Select your language TH EN
อื่นๆ ความรู้ทั่วไป  thai-herbs.thdata.co thdata.co

อ่านบทความอัตโนมัติ



กัญชา

กัญชา เป็นพืชในวงศ์ Cannabidaceae มี 3 สายพันธุ์ที่พบบ่อยคือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis rudealis สำหรับสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์ Cannabis sativa ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: 

ต้นกัญชา: เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง 0.9-1.5 ซม. มีขนสีเขียวอมเทาและไม่ค่อยแตกสาขา 

ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ เรียงสลับ ขอบใบเว้าลึกจนถึงจุดโคนใบเป็น 5-7 แฉก แต่ละแฉกรูปยาวรี กว้าง 0.3-1.5 ซม. ยาว 6-10 ซม. โคนและปลายสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง 

ดอก เป็นดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายยอด ช่อดอกและใบของต้นเพศผู้จัดเรียงตัวกันห่างๆ ต่างจากต้นเพศเมียที่เรียงชิดกัน ดอกเล็ก ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงหุ้ม 

ผล ผลแห้งเมล็ดล่อน เล็ก เรียบ สีน้ำตาล


ประวัติศาสตร์: ลักษณะการใช้กัญชาในอดีตมี 2 ลักษณะตามชื่อเรียกคือ การใช้ผงแห้งของใบและดอกมามวนเป็นบุหรี่สูบ ซึ่งชาวเม็กซิกันเรียกว่ามาริฮวานา (Marijuana) และการใช้ยางจากต้นมาเผาไฟและสูดดมตามภาษาอาหรับ ที่เรียกว่าแฮฌอีฌ (Hashish) จากประวัติศาสตร์พบว่าการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคนั้นเริ่มขึ้นในประเทศจีนเมื่อ 2600 ปีก่อนคริสตกาล (BC) จักรพรรดิ์เสินหนิงของจีน (Shun Nung: 2737 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบวิธีการชงชาและการดื่มชา เป็นผู้อธิบายสรรพคุณทางยาของพืชกัญชาในตำรายาสมุนไพรจีนเป็นครั้งแรก และริเริ่มให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคนับจากนั้นเป็นต้นมา

การปลูกกัญชาได้ขยายไปในประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย และประเทศอินเดีย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) นายแพทย์ชาวอังกฤษ (William O Shaughnessy) ซึ่งขณะนั้นกำลังปฏิบัติงานอยู่ในประเทศอินเดียได้ทำการทดลอง และค้นพบว่ากัญชานั้นมีสรรพคุณทางการแพทย์ สามารถใช้ระงับอาการปวด เพิ่มความอยากอาหาร ลดการอาเจียน คลายกล้ามเนื้อ และลดอาการชักได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ ในวารสารทางยาในสมัยนั้นและได้มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศอังกฤษและในกลุ่มประเทศตะวันตก ตลอดจนมีการซื้อขายกัญชาในร้านยาทั่วไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีการบรรจุสรรพคุณทางยาของสารสกัดจากกัญชา และยาทิงเจอร์ใน British Pharmacopoeia และ United States Pharmacopoeia มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่า แพทย์มีการสั่งจ่ายกัญชาเพื่อใช้ลดอาการปวดประจำเดือนแก่พระราชินีวิคตอเรีย ของประเทศอังกฤษ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) ในประเทศอเมริกา ได้มีการรายงานว่าการใช้กัญชามีผลทำให้ผู้ใช้ขาดสติ เกิดอาการประสาทหลอน และก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้นได้จึงมีการถอนกัญชาออกจาก United States Pharmacopoeia และยกเลิกการใช้กัญชาในการรักษาโรค มีการห้ามใช้กัญชาในการรักษาโรคในอังกฤษและยุโรปในตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) เป็นต้นมา

กัญชาเข้าสู่ประเทศไทยจากประเทศอินเดีย โดยอ้างหลักฐานจากความคล้ายของชื่อไทยกับคำว่า “ganja” ในภาษาฮินดู เดิมกัญชาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนประกอบอาหาร เครื่องเทศ ยาและเป็นแหล่งของเส้นใย


การเสพกัญชา: ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบ ๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียว ต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ซี่งได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลาย ๆ ครั้ง จึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้ยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4-8

ในระยะแรกของการใช้กัญชาเป็นยาเสพติด ผู้เสพจะมีอาการร่าเริง พูดมากและหัวเราะมาก หัวใจเต้นเร็ว และตื่นเต้นง่าย และต่อมาผู้เสพจะมีลักษณะคล้ายมึนเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีฤทธิ์กดประสาท อาการของผู้เสพ เช่น หายใจถี่ เห็นภาพลวงตาหรือภาพหลอน หู่แว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง และนอกจากนี้ ผู้เสพบางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ความจำเสื่อมความคิดสับสนเพ้อคลั่ง หรือบางรายอาจไม่สามารถควบคุมตนเองได้มีอาการทางจิต




ข้อมูลในระบบนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ ประกอบการเรียนการสอน | copyright © thai-herbs.thdata.co

สร้างบทความของคุณ โดยวิธีการง่ายๆ



แชร์ข้อมูล




ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง