลอิสระร่วมกับวิตามินอี, โคเอนไซม์คิว10, กรดแอลฟาไลโปอิก, กลูต้าไธโอน ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 

  • ในระหว่างวันเราจะดื่มน้ำเรื่อย ๆ ทำให้ร่างกายขับออกทางปัสสาวะภายใน 4-6 ไม่ชั่วโมง และไม่มีการตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งต่างจากการทานในช่วงก่อนนอนที่เรามักไม่ได้ลุกไปปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นเล็กน้อยที่จะก่อให้เกิดการตกผลึกเป็นนิ่วได้ 

  • ไม่แนะนำให้ทานก่อนอาหารหรือทานในขณะที่ท้องว่าง (ควรทานหลังอาหารหรืออย่างมากก็พร้อมอาหาร) เพราะโดยธรรมชาติแล้ววิตามินซีจะมีความเป็นกรดอ่อน ๆ การทานหลังอาหารจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการข้างเคียงหรือทำให้เกิดอาการแสบท้องได้ แต่ถ้าคุณทานวิตามินซีในขนาดที่ไม่สูงมากและเป็นวิตามินซีในรูปเกลือที่ช่วยลดความเป็นกรดจะทานตอนไหนก็ได้ (แต่หลังอาหารก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด) 


6. ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังทานวิตามินซีควรดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว โดยเฉพาะวิตามินซีในรูป “Ascorbic acid” เพียว ๆ แบบไม่มีอะไรผสม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเพิ่มการขับวิตามินซีที่เกินความต้องการออกจากร่างกายและลดการเกิดนิ่ว 


7. วิตามินซีแบ่งใส่กระปุกทานได้หรือไม่ ? ในคนที่ทานวิตามินซีมากกว่า 1 มื้อ หรือทานอาหารเสริม/ยาอื่น ๆ หลายชนิด มักจะมีการแบ่งวิตามินหรือยาเหล่านั้นใส่ตลับหรือกระปุกใส ๆ หรือใส่ซองรวมกัน แต่สำหรับวิตามินซีจะไม่แนะนำครับ เพราะอาจจะทำให้วิตามินซีเสื่อมคุณภาพจากอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวันได้ 


8. การเก็บวิตามินซี หลังเปิดทานวิตามินซีแล้วควรปิดให้สนิททุกครั้ง เก็บให้ห่างจากแสงต่าง ๆ หรือเก็บในตู้ยา เพราะแสงและอากาศเป็นตัวการทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยเปลี่ยนวิตามินซีที่ลดลงบางส่วนไปเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก จึงอาจทำให้วิตามินซีออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม 


9. ทานวิตามินซีต่อเนื่องได้หรือไม่ ? อาจขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทาน โดยการเสริมวิตามินซีในขนาด 250 มก. หรือน้อยกว่า ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายใดต่อ ๆ ร่างกาย แต่ในขนาดที่สูงขึ้นกว่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้ ส่วนในขนาดวันละ 1,000 มก. หรือมากกว่า พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไต (เฉพาะในผู้ชาย), โรคไตจากผลึกออกซาเลต, ขัดขวางการฝึกความอดทนและการเพิ่มของมวลกล้ามเนื้อและกระดูกจากการออกกำลังกาย, อาจทำให้ DNA เสียหาย, อาจลดประสิทธิภาพยาต้านไวรัส HIV ฯลฯ อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาก็พบว่าการทานในขนาดวันละ 1,000 มก. ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด ตรงนี้ก็แล้วแต่จะพิจารณากันครับ


10. จุดอิ่มตัวและการดูดซึมของวิตามินซี วิตามินซีที่เรารับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมที่ทางเดินอาหารบริเวณกระพุ้งแก้มและบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลางที่มีการดูดซึมวิตามินซีได้มากที่สุด โดยการดูดซึมวิตามินซีจะขึ้นอยู่กับขนาดที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมนี้ก็จะมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึมด้วย กล่าวคือถ้าเสริมวิตามินซีในขนาดที่มากเกินจุดอิ่มตัวนี้ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้เพิ่มขึ้น และยิ่งทานครั้งละมากขึ้นเท่าไหร่ ร่างกายก็จะยิ่งดูดซึมได้น้อยลงเท่านั้น ดังนี้

เมื่อทานครั้งละ 15 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซีเอาไปใช้ได้ 89% 

  • 100 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 80% 

  • 200 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 72% 500 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 63% 

  • 1,000 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี ~50% 

  • 1,250 มก. ร่างกายดูดซึมวิตามินซี 46% 


อย่างไรก็ตาม ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังขึ้นอยู่กับรูปแบบและสูตรของผลิตภัณฑ์วิตามินซีด้วย ซึ่งบางรูปบางสูตรอาจมีการดูดซึมได้ดีกว่า (แต่ส่วนใหญ่จะไม่ต่างกัน หรือต่างกันแต่ก็ไม่มาก)



อ้างอิง:  เว็บไซต์เมดไทย (Medthai) เมดไทย 



ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง